แนวคิดตกยุคบริหารน้ำมันบกพร่อง ปล่อยราคาตามยถากรรมช่วงคนไทยเดือดร้อน

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

แนวคิดตกยุคบริหารน้ำมันบกพร่อง ปล่อยราคาตามยถากรรมช่วงคนไทยเดือดร้อน

Date Time: 11 ต.ค. 2564 05:01 น.

Summary

  • เป็นอีกคำรบหนึ่งที่คนไทยทั้งประเทศต้องเผชิญกับ “วิกฤติราคาขายปลีกน้ำมัน” ที่กลายมาเป็นบ่วงรัดคอรัฐบาล กระทบชิ่งมาถึง รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ และ รมว.พลังงาน

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

เป็นอีกคำรบหนึ่งที่คนไทยทั้งประเทศต้องเผชิญกับ “วิกฤติราคาขายปลีกน้ำมัน” ที่กลายมาเป็นบ่วงรัดคอรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กระทบชิ่งมาถึง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ และ รมว.พลังงาน ในฐานะผู้กำกับดูแลเรื่องพลังงานโดยตรง

โดยระหว่างวันที่ 26 พ.ค.-30 ก.ย.ที่ผ่านมา ราคาขายปลีกน้ำมันทั้งในกลุ่มดีเซลและแก๊สโซฮอล์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.20 บาทต่อลิตร โดยปรับขึ้นรวม 14 ครั้ง ปรับลดลง 6 ครั้ง

ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลพื้นฐาน หรือบี 10 ปรับขึ้นไปที่ระดับ 25.09 บาทต่อลิตร สูงเกินลิตรละ 25 บาทเป็นครั้งแรกในปีนี้ ขณะที่แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 31.15 บาทต่อลิตร ปรับขึ้นจากเดิมก่อนหน้านี้ที่ระดับ 27.95 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 30.88 บาทต่อลิตร ปรับขึ้นจากเดิมอยู่ที่ระดับ 27.68 บาทต่อลิตร

ราคาขายปลีกที่พุ่งพรวด ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถยนต์ แต่กระทบไปถึงชาวบ้านร้านตลาด ค่าโดยสาร ค่าขนส่งต่างๆ จนไปถึงราคาสินค้า ซ้ำเติมเพิ่มความยากลำบากในชีวิตประชาชน ที่กำลังเผชิญกับทั้งภาวะโรคระบาดและสถานการณ์น้ำท่วม

เพราะน้ำมันดีเซลเป็นพลังงานขับเคลื่อนภาคขนส่ง และเป็นหัวใจสำคัญของการผลักดันเศรษฐกิจประเทศ

การปล่อยให้ราคาขายปลีกปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางความเดือดร้อน อย่างแสนสาหัสของประชาชน จึงกลายเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีแผนบริหารจัดการที่ดีเพียงพอ เพราะการปล่อยราคาน้ำมันให้เป็นไปตามกลไกตลาด ที่วัฏจักรราคามีขึ้นมีลง กลายเป็นแนวคิดที่ตกยุค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่คนไทยกำลังต้องเผชิญหน้ากับความลำบากที่ถาโถมเข้ามาจากหลายทิศทาง...

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน

ชักฟืนออกจากกองไฟ

หลังปล่อยให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเคลื่อนไหวตามยถากรรมมากว่าเดือนเศษ ในที่สุดเมื่อวันที่ 4 ต.ค.2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ก็ได้เรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) และมีมติให้ดูแลราคาน้ำมันที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งน้ำมันพื้นฐานดีเซล บี 10 และน้ำมันดีเซลบี 7 ที่มีรถยนต์ที่ใช้รวม 10 ล้านคัน โดยเข็นมาตรการออกมา 3 ส่วน

