กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 33.50-34.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ พร้อมแนะติดตามเงินเฟ้อสหรัฐฯ และรายงานประชุมเฟด
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 64 กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เงินบาทสัปดาห์นี้ (11-15 ต.ค. 64) มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.50-34.10 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 33.88 บาทต่อดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 33.66-33.99 บาทต่อดอลลาร์
โดยเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินยูโรและเยน ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนต่ำ แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย และดอลลาร์แคนาดา ซึ่งเป็นสกุลเงินที่เชื่อมโยงสูงกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะที่ราคาน้ำมันดิบแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี สร้างความวิตกว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นเป็นเวลานาน และอาจกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เร่งขึ้นดอกเบี้ย โดยตลาดหุ้นปรับตัวผันผวน ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น ทางด้านวุฒิสภาสหรัฐฯ ประกาศเพิ่มอำนาจในการกู้เงินของกระทรวงการคลังจนถึงเดือนธันวาคม ซึ่งทำให้ตลาดคลายกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ได้ชั่วคราว
ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 194,000 ตำแหน่ง เทียบกับ 500,000 ตำแหน่งที่ตลาดคาดไว้ ขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมงขยายตัวเกินคาดในอัตรา 0.6% เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้า และการว่างงานลดลงสู่ 4.8% ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดโรคระบาด ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 1,917 ล้านบาท แต่ขายพันธบัตร 1,452 ล้านบาท
ทั้งนี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจกับข้อมูลเงินเฟ้อและยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ รายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 21-22 ก.ย. 64 รวมถึงความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดหลายราย โดยแม้ตำแหน่งการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือน ก.ย. แต่อัตราค่าจ้างและการว่างงานที่สดใสเกินคาด สนับสนุนการคาดการณ์ที่ว่าเฟดใกล้จะถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนที่วางไว้ ในภาวะเช่นนี้กรุงศรีคาดว่าค่าเงินดอลลาร์จะได้รับแรงหนุนเมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่
อย่างไรก็ดี ในระยะหลายสัปดาห์ข้างหน้าตลาดอาจเคลื่อนไหวผันผวนสูงขึ้น โดยนักลงทุนจะติดตามการตัดสินใจของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ว่าจะต่ออายุตำแหน่งประธานเฟดสำหรับนายเจอโรม พาวเวลล์อีกหนึ่งสมัยหรือไม่ โดยหากมีการเปลี่ยนประธานเฟด จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐฯ และเงินดอลลาร์อาจย่อตัวลง
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนกันยายนเพิ่มขึ้น 1.68% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมอาหารสดและพลังงานเพิ่มขึ้น 0.19% อนึ่ง กรุงศรีเห็นด้วยกับการประเมินของทางการที่ว่าเงินเฟ้อไตรมาสปัจจุบันจะสูงขึ้นจากต้นทุนการผลิตและขนส่ง กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค และเงินบาทที่อ่อนค่า โดยกระทรวงพาณิชย์ปรับประมาณการเงินเฟ้อเฉลี่ยปีนี้อยู่ในช่วง 0.8-1.2