ในช่วงเวลา 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสเบี้ยวจ่ายเงินประกันโควิด “เจอ จ่าย จบ” บนโลกออนไลน์กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ถึงขั้นผู้ซื้อประกันนัดหมายรวมตัวกันบุกบริษัท เพื่อทวงเงินค่าสินไหมทดแทน
การรวมตัวทวงเงินของผู้เอาประกัน จากกลุ่มเล็กๆ และได้ขยายวงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากรวมตัวที่หน้าสำนักงานใหญ่ บริษัทเอเชียประกันภัย จำกัด (มหาชน) ถนนราชดำริ ตามมาด้วย บริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ถนนสีลม และล่าสุดบุกทวงค่าสินไหมที่บริษัทเดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ถนนรัชดาภิเษก แถมยังรวมตัวกันไปเรียกร้องหน้าสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ถนนรัชดาภิเษก หวังพึ่ง คปภ.ในฐานะผู้กำกับดูแลบริษัทประกัน ให้ช่วยติดตามทวงถามค่าสินไหม
มองย้อนกลับไป ต้นเหตุสำคัญของการรวมตัวเรียกร้อง มาจากบริษัทประกันจ่ายสินไหมล่าช้า จนเกิดกระแสข่าวลือสะพัดในโลกออนไลน์ว่าบริษัทประกันเจ๊ง ไม่มีเงินจ่าย หากไม่รวมตัวมากดดันจะไม่ได้เงิน จนผู้เอาประกันแตกตื่น กลัวไม่ได้เงินจึงรวมตัวมาเรียกร้องไม่ขาดสาย
อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมประกันวินาศภัยยืนยันว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีบริษัทรายใดเบี้ยวจ่ายเงินประกันโควิด ซึ่งยังถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่แม้เกิดกรณีบริษัทประกันเจ๊งหรือต้องปิดตัวลง ก็ยังมีเงินกองทุนประกันวินาศภัย มาจ่ายให้กับผู้เอาประกันที่ยื่นเคลมทุกรายอยู่ดี
ในยามที่ความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บยังไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุดลง การระมัดระวังตัวจากมหันตภัยโควิด ที่รัฐบาลพร่ำบอกกับประชาชนว่าต้องตั้งการ์ดให้สูงเข้าไว้ แต่ที่สุด...หากพลาดพลั้งติดเชื้อ การซื้อประกันความเสี่ยงในเรื่องของค่ารักษาพยาบาลยังคงเป็นทางเลือกที่หลายคนมองว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน
ทำให้ยอดจ่ายสินไหมให้กับผู้ทำประกันที่ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นับจากปี 2563 จนถึง 15 ส.ค.2564 บริษัทประกันทั้งหมดจ่ายค่าสินไหมไปแล้ว 9,428.6 ล้านบาท โดยในเบื้องต้นประเมินว่ามูลค่าสินไหมโควิดน่าจะทะลุ 12,000 ล้านบาท
“ทีมเศรษฐกิจ” จึงได้สัมภาษณ์พิเศษ สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และ อานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ซึ่งจะมาไขข้อข้องใจ...จะมีการเบี้ยวจ่ายสินไหมหรือไม่ ตลอดจนแนะนำเทคนิคการตัดสินใจเลือกซื้อประกันในยุคโควิด...ดังต่อไปนี้...
นายสุทธิพล กล่าวว่า คปภ.ได้รับเรื่องร้องเรียนประกันโควิด เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการจ่ายเคลมประกันโควิด “เจอ จ่าย จบ” ล่าช้า บริษัทประกันปฏิเสธจ่ายค่าชดเชยรายวันหรือจ่ายค่าชดเชยรายวันไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่ต้องพักรักษาตัว
ทันทีที่มีเรื่องร้องเรียน คปภ.ในฐานะผู้กำกับดูแลบริษัทประกัน ได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย คุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชน ตั้งแต่ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบฐานะการเงินของบริษัทประกันที่ถูกร้องเรียน สั่งบริษัทประกันตั้งหน่วยงานรับเคลมโควิดขึ้นมาเฉพาะ