ประกอบด้วย 1.ลดค่าการตลาดน้ำมันดีเซลบี 10 และบี 7 จากเฉลี่ย 1.80 บาทต่อลิตร เหลือ 1.40 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 5-31 ต.ค. 2564, 2.ลดการจัดเก็บเงินจากน้ำมันดีเซลบี 7 เข้ากองทุนน้ำมันจาก 1.00 บาทต่อลิตร เหลือ 0.01 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.-31 ต.ค. เพื่อให้ราคาน้ำมันดีเซล บี 7 ลดเหลือต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันปรับขึ้นไปอยู่ที่ 31.29 บาทต่อลิตร และ 3.ลดการผสมไบโอดีเซล จากบี 10 และบี 7 เหลือบี 6 มีผลตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.-31 ต.ค.

ผลจากมาตรการดังกล่าว ทำให้ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.เป็นต้นไป

ประเทศไทยจะเหลือน้ำมันดีเซลชนิดเดียว คือ บี 6 ที่ราคาอยู่ที่ 28.29 บาทไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค. โดยปั๊มจะจ่ายผ่านหัวจ่ายน้ำมันบี 7 และบี 10 ตามเดิม และสามารถใช้ได้กับรถยนต์ดีเซลทุกรุ่นทุกยี่ห้อ โดยกองทุนน้ำมัน จะใช้เงินอุดหนุนส่วนนี้เดือนละ 3,000 ล้านบาท เพื่อให้สามารถรับมือได้ ครอบคลุมไปจนถึงราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ 85 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

หงายไพ่กู้เงินมาอุดหนุนราคา

การแก้ปัญหาของกระทรวงพลังงานในครั้งนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนที่เป็นเซอร์ไพรส์ โดยหากราคาตลาดโลกใน 1–2 เดือนข้างหน้านี้ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งมีแนวโน้มเป็นเช่นนั้น เนื่องจากเข้าสู่ฤดูหนาวความต้องการน้ำมันในสหภาพยุโรป (อียู) เพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันมาอุดหนุนราคาเพื่อดูแลประชาชนกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เงินกองทุนน้ำมันเหลืออยู่ราว 10,000 ล้านบาท ล่าสุดกระทรวงพลังงานกำลังหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในการพิจารณาขอนำเงินกู้ 2,000 ล้านบาทจากพระราชกำหนด กู้เงินโควิด วงเงิน 500,000 ล้านบาท มาช่วยตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือนเท่านั้น

ในอัตรา 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ซึ่งปกติการตรึงราคาให้อยู่ในระดับนี้ ใช้เงินเดือนละ 1,400 ล้านบาท อีกทั้งรัฐบาลได้ประกาศให้ตรึงราคาไปจนถึงเดือน ม.ค.2565 ทำให้เห็นว่าวงเงิน 2,000 ล้านบาทอาจจะไม่เพียงพอ

ขณะเดียวกัน ตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันฉบับใหม่ กำหนดไว้ว่าสามารถเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเข้าไปสะสมไว้ได้ รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 40,000 ล้านบาท และสามารถขอกู้เงิน จากสถาบันการเงิน เพื่อมาใช้จ่ายหากมีความ จำเป็นได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท จึงมีการเตรียมเพื่อจะกู้เงินในจำนวนดังกล่าวด้วย

เมื่อรวมกับหน้าตักของกองทุนน้ำมันที่มีอยู่ จะมีวงเงินที่สามารถนำไปใช้ได้ 30,000 ล้านบาทเท่านั้น

ส่วนการที่เงินกองทุนน้ำมันล่าสุดเหลืออยู่ 10,000 ล้านบาท เพราะที่ผ่านมา แทบไม่มีเงินจากที่เคยเก็บจากผู้ใช้น้ำมันไหลเข้ามาสะสมมากนัก อีกทั้งต้องถูกนำไปชดเชยราคาแอลพีจี, อุดหนุนราคาพลังงานบางชนิด

