ไขคำตอบกับ พชร CEO Bluebik ทำไมธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทันโลกดิจิทัล

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ไขคำตอบกับ พชร CEO Bluebik ทำไมธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทันโลกดิจิทัล

Date Time: 13 ก.ย. 2564 13:59 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • ถ้าองค์กร หรือ ธุรกิจไม่ทรานเฟอร์ตัวเองก็ไปต่อลำบาก และธุรกิจอาจไม่รอด โดยเฉพาะช่วงมีการระบาดของโควิด-19 เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า ทำไมเราจำเป็นต้องเปลี่ยนช่องทางเดิมๆ มาใช้ช่องทางออนไลน์

Latest


เรื่อง Digital Transformation ถูกพูดถึงมาตลอดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ภาพกลับฉายชัดเจนมากขึ้นในปี 63 ที่ผ่านมาเพราะการระบาดของโควิด ซึ่งถือเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้หลายองค์กรไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งผู้ใช้งานทั่วไป ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานในทุกรูปแบบของชีวิต 

ถ้าให้ยกตัวอย่างง่ายๆ หลายคนอาจจะเคยคุ้นชินกับการเดินเข้าธนาคาร แต่พอโควิดระบาดสาขาธนาคารหลายแห่งต้องปิดให้บริการ ธุรกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน การลงทุน ก็ถูกโยกย้ายขึ้นมาอยู่บนอินเทอร์เน็ต และโมบายแบงก์กิ้ง ซึ่งถ้าหากสถาบันการเงินไหนมีความพร้อมในเรื่องดิจิทัล การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอินเทอร์เน็ต และโมบายแบงก์กิ้งก็กลายเป็นเรื่องง่าย เชื่อมต่อได้อย่างราบรื่น ถ้าเรียกภาษาบ้านๆ ก็คือ ใช้งานง่าย รวดเร็ว ที่สำคัญแอปฯ ไม่ล่ม 

ผู้เชี่ยวชาญอย่าง พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK อธิบายให้ฟังว่า Digital Transformation ถือเป็นเมกะเทรนด์ที่สำคัญ และมีการพูดถึงมาช่วงหลายปีที่ผ่านมาด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์ชีวิตให้ทำงานง่ายขึ้น เพราะไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปนับตั้งแต่การเข้ามาอินเทอร์เน็ต การมีสมาร์ทโฟน และมีโซเชียลต่างๆ ล้วนแต่เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้เทคโนโลยีเข้าใกล้ชีวิตผู้คนมากขึ้นกว่าเดิม 

ปัจจุบันถ้าองค์กร หรือ ธุรกิจไม่ทรานเฟอร์ตัวเองก็ไปต่อลำบาก และธุรกิจอาจไม่รอด โดยเฉพาะช่วงมีการระบาดของโควิด-19 เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า ทำไมเราจำเป็นต้องเปลี่ยนช่องทางเดิมๆ มาใช้ช่องทางออนไลน์ การทำงานต้องทำได้ทุกที่ทุกเวลา นั่นหมายถึงระบบภายในองค์กรต้องมีความพร้อม โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลบริษัท การตัดสิน การลงนามในเอกสารสำคัญต่างๆ ที่ทำผ่านระบบ

ที่ผ่านมาบลูบิคได้เข้าไปช่วยหลายองค์กรทำ Digital Transformation ด้วยการเป็นที่ปรึกษาด้านดิจิทัล แบบ End-to-end solution ที่แตกต่างจากที่อื่นๆ เช่น การให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการ หรือ Management Consulting ซึ่งบลูบิคจะทำหน้าที่หาปัจจัยความสำเร็จทางธุรกิจให้แก่ลูกค้า กำหนดทิศทางกลยุทธ์ด้านต่างๆ วิเคราะห์ผลกระทบและโอกาสเชิงเศรษฐศาสตร์จากเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับธุรกิจ   

นอกจากนี้ เรายังเป็นปรึกษาการบริหารจัดการโครงการเชิงยุทธศาสตร์ หรือ Strategic PMO ซึ่งเราจะทำหน้าที่บริหารโครงการขนาดใหญ่ ที่มีความซับซ้อนสูงให้กับองค์กรขนาดใหญ่ และเข้าไปวางโครงสร้างระบบไอทีภายในองค์กร รวมถึงพัฒนาระบบดิจิทัลและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี หรือ Digital Excellence and Delivery

โดยเราทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านดิจิทัลครบวงจรและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับแต่ละองค์กร อาทิ การออกแบบประสบการณ์ของผู้ใช้งานและส่วนติดต่อระหว่างผู้ใช้กับระบบ หรือ UX UI บนหน้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

บลูบิคยังเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ Big Data & Advanced Analytics ซึ่งจะให้คำปรึกษาด้านการจัดการ และวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI รวมถึงให้คำแนะนำการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล เพื่อนำไปใช้สร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม และให้บริการด้านทรัพยากรบุคคลชั่วคราวที่มีความเชี่ยวชาญด้านไอที 