ตลอดจนกำหนดให้บริษัทประกันตรวจสอบเอกสารหลักฐานประกอบการเรียกร้องค่าสินไหมให้เสร็จใน 3 วัน หากเอกสารหลักฐานครบถ้วน ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนภายใน 15 วัน แต่หากพบว่าเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วน ต้องแจ้งผู้เอาประกันภายในวันเดียวกับที่ตรวจพบ และให้จ่ายสินไหมทดแทนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับเอกสารหลักฐานครบถ้วน
ส่วนในกรณี มีปัญหาการตีความและหาข้อยุติไม่ได้ ให้บริษัทประกันต้องเสนอความเห็นต่อ คปภ.ภายใน 7 วัน พร้อมทั้งรายงานผลทุก 15 วัน ต่อคณะทำงานเฉพาะกิจ
“จากการเข้าไปตรวจสอบฐานะการเงินของบริษัทประกัน เพื่อประเมินความเสี่ยงของบริษัท และพบว่า มี 4-5 บริษัทที่รับประกันโควิดเป็นจำนวนมาก แต่ยังมีสภาพคล่องเพียงพอ แต่หากในอนาคตเกิดมีปัญหาสภาพคล่อง คปภ.พร้อมเข้าไปช่วยเหลือ ผ่อนคลายกฎเกณฑ์การตั้งสำรอง เพื่อให้บริษัทประกันมีสภาพคล่อง นำมาจ่ายค่าสินไหมให้กับผู้เอาประกัน”
ล่าสุด คปภ.ยังออกมาตรการสั่งปรับบริษัทประกัน หากประวิงการจ่ายค่าสินไหม โดยปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 20,000 บาท และสั่งให้บริษัทประกันเพิ่มบุคลากรให้เพียงพอและให้นำระบบออนไลน์มาใช้ในการรับเรื่องร้องเรียนและติดตามความคืบหน้าการเคลมประกัน พร้อมสั่งให้บริษัทประกันเร่งปรับปรุงและเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสาร ทำความเข้าใจกับผู้เอาประกันภัยให้ถูกต้องและชัดเจน
นอกจากนี้ คปภ.ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้เอาประกันโควิด และเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนประกันโควิด ณ สำนักงาน คปภ. เพื่อช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย ที่ได้รับความเดือดร้อนจากบริษัทประกันภัยจ่ายเคลมล่าช้า
นายสุทธิพล ยังแนะนำวิธีการเลือกซื้อประกัน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงของตนเองและครอบครัว ควรพิจารณาปัจจัยต่างๆ ดังนี้ 1.ความคุ้มครองที่สอดคล้องตามความเสี่ยงภัย โดยสำรวจก่อนว่าได้ทำประกันภัยใดไว้บ้าง หรือมีสิทธิหรือสวัสดิการใดบ้าง และพิจารณาความคุ้มครองและสวัสดิการต่างๆ ที่มีอยู่ว่าเพียงพอกับความเสี่ยงของตนเองแล้วหรือยัง ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของภาครัฐ ควรเลือกค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมจากสวัสดิการเดิมที่มีอยู่
2.ความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัย โดยทั่วไปจำนวนเบี้ยประกันภัยที่ต้องชำระแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแผนประกันภัย ซึ่งประกอบด้วยความคุ้มครองและผลประโยชน์หรือจำนวนเงินเอาประกันภัย การเลือกซื้อประกันภัยควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัย เพื่อไม่ให้เป็นภาระทางการเงินในอนาคต
3.แถลงข้อความจริงในขั้นตอนขอเอาประกันภัย ถือเป็นข้อมูลที่บริษัทใช้ในการพิจารณารับประกันภัยและคำนวณเบี้ยประกันภัยให้เหมาะสมกับความเสี่ยงภัย และข้อความจริงที่ปรากฏตามใบคำขอเอาประกันภัยสำคัญมาก เมื่อเกิดเหตุที่ไม่คาดคิดขึ้น บริษัทประกันไม่มีข้อโต้แย้งในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน
สำหรับ 5 สิ่งที่ต้องเช็กก่อนตัดสินใจซื้อประกัน มีดังนี้ 1.เงื่อนไขการรับประกันภัยและข้อจำกัด โดยกรมธรรม์ประกันภัยแต่ละแบบ อาจกำหนดเงื่อนไขการรับประกันภัยและข้อจำกัดแตกต่างกัน 2.ผลประโยชน์ความคุ้มครอง ต้องดูเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยแต่ละแบบจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแผนประกันภัยที่เสนอขาย 3.เบี้ยประกันภัยและงวดการชำระ เพื่อให้สามารถชำระเบี้ยประกันภัยสอดคล้องตามรายได้ 4.ช่องทางการจำหน่ายและช่องทางการให้บริการและการติดต่อ 5.การบริการหลังการขาย และเงื่อนไขเสริมอื่นๆ
