ศูนย์วิจัยกสิกร มองเฟดประชุมวันที่ 21-22 ก.ย. 64 นี้ คงมุมมองปรับลด QE

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ศูนย์วิจัยกสิกร มองเฟดประชุมวันที่ 21-22 ก.ย. 64 นี้ คงมุมมองปรับลด QE

Date Time: 21 ก.ย. 2564 08:59 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการประชุมเฟดในวันที่ 21-22 ก.ย. 64 นี้ Fed น่าจะยังคงมีมุมมองต่อการปรับลด QE ไม่เปลี่ยนแปลงจากที่ตลาดรับรู้ไปแล้ว

Latest


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการประชุมเฟดในวันที่ 21-22 ก.ย. 64 นี้ Fed น่าจะยังคงมีมุมมองต่อการปรับลด QE ไม่เปลี่ยนแปลงจากที่ตลาดรับรู้ไปแล้ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.0-0.25% และน่าจะยังคงไม่ประกาศการลดวงเงิน QE หรือ QE Tapering ในการประชุมนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นในวันที่ 21-22 ก.ย. 64 นี้ โดยเฟดน่าจะยังคงมีมุมมองต่อการปรับลด QE ไม่เปลี่ยนแปลงจากที่ตลาดรับรู้ไปแล้วว่าเฟดจะเริ่มลดวงเงิน QE ในสิ้นปีนี้

โดยในการประชุมนโยบายการเงินครั้งนี้ คาดว่าเฟดคงส่งสัญญาณผ่านถ้อยแถลงว่าเฟดมีมุมมองระมัดระวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังจากเครื่องบ่งชี้เศรษฐกิจบางตัว อาทิ ตัวเลขการจ้างงานภาคการเกษตร และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Services PMI) เดือน ส.ค. ออกมาต่ำกว่าที่คาด ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานที่ยังคงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี คาดว่าเฟดคงมีมุมมองที่มั่นใจว่าในภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีโมเมนตัมการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องและมีความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายของเฟด โดยอัตราว่างงานได้ลดลงอย่างต่อเนื่องและมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือนที่ 5.2% ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา

ขณะที่ แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงเนื่องจากปัญหาขาดแคลนแรงงานและปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานคาดว่าจะไม่คลี่คลายลงในระยะเวลาอันใกล้ ส่งผลให้เฟดคงจำเป็นที่จะต้องประกาศลดวงเงิน QE เพื่อรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาให้สอดคล้องไปกับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 2% ของเฟด

ทั้งนี้ ถ้อยแถลงของเฟดคงจะเป็นการเน้นย้ำให้ตลาดยังคงคาดการณ์ว่าเฟดจะมีการเริ่มลดวงเงิน QE ในสิ้นปีนี้ตามที่ตลาดรับรู้ไปแล้วก่อนหน้านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความตื่นตระหนกในตลาดและเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของเฟด โดยเฟดคงจะประกาศแผนลดวงเงิน QE ในการประชุมนโยบายการเงินครั้งหน้าในเดือน พ.ย. 64 และเริ่มลดวงเงิน QE ในเดือน ธ.ค. 64 ที่จะถึงนี้ โดยเฟดมีแนวโน้มที่จะทยอยลดวงเงิน QE อย่างค่อยเป็นค่อยไป

เนื่องจากหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอีกทาง เฟดก็ยังคงมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนนโยบายในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ การลดวงเงิน QE ถือเป็นเพียงการชะลอนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายท่ามกลางสภาพคล่องในตลาดการเงินที่อยู่ในระดับสูง แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายการเงินเป็นแบบตึงตัว ซึ่งแม้ว่าเฟดจะเริ่มลดวงเงิน QE แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงจะไม่เกิดขึ้นในระยะอันใกล้ตามที่นายเจอโรม พาวเวลได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ดี หากเฟดมองว่าจะไม่มีการลดวงเงิน QE ภายในสิ้นปีนี้ เฟดคงเลือกที่จะสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงคาดการณ์ของตลาดในการประชุมนโยบายการเงินครั้งนี้ โดยเฟดคงใช้วิธีพูดโน้มน้าวให้ตลาดเข้าใจว่าท่ามกลางความเสี่ยงที่ยังอยู่ในระดับสูง เฟดอาจจำเป็นที่จะต้องชะลอการลดวงเงิน QE ออกไปก่อน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กรณีนี้อาจมีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ยังมีโมเมนตัมฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาด

ทั้งนี้ ต้องติดตามประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมถึงประมาณการการปรับอัตราดอกเบี้ย นโยบาย (Fed Dot Plot) ที่เฟดจะเผยแพร่ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ทิศทางนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับประมาณการเงินเฟ้อสูงขึ้น ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง

ประกอบกับอาจมีการปรับประมาณการการปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นกว่าการแถลงประมาณการครั้งก่อนในเดือน มิ.ย. 64 ที่คาดการณ์ว่าเฟดจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปี 2566 อย่างไรก็ดี เฟดคงจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจและด้านเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ประกอบกับใช้ความระมัดระวังในการสื่อสาร และหลีกเลี่ยงที่จะส่งสัญญาณการถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเร็วกว่าที่ควร เพื่อไม่ก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน

สำหรับผลกระทบต่อไทย หากเฟดประกาศการลดวงเงิน QE จะส่งผลให้แนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และดอลลาร์สหรัฐฯ กลับเป็นขาขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยและต้นทุนการกู้ยืมนั้นปรับสูงขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวช้ากว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ท่ามกลางความเสี่ยงจากสถานการณ์แพร่ระบาดที่ยังอยู่ในระดับสูง

ขณะที่ เงินบาทมีแนวโน้มที่จะกลับมาอ่อนค่าตามทิศทางแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี หากเฟดยังไม่ประกาศการลดวงเงิน QE ก็จะก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในตลาดการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มที่จะผันผวนอย่างต่อเนื่อง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