ผู้สูงวัยใช้ “เน็ต” ลดลง “กูเกิล” เผยคนไทยแห่เป็น “ยูทูบเบอร์”

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ผู้สูงวัยใช้ “เน็ต” ลดลง “กูเกิล” เผยคนไทยแห่เป็น “ยูทูบเบอร์”

Date Time: 21 ก.ย. 2564 07:15 น.

Summary

  • คนไทยแห่เป็นยูทูบเบอร์ พบปีนี้จำนวนชั่วโมงของคอนเทนต์ที่ถูกอัปโหลดบนยูทูบเพิ่ม 80% โดยจำนวนรับชมคอนเทนต์ ด้านการเงินเติบโตมากที่สุด 100%

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

คนไทยแห่เป็นยูทูบเบอร์ พบปีนี้จำนวนชั่วโมงของคอนเทนต์ที่ถูกอัปโหลดบนยูทูบเพิ่ม 80% โดยจำนวนรับชมคอนเทนต์ ด้านการเงินเติบโตมากที่สุด 100% ขณะที่ ผลสำรวจโครงการ Thailand Digital Outlook ระยะที่ 3 ชี้คนไทยเข้าถึง ใช้งาน เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้น ใช้เน็ตวันละ 10 ชั่วโมง แต่พบว่า คนอายุ 55–74 ปี เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ลดลงเหลือ 48%

นายไมค์ จิตติวาณิชย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด กูเกิล ประเทศไทย (Google) เปิดเผยว่า ปีนี้คอนเทนต์ที่ถูกอัปโหลดบนยูทูบ (YouTube) ทั้งจากครีเอเตอร์ยอดนิยมและครีเอเตอร์หน้าใหม่ มีจำนวนชั่วโมงเพิ่มขึ้นมากถึง 80% แสดงให้เห็นว่ายูทูบเบอร์หน้าเก่าและหน้าใหม่ ต่างหันมาทุ่มเททำคอนเทนต์เผยแพร่บนยูทูบ สะท้อนให้เห็นจากสถิติปัจจุบัน มีช่องยูทูบที่มีผู้ติดตามแตะ 1 ล้านคน รวม 650 ช่อง ช่องที่มีผู้ติดตามระดับ 100,000 คน รวม 7,000 ช่อง สะท้อนถึงเนื้อหาที่หลากหลาย และสร้างสรรค์โดยไม่ได้มีเพียงช่องโทรทัศน์ขนาดใหญ่ต่างๆ แต่ยังรวมถึงบุคคลในวงการโทรทัศน์ โปรดักชันเฮาส์ ค่ายเพลง ศิลปิน ครีเอเตอร์ทั่วประเทศ

“ในปีนี้ คอนเทนต์ที่คนไทยใช้เวลารับชมเพิ่มขึ้น เติบโตสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ได้แก่ วิดีโอประเภทการเงินเพิ่มขึ้นกว่า 100% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เปรียบเทียบเดือน เม.ย.2563-เม.ย.2564) รองลงมาได้แก่ วิดีโคาราโอเกะ เวลาในการรับชมเพิ่มขึ้น 70% คอนเทนต์ด้านเกษตรกรรมและออกกำลังกายมีเวลารับชมเพิ่มขึ้น 50% เท่ากัน และคอนเทนต์สารคดีเพิ่มขึ้น 45%”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เปิดเผยผลสำรวจ Thailand Digital Outlook ระยะที่ 3 เพื่อประเมินสถานภาพการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศ ผ่านการริเริ่มในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก ในคณะนโยบายขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เมื่อปี 2561 โดยศึกษากลุ่มตัวอย่างจาก 77 จังหวัด แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภาคประชาชน (39,145 ตัวอย่าง) ภาคธุรกิจเอกชน (3,381 ตัวอย่าง) และหน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการปฐมภูมิแก่ประชาชน (935 ตัวอย่าง) เมื่อเดือน มิ.ย.-ก.ค. ซึ่งเป็นช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดเข้มข้น

นายทวิชา ตระกูลยิ่งยง ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า ภาพรวมคนไทยมีการเข้าถึง ใช้งาน และเชื่อมั่นในเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ 85.1% ใช้งานอินเตอร์เน็ตอยู่ที่ 6-10 ชั่วโมงต่อวัน โดยใช้ทำงาน เรียนและสนทนาออนไลน์ ต่างจากผลสำรวจปี 2563 ที่ใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อใช้สนทนา เสพความบันเทิง ฯลฯ และครัวเรือนที่ยากจนก็เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ถึง 83% สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ OECD ที่ 77%

สำหรับความเชื่อมั่นในธุรกรรมออนไลน์ พบว่าคนไทยมีความเชื่อมั่นสูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มประเทศ OECD โดยมีคนไทยเพียง 5.4% ที่กังวลเรื่องการชำระเงินออนไลน์ ขณะที่ค่าเฉลี่ยกลุ่ม OECD อยู่ที่ 28% ขณะที่คนไทย 61% ใช้บริการโมบายแบงกิ้ง, จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ, ยื่นภาษี เฉลี่ย 60.7% และ 61.7% ของประชาชน มักเกิดความเครียดบ่อยมากขึ้น เมื่อทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ และแม้คนไทยเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น แต่คนอายุ 55-74 ปี เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ลดลงเหลือ 48% จาก 67% ในปี 2563 ขณะที่ค่าเฉลี่ยประเทศ OECD อยู่ที่ 74% และเด็กไทยในวัย 15-16 ปี จำนวน 71% กังวลว่าจะใช้อินเตอร์เน็ตไม่ได้ เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 65% และค่าเฉลี่ยของ OECD ที่ 56% ผลสำรวจยังสะท้อนให้เห็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านไอทีของไทย ที่แทบไม่เติบโตใน 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีสัดส่วน 3.5% ของพนักงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย OECD ที่ 12.4%.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