ด้านนายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า บริษัทประกันจ่ายสินไหมโควิด “เจอ จ่าย จบ” ล่าช้า มีสาเหตุจากพนักงานทำเคลมไม่เพียงพอ ผู้เอาประกันติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากเดือน พ.ค.-ส.ค. ตัวเลขคนติดเชื้อต่อวันจาก 1,000 คน เพิ่มเป็น 10,000 คน และทะลุ 20,000 คน ทำให้โรงพยาบาลเตียงเต็ม โรงพยาบาลสนามก็ไม่เพียงพอ
ดังนั้น เมื่อคนในกลุ่มนี้รักษาโควิดหายแล้ว ก็มายื่นเคลมค่าสินไหมกับบริษัทประกัน จากปกติยอดเคลมของบริษัทประกันขนาดใหญ่ ยื่นเคลมวันละ 100-200 ราย แต่ในเดือน ส.ค. ยอดเคลมแต่ละวันเข้ามาสูงถึง 10 เท่าตัว หรือวันละ 1,000-2,000 ราย
ส่วนบริษัทประกันขนาดกลางและเล็ก จากวันละ 10-20 ราย ก็เพิ่มขึ้นเป็น 100-200 ราย เมื่อทำเคลมไม่ทันก็เกิดยอดสะสม จนเกิดปัญหาล่าช้า จึงได้มีการระดมพนักงานจากส่วนอื่นๆ เข้ามาช่วยทำเคลม พร้อมนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น บริษัทอาคเนย์ประกันภัย ที่ช่วงแรกๆ ทำเคลมไม่ทัน ปัจจุบันทำได้วันละ 2,000 ราย สามารถแก้ไขปัญหายอดเคลมสะสมได้รวดเร็ว แต่ยังมีบริษัทประกันขนาดกลางและเล็กที่ยังมีข้อจำกัดเพราะมีพนักงานไม่มาก
“แต่หลังจากนี้เชื่อว่ายอดทำเคลมจะเร็วขึ้น และกลับสู่ภาวะปกติภายในอีก 1 เดือน หรือประมาณเดือน ต.ค.นี้”
ส่วนเรื่องที่ผู้เอาประกันเกิดวิตก เมื่อมียอดยื่นเคลมเข้ามามากๆ บริษัทประกันจะเจ๊งนั้น ขอให้ไม่ต้องกังวลเพราะตั้งแต่เกิดโควิดจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีบริษัทประกันรายไหนเบี้ยวไม่จ่ายเงินค่าสินไหม หากผู้เอาประกันยื่นเอกสารเคลมถูกต้องครบถ้วน ประกันจ่ายเงินให้ทุกราย
“ตอนนี้บริษัทประกันขาดทุนจากรับประกันโควิดจริง ขาดทุนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประกันที่ขายออกไป แต่เชื่อว่ารอบนี้จะไม่มีบริษัทปิดตัว หากเงินกองทุนไม่พอ คปภ.สามารถผ่อนผันให้ เมื่อสถานการณ์กลับมาปกติ ก็เพิ่มเงินกองทุน แต่หากต้องปิดตัวจริงๆ ก็ยังมีเงินจากกองทุนประกันวินาศภัย นำมาจ่ายให้กับผู้เอาประกันทุกราย”
นายอานนท์ แนะนำวิธีการเลือกซื้อประกันให้คุ้มค่าไม่ถูกเบี้ยว ต้องพิจารณาดังนี้ 1.ตรวจสอบประวัติและความน่าเชื่อถือ ความมั่นคงแข็งแรงของเงินกองทุน โดยผู้ซื้อประกันต้องดูว่า การทำธุรกิจของบริษัทประกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีประวัติถูกร้องเรียน เบี้ยวไม่จ่ายเงินค่าสินไหม หากประกอบธุรกิจไม่ตรงไปตรงมา ก็ควรหลีกเลี่ยง
2.อัตราเบี้ยประกันและความคุ้มครอง ควรเลือกแผนประกันภัย เงื่อนไขความคุ้มครองที่ตรงกับความต้องการ จากนั้นพิจารณาในเรื่องของราคา ความคุ้มค่า 3.พิจารณาจากความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับประกันรถยนต์ เนื่องจากมีเบี้ยประกันรถยนต์สูงถึง 90% ของเบี้ยประกันรวมของบริษัท ขณะที่บริษัททิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีเบี้ยรับประกันที่หลากหลาย จึงมีความเชี่ยวชาญในหลายๆ ด้าน แต่หากต้องการทำประกันสุขภาพ ก็อาจต้องเลือกประกันจากต่างชาติ ที่มีความเชี่ยวชาญประกันสุขภาพโดยเฉพาะ
4.ขนาดของบริษัทประกัน ต้องยอมรับว่าขนาดมีผลต่อการตัดสินใจ บริษัทประกันขนาดใหญ่มีความได้เปรียบ แต่หากเป็นบริษัทประกันขนาดเล็ก แต่มีความแข็งแกร่งด้านเงินกองทุน มีความมั่นคง ให้บริการดี ในอดีตไม่มีประวัติที่เสียหาย ก็สามารถเลือกซื้อประกันได้ และ 5.เลือกจากบริการและความรวดเร็ว.
ทีมเศรษฐกิจ