ยอดขายมอเตอร์ไซค์ปี 64 ขยายตัวสูงขึ้น ได้แรงหนุนจากไรเดอร์ และเกษตรกร

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ยอดขายมอเตอร์ไซค์ปี 64 ขยายตัวสูงขึ้น ได้แรงหนุนจากไรเดอร์ และเกษตรกร

Date Time: 23 ก.ย. 2564 14:34 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • ตลาดมอเตอร์ไซค์ที่โตในปีนี้กลับเป็นผลมาจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นมากกว่าการเติบโตของปริมาณไรเดอร์

Latest


  • ยอดขายรถมอเตอร์ไซค์ในประเทศ 7 เดือนแรกของปี 64 ขยายตัวสูง ต่างกับตลาดรถยนต์
  • ข้อมูลรายจังหวัดชี้ให้เห็นว่า ตลาดมอเตอร์ไซค์ที่โตในปีนี้กลับเป็นผลมาจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นมากกว่าการเติบโตของปริมาณไรเดอร์
  • ในระยะข้างหน้า ตลาด On Demand Delivery ที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง และครอบคลุมพื้นที่ในภูมิภาคมากขึ้น จะเป็นแรงขับเคลื่อนตลาดจักรยานยนต์ควบคู่ไปกับรายได้เกษตรกร

มานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์วิจัย Krungthai Compass ธนาคารกรุงไทย วิเคราะห์ว่า ในช่วง 5 ปีก่อนเกิดโควิด-19 ตลาดมอเตอร์ไซค์มียอดขายสูงสุด 1.8 ล้านคันในปี 60 ก่อนจะชะลอต่อเนื่องจนถึงปี 63 มียอดจดทะเบียนสะสมประมาณ 21 ล้านคัน มีสัดส่วนการครอบครองมอเตอร์ไซค์ต่อประชากรอยู่ระดับสูง ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายยอมรับว่าตลาดเริ่มอิ่มตัว จึงปรับทิศทางการตลาด ให้ความสำคัญกับตลาดมอเตอร์ไซค์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า อย่างมอเตอร์ไซค์ที่มีขนาด 250 ซีซีขึ้นไป ตลาดมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ จึงเติบโตสวนทางกับตลาดมอเตอร์ไซค์หลัก

โดย 7 เดือนแรกของปี 64 ตลาดรถมอเตอร์ไซค์ทั่วประเทศ ขยายตัว 13.7% หลังจากหดตัว 11.8% ในปีก่อน ขณะที่ยอดขายรถยนต์ทั้งประเทศ 7 เดือนแรก ขยายตัวเพียง 9.7% หลังจากหดตัว 21.4% ในปีก่อน ยอดขายมอเตอร์ไซค์ขายตัวมากขึ้น ไม่ได้มีสาเหตุจากฐานต่ำในปีก่อนอย่างเดียว แต่ตลาดมอเตอร์ไซค์แข็งแกร่งว่าตลาดรถยนต์

เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลรายภาค พบว่า มีเพียงภาคอีสานเท่านั้นที่ยอดจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์เฉลี่ยรายเดือนกลับมาเท่ากับระดับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ส่วนภาคเหนือก็มีระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่ประมาณ 97% และภาคอื่นๆ ยังมียอดจดทะเบียนในระดับที่ต่ำ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล แม้จะมีจากการบริการขนส่งสินค้าแต่ไม่ได้เป็นผลบวกตามที่คาดการณ์ไว้

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภาคอีสานมียอดจดทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์เพิ่มขึ้นเทียบเท่าช่วงก่อนโควิด-19 เนื่องจากเกษตรกรมีรายได้ภาพรวมที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ตลาดมอเตอร์ไซค์ ต้องพึ่งพาตลาดต่างจังหวัดมากกว่า 70% จึงขึ้นอยู่กับรายได้เกษตรกรค่อนข้างมาก เมื่อรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดมอเตอร์ไซค์ขยายตัวตาม