ความท้าทายต่อราคาน้ำมันนับจากนี้ไปหลังโควิด-19 คลี่คลาย เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว หลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย เกิดการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะกดดันให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงขึ้นในช่วง 1–2 ปีนับจากนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตาดูว่าผู้บริหารกระทรวงพลังงานจะมีขีดความสามารถมากน้อยเพียงใดในการบริหารจัดการราคาน้ำมันนับจากนี้ไปนอกเหนือจากการกู้เงินมาโปะ

ย้อนรอยใช้ 9.2 หมื่นล้านตรึงราคา

ย้อนหลังกลับไปดูมาตรการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันในอดีต การใช้เงินกองทุนน้ำมันเข้ามาอุดหนุนไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับประเทศไทย ในช่วงปี 2547-2548 รัฐบาลในขณะนั้นได้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันชดเชยให้กับผู้ค้าน้ำมัน เพื่อรักษาเพดานราคาที่รัฐบาลกำหนด จนกระทั่งเมื่อราคาน้ำมันกลับสู่ภาวะปกติและต่ำกว่าเพดานราคาที่กำหนด รัฐก็จะเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้คืนเข้าสู่กองทุนน้ำมัน

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2547 รัฐบาลขณะนั้นได้กำหนดเพดานราคาน้ำมันเบนซิน 95 ที่ 16.99 บาทต่อลิตร เบนซิน 91 ที่ 16.19 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซลที่ 14.59 บาทต่อลิตร

ต่อมาตลอดทั้งปี 2547 ราคาน้ำมันโลกทะยานต่อเนื่องพุ่งทะลุเกิน 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศแพงขึ้นมาก นโยบายในขณะนั้นคือรัฐยอมจ่ายชดเชยราคาให้ผู้ค้า 3 บาทต่อลิตรเพื่อพยุงราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขนส่งในประเทศ ไม่ให้เกินเพดานราคาที่กำหนด ซึ่งต้องใช้เงินรวม 4,800 ล้านบาทต่อเดือน

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2548 รัฐบาลริเริ่มนำวิธีบริหารจัดการแบบ Managed Float มาใช้ โดยให้ราคาน้ำมันดีเซลยังคงอยู่ในระดับเดิม ไม่สูงขึ้นตามราคาตลาดโลกในทันที โดยใช้วิธีกู้เงินมาจ่ายเงินชดเชยราคา ขณะนั้นชดเชยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.86 บาทต่อลิตร

ขณะเดียวกันรัฐบาลได้ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 1.10 บาทต่อลิตร ลดภาษีเทศบาล 10 สตางค์ต่อลิตร ส่งผลให้รายได้การจัดเก็บภาษีลดลงไปประมาณ 14,000 ล้านบาท

สิริรวมการตรึงราคาน้ำมันในครั้งนั้นใช้เงินกู้จากสถาบันการเงินรวม 92,070 ล้านบาท โดยกองทุนน้ำมันทยอยใช้คืนเงินกู้ดังกล่าวครบถ้วนในอีก 2-3 ปีถัดมา

แนวโน้มราคาน้ำมันโลกไปต่อ

แม้มาตรการล่าสุดจะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลบี 6 อยู่ที่ 28.29 บาทต่อลิตร แต่การอุดหนุนเป็นไปในช่วงเวลาจำกัดถึงวันที่ 31 ต.ค. ส่วนหลังจากนั้นก็ได้แต่หวังว่าราคาน้ำมันตลาดโลกอาจปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มราคาน้ำมันที่สะท้อนออกจากการประชุม กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา กำหนดให้ยึดตามข้อตกลงเดิม คือจะเพิ่มกำลังการผลิตเพียงวันละ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงเดือน เม.ย.2565 ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ราคาน้ำมันโลกยังสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปถึงระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

สะท้อนให้เห็นจากราคาน้ำมันดิบเบรนต์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 81.26 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เป็นระดับราคาสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค.2561

