รวมมาตรการ ธปท. ช่วยลูกหนี้รายย่อย หนี้บัตรเครดิต หนี้รถ หนี้บ้าน และคนทำ SMEs คนเป็นหนี้จะทำอย่างไรมีคำตอบให้ที่นี่
ไม่มีใครอยากเป็น "หนี้" แต่เมื่อเป็นแล้วทุกคนคงหวังผลในระยะยาว ได้บ้าน ได้รถเป็นของตัวเอง ช่วงก่อนโควิดยังพอมีเงินมาจ่ายหนี้บ้าง แต่โควิดมา ลูกหนี้บางคน รายได้ไม่พอจ่ายหนี้เลยก็มี ด้วยเหตุนี้เอง ทางธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยแล้ว จะเห็นได้จากหลายธนาคารเริ่มบอกว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้อย่างไร มาตรการเหล่านี้ "นักล่าฝัน" ขอสรุปชัดๆ ดังนี้
มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ มีอยู่ 4 ประเภท คือ
1. บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
2. สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์
3. สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์
4. สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
- หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล จะเปลี่ยนเป็นหนี้ระยะยาว ให้ลดค่างวดลง แต่หากเป็นหนี้ระยะยาวเกิน 48 งวด ให้ธนาคารหรือสถาบันการเงิน ลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าเพดานตั้งแต่งวดแรก บัตรเครดิตเดิมร้อยละ 12 และสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 22 ต่อปี
- สินเชื่อจำนำทะเบียนรถและรถมอเตอร์ไซค์ มีการลดค่างวด และรวมหนี้ไปยังสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่นๆ ส่วนสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ คนที่ได้รับผลกระทบรุนแรง จะมีอีก 2 ทางให้เลือก คือ พักค่างวด หรือคืนรถสำหรับคนที่ไม่มีเงินมาจ่ายหนี้จริงๆ รถคันนั้นต้องขายประมูลราคา ถ้าราคาต่ำกว่าหนี้ตามสัญญา สถาบันการเงินช่วยลูกหนี้ให้ตรงกับฐานะของลูกหนี้ได้
- การเช่าซื้อรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ จะได้ลดค่างวด หรือขยายเวลาชำระหนี้ออกไป และเมื่อคำนวณอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา หรือ EIR ต้องไม่สูงกว่าอัตราเดิม แต่ถ้าลูกหนี้จ่ายค่าซื้อทั้งหมดเพื่อปิดบัญชี จะได้ลดดอกเบี้ยที่ไม่ถึงกำหนดชำระไม่น้อยกว่า 50% ตามข้อกำหนดของ สคบ. ส่วนคนที่ต้องคืนรถจริงๆ ทางสถาบันการเงินต้องนำรถไปประมูล หากได้ราคาต่ำกว่าจำนวนหนี้ ธนาคารก็จะช่วยลดภาระหนี้ให้ได้
- สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน มีบรรเทาภาระหนี้ 4 ทาง ได้แก่
1. ลดค่างวด
2. พักเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน
3. พักเงินต้นและพิจารณาลดดอกเบี้ย
4. พักชำระค่างวด
นอกจากนี้ยังสามารถทยอยชำระเป็นขั้นบันได หรือ step up ตามความสามารถของลูกหนี้ หลังลดค่างวดหรือพักชำระหนี้ และสุดท้ายรวมหนี้ โดยนำสินเชื่อนี้รวมกับสินเชื่อรายย่อยอื่นๆ ได้
โดยลูกหนี้ทั้ง 4 ประเภท สามารถติดต่อผู้ให้บริการทางการเงินได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธ.ค. 64
นอกจากนี้ยังมีโครงการ "คลินิกแก้หนี้" ที่แบงก์ชาติกับ บยส. ได้เปิดช่องทางให้กับลูกหนี้ ด้วยการรวมหนี้เป็นก้อนเดียว โดยสามารถดูเงื่อนไขการเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ได้ที่นี่ และยังมีผ่อนปรนหลักเกณฑ์การสมัครเข้าโครงการ 2 ประการ คือ 1.เกณฑ์ด้านอายุ จากเดิมไม่เกิน 65 ปี เป็นไม่เกิน 70 ปี (เมื่อรวมระยะเวลาการปรับโครงสร้างหนี้) และ 2.ปรับอัตราดอกเบี้ยจากเดิมร้อยละ 4-7 เป็นอัตราเดียวที่ร้อยละ 5 เป็นค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยในโครงการ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 64 เป็นต้นไป
ขณะเดียวกัน ธปท. ร่วมมือกับกระทรวงการคลัง สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ สมาคมธนาคารไทย และ บสย. เปิดตัวโครงการ "หมอหนี้เพื่อประชาชน" เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ไขหนี้แก่ผู้ประกอบการและประชาชน ทั้งการจัดทำแผนธุรกิจ ข้อมูลทรัพย์สินและหนี้สิน ข้อมูลรายรับรายจ่าย เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ รวมทั้งแนวทางการพูดคุยกับเจ้าหนี้ ตลอดจนข้อมูลมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินต่างๆ
โดยโครงการนี้ยังเอื้อประโยชน์ให้กับลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถติดต่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากทีมหมอหนี้ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs เช่น บสย. FA Center สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสมาคมธนาคารไทยได้ฟรี โดยสามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับคำปรึกษากับหมอหนี้ ผ่านเว็บไซต์ โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน หรือสอบถามได้ทั้งที่ ธปท. ได้เลย
อย่างไรก็ตาม นอกจากโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชนแล้ว ธปท. ก็ยังมีมาตรการลดภาระหนี้เพิ่มเติม สำหรับหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล และผู้ประอบการ SMEs ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. 64 เป็นต้นไป
มาเริ่มกันที่ หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มีอยู่ 3 ข้อ
1. ธปท.จะขยายเพดานวงเงินเป็น 2 เท่าของเงินเดือน สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล หากมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคล คนกู้สามารถขอสินเชื่อได้โดยไม่จำกัดจำนวนผู้ให้บริการ
2. คงอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำ เหลือ 5% จนถึงสิ้นปี 65
3. ขยายเพดานวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล จากรายละไม่เกิน 20,000 บาท เป็น 40,000 บาท และขยายระยะเวลาชำระคืน จากไม่เกิน 6 เดือน เป็น 12 เดือน
ส่วนของสินเชื่อ SMEs มีอยู่ 2 ข้อ คือ
1. ขยายวงเงินสินเชื่อ ที่มีวงเงินสินเชื่อต่ำ หรือไม่มีวงเงินกับสถาบันการเงิน เพราะใช้เงินทุนส่วนตัวประกอบธุรกิจ
2. ค้ำประกันเพิ่มและปรับลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้กับลูกหนี้กลุ่มเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการรายย่อย และภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง เพราะเป็นธุรกิจที่มีผลกระทบมาก อย่างภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ได้มากขึ้น
โดยสถาบันการเงินสามารถยื่นคำขอสินเชื่อฟื้นฟูมายัง ธปท. ได้ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 64
จะเห็นได้ว่า ธปท. ก็หามาตรการมาช่วยลูกหนี้ทุกประเภท เพื่อให้ต่อสู้กับสถานการณ์โควิด-19 ระบาดแบบนี้ ให้สามารถพยุงธุรกิจ และบรรเทาความเดือดร้อนของคนมีหนี้ สุดท้ายขอเป็นกำลังให้ลูกหนี้ทุกคนฟันฝ่าอุปสรรคครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน.
ผู้เขียน : นักล่าฝัน nathaorn.s@thairathonline.co.th