ส่วนรายได้เกษตรกร คำนวณจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรและผลผลิตเกษตรในแต่ละช่วง โดยปี 64 ราคาสินค้าเกษตรหลักอย่างข้าวหดตัวลง กลับกันราคาอ้อย ยางพารา และมันสำปะหลัง ปรับตัวสูงขึ้นมาก หากดูด้านผลผลิต พบว่า ยางพาราและมันสำปะหลังมีผลผลิตที่ขยายตัวดีขึ้น แต่อ้อยมีผลผลิตลดลง ทำให้เกษตรกรที่ปลูกอ้อยอาจไม่มีรายได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ วิเคราะห์ว่าจังหวัดที่มีการปลูกพืชอย่างมันสำปะหลัง ยางพารา เป็นจำนวนมาก จะกระจุกตัวอยู่ในภาคอีสานมากที่สุด ทำให้ยอดจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์ในภาคอีสานเพิ่มสูงขึ้นมาได้จนเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยสูงกว่ายอดจดทะเบียนเฉลี่ยรายเดือนในช่วง 5 ปีก่อนโควิด

นอกจากนี้ ยังสังเกตได้ว่า รายได้เกษตรกรเป็นผลทำให้ ตลาดมอเตอร์ไซค์เติบโตในปี 64 เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ยกเว้นนครปฐม) รวมทั้ง จังหวัดที่เป็นหัวเมืองใหญ่ในแต่ละภาค ที่มี On Demand Delivery หรือการขนส่งพัสดุผ่านทางอีคอมเมิร์ช ไม่ได้มียอดจดทะเบียนฟื้นตัวเท่าช่วงโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก Euro Monitor คาดการณ์ว่า ตลาด Food Delivery ที่มีสัดส่วนสูงในตลาด On Demand Delivery ในไทยจะเติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 65-67 เติบโตเฉลี่ยที่ประมาณ 10.7% ธุรกิจ Food Delivery เติบโตได้ แม้ภาครัฐคลายล็อกดาวน์ อนุญาตให้รับประทานอาหารที่ร้านได้แล้ว

ในอนาคต ตลาด On Demand Delivery จะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการไรเดอร์มีจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย ผู้ที่มาสมัครเป็นไรเดอร์ของแพลตฟอร์มต่างๆ ต้องมีรถมอเตอร์ไซค์เป็นของตัวเอง 

โดยรายงานเรื่อง ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวนสภาพการทำงานและหลักประกันทางสังคมของของแรงงานส่งอาหารบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ไรเดอร์มีรายได้ประมาณ 18,000 บาทต่อเดือน หักต้นทุนค่าน้ำมัน ค่าสึกหรอ ค่าอินเทอร์เน็ต เฉลี่ยประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน จะเหลือเงินประมาณ 15,000 บาทต่อเดือน เงินส่วนนี้สามารถผ่อนชำระค่างวดของมอเตอร์ไซค์ที่เหมาะสม อยู่ในช่วง 2,035-4,207 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 13.6-28.1% 

นอกจากนั้น แพลตฟอร์มบางแห่ง สนับสนุนสินเชื่อพิเศษในการซื้อจักรยานยนต์ ทำให้ภาระผ่อนมอเตอร์ไซค์ลดลง แต่ตลาดมอเตอร์ไซค์ข้างต้น ก็อาจจะถูกท้าทายด้วยปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง X Ray หนี้ครัวเรือนภูมิภาค พบว่า ภาระหนี้ครัวเรือนในประเทศที่สูงจากส่วนภูมิภาคเป็นหลัก ประกอบกับสัดส่วนครัวเรือนที่มีความเปราะบางสูงก็กระจุกตัวอยู่ในภูมิภาค ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในไตรมาส 1 ปี 64 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 90.5% สูงสุดในรอบ 18 ปี อาจทำให้ตลาดหลักของมอเตอร์ไซค์ที่เป็นตลาดภูมิภาคถูกกดดันมากขึ้น


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์