โดยสาเหตุที่แนวโน้มราคาตลาดโลกเริ่มฟื้นตัว มาจากการฉีดวัคซีนในหลายประเทศบรรลุเป้าหมาย ทำให้เกิดการเดินทางทั้งรถยนต์ เครื่องบินโดยสารคนเริ่มเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนสหภาพยุโรป (อียู) เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวที่ยาวนานและรุนแรง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น

ขณะที่การจัดหาน้ำมันในตลาดโลกฟื้นตัวตามไม่ทัน เพราะหลายๆแท่นขุดเจาะหยุดการผลิตไปเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา และยังมีปัญหาพายุเฮอริเคนที่พัดถล่มแหล่งขุดเจาะในอ่าวเม็กซิโก รวมทั้งการลงทุนในเรื่องนี้ที่ลดน้อยลงจากผลพวงของโควิด-19 เข้าทำนองผลิตไม่ทันความต้องการซื้อ

เมื่อประกอบกับท่วงทีของโอเปกที่เล่นเกมตรึงกำลังการผลิต ไม่เพิ่มให้เท่าทันกับความต้องการในตลาด หวังปั่นราคาเพื่อสร้างรายได้

ประเทศไทยซึ่งมีความต้องการใช้น้ำมันวันละ 1 ล้านบาร์เรล และต้องนำเข้าเกือบ 90% ย่อมจะหนีไม่พ้นการต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติราคาน้ำมันทุกครั้งที่ราคาตลาดโลกสวิง

ถึงเวลาปฏิรูปกองทุนน้ำมัน

และแม้เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ราคาน้ำมันในภาวะผันผวน แต่รัฐบาลย่อมปฏิเสธความรับผิดชอบต่อมาตรการป้องกันและเยียวยาประชาชนไปไม่ได้ โดยเฉพาะการที่ รมว.พลังงาน ปล่อยให้ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นถึง 6 ครั้งตลอดเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นความชะล่าใจ หวังแต่ว่าราคาตลาดโลกจะลดลง

ที่สำคัญปัญหาของกองทุนน้ำมันยังมีอีก 1 ปมที่ซ่อนอยู่ นั่นก็คือนโยบายเรื่องการใช้พลังงานทดแทน (เอทานอล, ไบโอดีเซล) มาผสมเข้าไปในเนื้อน้ำมันเบนซินและดีเซล ที่เหมือนกับการหนีเสือปะจระเข้ เพราะราคาไบโอดีเซลบี 100 จากโรงกลั่นไบโอดีเซล ที่เอามาผสมในเนื้อน้ำมันดีเซล ขณะนี้มีราคาสูงถึงลิตรละ 40-42 บาท เป็นภาระกองทุนน้ำมันที่ต้องชดเชยส่วนต่างราคา เพื่อไม่ให้ราคาขายสูงเกินไป

หากรัฐบาลสามารถทำให้ราคาไบโอดีเซลบี 100 เหลือประมาณ 25-30 บาทต่อลิตร จะทำให้ราคาขายปลีกบี 6 บี 7 บี 10 ลดลง เช่น หากผสมเป็นบี 10 จะสามารถลดราคาขายปลีกลงได้ 1 บาทต่อลิตร ผสมเป็นบี 7 จะลดลง 70 สตางค์ต่อลิตร ผสมเป็นบี 6 ลดลงได้ 60 สตางค์ต่อลิตร

นอกจากนั้น กฎหมายของกองทุนน้ำมันที่จำกัดการกู้เงินมาใช้เพื่อมาตรการใดๆก็ตาม สามารถขอกู้ได้เพียง 20,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน การเก็บเงินเข้ากองทุนก็ยังมีข้อจำกัดมากมาย ทำได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยนั้น อาจทำให้ที่สุดแล้วกองทุนน้ำมันไม่มีสภาพคล่องเพียงพอในการบริหารจัดการราคาน้ำมันในภาวะขาขึ้น

โดยเฉพาะ หากราคาน้ำมันโลกก้าวกระโดดไปเกิน 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล!!!!!!

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