พชร บอกอีกว่า จริงๆ แล้วการสร้างระบบเหมือนปลายน้ำแล้ว แต่ที่ปรึกษาอย่างเราทำตั้งแต่การวิเคราะห์ว่า องค์กรต้องการเทคโนโลยีเข้าไปเสริมตรงไหนของธุรกิจ ทำอย่างไรให้องค์กรมีกำไรมากที่สุด และลดค่าใช้จ่ายตรงไหนด้วยเทคโนโลยีได้บ้าง ที่ผ่านมา Bluebik ได้เข้าไปวาง Strategic ในหลายบริษัท SET 100 และ SET 50 เช่น กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มประกัน และกลุ่มรีเทล เป็นต้น 

"ยกตัวอย่างเช่น บริษัทนายหน้าประกันแห่งหนึ่ง ที่เราเข้าไปดูระบบให้ตั้งแต่ยุคแรกๆ แต่เดิมธุรกิจประกันจะต้องขายกันแบบ fact to fact และเขาก็ทรานฟอร์มมายุคเทเลเซลส์ และปัจจุบันก็เข้าสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ แน่นอนว่า ระบบงานภายใน รวมถึงกลยุทธ์ต่างๆ ก็ต้องปรับเปลี่ยนตั้งแต่การขาย ระบบการจัดการภายใน จนปัจจุบันบริษัทนี้ได้กลายเป็นดิจิทัลอินชัวรันส์โบรกเกอร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และบริษัทก็ติดอยู่ใน SET 100 แล้ว"

ตั้งศูนย์การพัฒนาทักษะ หรือ Learning Academy Center

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในแผนธุรกิจของ Bluebik คือ แผนพัฒนาศูนย์การพัฒนาทักษะ หรือ Learning Academy Center ซึ่งพชร อธิบายว่า ที่ผ่านมาคนใน Bluebik เอง รวมถึงผมเคยทำงานให้องค์กรชั้นนำระดับโลกมาก่อน เรามีฐานความรู้ หรือ Knowledge base และมีองค์ความรู้เป็นจำนวนมาก การสร้าง Academy จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ และร่วมแชร์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี 

แต่สิ่งที่เราจะต้องทำคือ ระบบเทรนนิ่ง เครื่องมือต่างๆ ที่นำคนมาระดมความคิด หรือ Brainstorm กันที่สำคัญความหลากหลายของหลักสูตรก็สำคัญ เหล่านี้ถือเป็นจุดแข็งของเราในอนาคตที่จะทำให้เราแตกต่าง และเหนือกว่าคู่แข่งโดยเฉพาะคู่แข่งจากต่างประเทศ 

Bluebik ร่วมทุนกับ OR มองหาโอกาสใหม่ในธุรกิจ

ส่วนการที่ Bluebik ร่วม Joint Venture กับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เพื่อตั้ง บริษัท ออร์บิท ดิจิทัล จำกัด หรือ ORBIT ก็เป็นหนึ่งก้าวสำคัญที่เราได้ร่วมงานกับองค์กรขนาดใหญ่ที่ชำนาญด้านการค้าปลีก หรือ Retail ที่มีทั้งน้ำมัน ปั๊มน้ำมัน ร้านกาแฟ รวมถึงร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ ซึ่งมีโอกาสเติบโตสูงมากในอนาคต

แต่เดิม OR เป็นหนึ่งในลูกค้าที่ Bluebik เข้าไปวาง Strategic เพื่อนำดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการทำงานทุกๆ ช่องทางของ OR เพื่อช่วยยกระดับให้ธุรกิจ โดยจุดนี้เองที่นวัตกรรม และซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นสามารถนำไปปรับใช้ในองค์กรที่คล้ายๆ กัน จึงเป็นที่มาของการร่วมทุนระหว่างเรากับ OR

ขณะเดียวกันการที่ OR มีฐานลูกค้า Blue Card เครือข่าย PTT Station และ Café Amazon เราก็สามารถเอา DATA เหล่านั้นมาทำเป็นชุดข้อมูล และทำอินไซด์ต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ รวมถึงปรับโมเดลธุรกิจให้สอดรับกับความต้องการในการเดินทางของผู้คนในอนาคต

โดยในอนาคตอันใกล้นี้ เราเองก็อาจจะมีโอกาสได้ Joint Venture กับองค์กร หรือ ธุรกิจอื่นๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ด้วยการนำจุดแข็งของ Bluebik ที่ชำนาญเทคโนโลยี รวมถึง Data Science ร่วมพัฒนาให้เกิดโซลูชั่นใหม่ๆ ที่ไม่ได้จำกัดแค่ในประเทศเท่านั้น แต่เราพร้อมที่จะปักธงลุยในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย

ผู้เขียน : เศรษฐินีศรีราชา kamonthip.h@thairathonline.co.th

กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์