30 ปีสัมปทานไทยคม

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

30 ปีสัมปทานไทยคม

Date Time: 14 ก.ย. 2564 05:24 น.

Summary

  • ในที่สุดสัมปทานดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศระหว่างบริษัท อินทัช จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กับกระทรวงดีอีเอส ก็ได้สิ้นสุดลง

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ในที่สุดสัมปทานดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศระหว่างบริษัท อินทัช จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทลูกของอินทัช กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ก็ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 10 ก.ย.2564

ส่งผลให้ดาวเทียมจำนวน 2 ใน 4 ดวงที่ไทยคมให้บริการอยู่ ได้แก่ ดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) และดาวเทียมไทยคม 6 ถูกโอนไปให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT รับช่วงให้บริการต่อ

ส่วนดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 นั้น อยู่ระหว่างข้อพิพาทกรรมสิทธิ์ระหว่างกระทรวงดีอีเอสและไทยคม ภายใต้ข้อขัดแย้งที่ว่าดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 นั้น เป็นดาวเทียมภายใต้ใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือเป็นดาวเทียมภายใต้สัมปทานของกระทรวงดีอีเอส เช่นเดียวกับดาวเทียมไทยคม 4 และ 6

ตลอดระยะเวลา 30 ปีระหว่างวันที่ 11 ก.ย. 2534-10 ก.ย.2564 ไทยคมสร้างดาวเทียมและโอนกรรมสิทธิ์ให้เป็นทรัพย์สินของประเทศแล้วเป็นจำนวน 6 ดวง รวมมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท มากกว่าที่กำหนดไว้ในแผน นำส่งส่วนแบ่งรายได้เป็นเงินราว 14,000 ล้านบาท เกินกว่าค่าตอบแทนขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในสัญญาที่ 1,415 ล้านบาทหลายเท่า

แต่เนื่องด้วยดาวเทียม เป็นธุรกิจที่คาบเกี่ยวความมั่นคงและมักถูกดึงเข้าไปข้องแวะกับการเมืองเสมอ โดยเฉพาะเมื่อครั้งหนึ่ง ไทยคมคือธุรกิจของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เส้นทางภายใต้สัมปทาน 30 ปีของไทยคม จึงอาจกล่าวได้ว่าตรากตรำกรำแดดกรำฝนมาไม่น้อย

แม้กระทั่งในโค้งสุดท้ายก่อนสัมปทานจะหมดอายุเพียง 3 วัน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2564 ยังมีมติทิ้งทวน ประกอบด้วย 1.เห็นชอบตามที่กระทรวงดีอีเอสเสนอให้อินทัชต้องถือหุ้นในไทยคมไม่ต่ำกว่า 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนรัฐและเอกชน 2562 จากที่ในสมัย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.ไอซีที ได้อนุมัติให้ชินคอร์ป (เปลี่ยนชื่อเป็นอินทัชในภายหลัง) ลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเป็นไม่ต่ำกว่า 40% ซึ่งต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำวินิจฉัยเมื่อเดือน ก.พ.2553 ว่าเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้แก่อินทัชและไทยคม

2.เห็นควรให้แก้ไขเพิ่มเติมสัญญา โดยกำหนดให้ดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ผนวกเข้ามาเป็นดาวเทียมภายใต้สัญญาและดำเนินการแก้ไขสัญญาตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมทุนรัฐและเอกชน 2562 เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาเช่นกัน

3.ให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงการดำเนินการที่ผ่านมาของดาวเทียมไทยคมทั้งหมด ว่าเกิดความเสียหายอย่างไรบ้าง พร้อมทั้งกำหนดแนวทางแก้ไขและผู้รับผิดชอบ ซึ่งต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ โดยให้นายวิษณุเป็นที่ปรึกษา และพลเอกวิทวัส รชตะนันทน์ อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานกรรมการดังกล่าว

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้าการประชุม ครม. 1 วัน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ตั้งกรรมการสอบ รมว.และปลัดกระทรวงดีอีเอสที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ก่อนที่สัมปทานดาวเทียมจะสิ้นสุดลง จนในที่สุด...นำไปสู่มติ ครม.ในช่วง 3 วันสุดท้ายดังกล่าว

หลังประชุม ครม.เสร็จ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส อธิบายกับสื่อมวลชนว่า เรื่องนี้เป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต ต้องทำให้ครบถ้วนตามกระบวนการ บางเรื่องไม่ได้เกี่ยวกับรัฐบาลปัจจุบัน และ รมต.คนก่อนๆ ก็ไม่ได้ดำเนินการให้เสร็จสิ้น เมื่อสัมปทานไทยคมกำลังจะหมดอายุลง ตนในฐานะ รมว.ดีอีเอสซึ่งอยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ จำเป็นต้องทำให้ถูกต้อง

ส่วนเมื่อถูกถามว่าในทางปฏิบัติจะทำทันหรือไม่ เพราะสัมปทานกำลังจะหมดอายุ เขาตอบว่าไม่น่าจะทัน โดยอธิบายเพิ่มว่าอินทัชน่าจะต้องใช้เงินจำนวนมากในการซื้อหุ้นไทยคมเพิ่ม (ปัจจุบันถืออยู่ราว 41%) ส่วนไทยคม 4 หรือไอพีสตาร์นั้น ไทยคมได้โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่รัฐแล้วตั้งแต่สร้างเสร็จและเปิดให้บริการ จ่ายส่วนแบ่งรายได้ทุกปีไม่เคยขาด (เฉพาะไทยคม 4 จ่ายส่วนแบ่งรายได้รวมกว่า 4,000 ล้านบาท-ข้อมูลจากไทยคม) รัฐไม่ได้เสียประโยชน์

กลายเป็นว่ามติ ครม.เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2564 นั้น น่าจะไม่ได้หวังผลในทางปฏิบัติ แต่ทำขึ้นเพื่อหาทางลงให้กับข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำที่กำลังจะเกษียณอายุ ไม่ให้ถูกข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยเมื่อนับย้อนหลังจากวันที่ศาลมีคำพิพากษาตั้งแต่ปี 2553 พบว่าระหว่างนั้นมีรัฐมนตรีนั่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ถึง 9 คน

ที่ไม่อาจมองข้ามและทำเป็นเล่น เพราะคำพิพากษาดังกล่าวส่งผลให้ 2 อดีตปลัดกระทรวงไอซีที ได้แก่ นายไกรสร พรสุธี และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ ถูกตัดสินจำคุก 1 ปี แต่ศาลปรานีให้รอลงอาญา 5 ปี ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.ไอซีที ต้องโทษจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา.

ศุภิกา ยิ้มละมัย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