ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำต่อเนื่องในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ภาคธุรกิจน้อยใหญ่ต้องปิดกิจการลง ทั้งแบบชั่วคราวและถาวรจำนวนมาก ยอด “คนว่างงานและเสมือนคนว่างงาน” พุ่งขึ้นในช่วงสูงสุดกว่า 5 ล้านคน
และหนทางหนึ่งที่แรงงานที่ขาดรายได้เหล่านี้จะเอาชีวิตรอดได้ คือ การหันหน้ากลับสู่บ้านเกิด
จาก “รายงานการย้ายถิ่นของประชากรปี 63” โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่เผยแพร่เมื่อเดือน พ.ค.64 พบว่า ปี 63 มีแรงงานย้ายถิ่น 1.05 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 60% เมื่อเทียบกับปี 62 แต่หากนับรวมถึงในปี 64 ด้วย น่าจะมีแรงงานย้ายถิ่นเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก โดยแรงงานเหล่านี้ ส่วนใหญ่หวังกลับไปพึ่งพิงอาชีพด้านการเกษตร
แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เกิดสภาวะโลกร้อน ฝนแล้ง น้ำท่วม ดินโคลนถล่มกระจายไปทั่วประเทศ การทำการเกษตรยังหวังพึ่งพิงได้จริงหรือไม่?
โดยเฉพาะในหลายพื้นที่ของประเทศในปัจจุบัน ยังประสบปัญหาน้ำแล้ง ฝนทิ้งช่วงยาวนาน ทำให้ประชาชนขาดน้ำทั้งเพื่อการเกษตรและเพื่ออุปโภค-บริโภค จนเกิดภาวะ “ยากจนดักดาน” ดังนั้น ในช่วงฝนนี้ การเตรียมหา “ทุนน้ำ” จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะ “น้ำ” คือ ชีวิต และ “น้ำ” คือทางรอดวิกฤติ
“ทีมเศรษฐกิจ” ได้นำเรื่องราวจากผู้ทรงความรู้ และเกษตรกรตัวอย่าง ที่ได้จากงานเสวนา “ชี้ช่องแก้จน เปลี่ยนฝนเป็นทุน” โดยเครือเอสซีจี ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์กรมหาชน) หรือ สสน. และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) มาถ่ายทอดให้ผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้น หรือกลับมาใช้ชีวิตเกษตรกร มีแนวทางทำกินสร้างความมั่นคงด้านอาชีพ และชีวิตในอนาคต
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งตลอดว่า วันนี้สิ่งที่น่าวิกฤติสุด คือ ความไม่แน่นอนด้านทุน (น้ำ) ของเรา ทำอย่างไรจะแปรน้ำเป็นทุนได้ เพราะน้ำ คือ ชีวิต น้ำ คือ ทางรอดวิกฤติ แต่เราไม่ค่อยมองเห็นความสำคัญของน้ำ ใช้น้ำจนเพลิน และลืมไปว่าทุกอย่างที่เลี้ยงดูชีวิตเรา อย่างปัจจัย 4 ถ้าไม่มีน้ำ ก็ไม่เกิดขึ้น
“ผมอยากให้คิดใหม่ บริหารน้ำเหมือนบริหารเงินเดือน เงินเดือนออกวันเดียว แต่ใช้อีก 29 วัน ฝนก็เหมือนกัน มา 3 เดือน แต่ต้องเก็บพอให้ใช้ในอีก 9 เดือน จากนี้ถึงเดือน พ.ค.ปีหน้าก่อนฝนมาอีกครั้ง ต้องวางแผนแล้วว่า จะสร้างภูมิคุ้มกันอย่างไร ตอนนี้ ใครมีสระ ต้องรีบเก็บน้ำ ปลูกพืชให้เหมาะสมกับน้ำที่มี”
วันนี้ โควิด-19 ให้บทเรียนเราอีกครั้ง มีคนกว่า 4 ล้านคนกลับบ้าน เมื่อกลับบ้านแล้วก็ต้องมีกิน ดินทุกกระเบียดนิ้วต้องทำประโยชน์ไม่จำเป็นต้องมีที่ใหญ่โต ที่เล็กๆ หลังบ้าน อย่าปล่อยให้ไม่เกิดประโยชน์ และแน่นอนต้องมีน้ำ
“เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่แค่ปลูกต้นไม้ พระองค์ท่านสอนให้คิดมีน้ำแค่นี้จะทำอะไร ปลูกพืชอะไร หรือมีสระลึกมาก ก็ไม่สามารถใช้น้ำได้ทั้งหมด ตลิ่งจะพัง ต้องเหลือน้ำไว้ ต้องประเมิน ประมาณน้ำ เพื่อเป็นทุนทำเกษตร ปรับตามสภาพทุนที่มี วันนี้เจอโควิด ต่อไปเจออะไรก็ไม่รู้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งต้องเตรียมให้พร้อม เวลาเจออะไรก็ได้ เราต้องรอด ลูกหลานก็ต้องรอดด้วย ค่อยๆ คิด ค่อยๆทำจะเกิดเป็นความยั่งยืน”
แต่ถ้าจะให้แนะนำ ตอนนี้ ควรปลูกไผ่ เพราะเป็นพืชโตเร็ว ขายได้เร็ว รองรับประชากรโลกที่มโหฬารได้ แต่ไม่ว่าจะปลูกอะไร ทำอะไร ต้องคิดให้ดี ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ตามสูตรเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน ที่มี 3 ขั้นตอนคือ พอมีพอกิน เหลือกินเหลือใช้ และขาย ท่านทรงสอนให้เป็น “เศรษฐี” แต่คนส่วนใหญ่เรียนรู้แค่ขั้นตอนเดียว
“แนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ที่หลายชุมชนได้ลงมือทำ พิสูจน์แล้วว่า ช่วยให้รอดพ้นวิกฤติ เสริมความรู้ สร้างภูมิคุ้มกันให้คน
ในชุมชนสามารถบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า มีความเป็นเจ้าของและดูแลรักษาทรัพยากรร่วมกัน สร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจครัวเรือน”
ในปี 63 อัตราการย้ายถิ่นของแรงงานในกรุงเทพฯ กลับบ้านเกิดเพิ่มขึ้นกว่า 60% และยังมีแรงงานตกงานอีก 4.5-5 ล้านคน
อาชีพเกษตรจึงเป็นทางรอดให้กับกลุ่มคนเหล่านี้
ทุนที่สำคัญที่สุดคือ “น้ำ” ถ้าสำรองน้ำให้พอ แรงงานคืนถิ่นจะสามารถประกอบอาชีพเกษตรได้ มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และ สสน. ได้ร่วมกับเครือข่ายภาคเอกชน เช่น เครือเอสซีจี ฯลฯ ช่วยชุมชนบริหารจัดการน้ำมาตลอดในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา จนเกิดเป็นเครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ปัจจุบันมีกว่า 1,700 หมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งชุมชนเหล่านี้ มีความมั่นคงด้านอาชีพ และการดำรงชีวิต
“เรามีตัวอย่างความสำเร็จของชุมชนที่ร่วมมือกับเราในการบริหารจัดการน้ำ จนพึ่งพาตนเองได้ และทำการเกษตรได้ทั้งปี เช่น จ.แพร่ ซึ่งเป็นจังหวัดยากจนอันดับ 2 ของภาคเหนือ โดยเฉพาะ ต.สรอย แล้งมาก มีเขาหัวโล้น ถ้าจะแก้ความยากจน ต้องเอาเงินลงไปช่วย แต่เราเข้าไปช่วยแก้เรื่องการจัดการน้ำ จากการสำรวจพบว่า ที่นี่มีอ่างเก็บน้ำมากถึง 163 อ่าง แต่ส่วนใหญ่ใช้การไม่ได้ เราก็ร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบลในการฟื้นฟูอ่างให้กลับมาใช้งานได้ดี ขณะนี้ฟื้นแล้วกว่า 10 อ่าง เมื่อชาวบ้านมีน้ำ ก็ทำการเกษตรได้ ขายผลผลิตได้ ทำให้มีฐานะดีขึ้นทันที”
อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้เป็นหน้าฝน แต่ภาพรวมฝนน้อย โดยเฉพาะพื้นที่เหนือเขื่อน เช่น 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา สิ้นฤดูฝนเดือน ต.ค.นี้ ควรมีปริมาณน้ำรวมกัน 8,000-12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่ตอนนี้มีเพียง 1,634 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปี 63 ซึ่งเป็นปีแล้ง ที่มีน้ำ 5,770 ล้าน ลบ.ม. ชาวบ้านจะพึ่งแต่น้ำในเขื่อนไม่ได้ ต้องหาแหล่งน้ำของตัวเอง ในช่วงฝนนี้ ต้องดักน้ำหลากเข้าไปเก็บในแหล่งน้ำของตนเอง ของชุมชน เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอ
“ไม่อยากให้ประเทศไทยย้อนกลับไปเหมือนปี 42 ที่เริ่มฟื้นจากวิกฤติปี 40 แล้วคนแห่กลับเข้าเมือง แต่อยากเห็นว่าสามารถกลายเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวได้ เรามีตัวอย่างความสำเร็จของชุมชนเครือข่ายที่พร้อมจะเป็นพี่เลี้ยงให้หมู่บ้านข้างเคียงในเรื่องการจัดการน้ำชุมชน เพราะน้ำ คือ ทุน เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิต ถ้าบริหารน้ำได้ ก็ทำเกษตรเลี้ยงตัวได้”
ผมมีเป้าหมายชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่า จะเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด เพื่อกลับมาสร้างอาชีพที่บ้านเกิด จ.อุดรธานี แต่ก็ยังไม่ตกผลึกว่าจะทำอะไรดี จึงสมัครเข้าร่วมโครงการ “พลังปัญญา” ของมูลนิธิมั่นพัฒนาในเครือเอสซีจี เรียนอยู่ 6 เดือน ก็ได้ความคิดว่า จะกลับมาใช้น้ำเป็นทุน ทำบ่อเลี้ยงปลา และทำปลาส้มขาย
“ผมกลับบ้านพร้อมหนี้ 2 ล้านบาท คุยกับภรรยาว่า ทำยังไงจะใช้หนี้ให้เร็วที่สุด และทำได้ทันที ได้ผลตอบแทนเร็ว ก็ค้นพบว่าตัวเองเก่งทำปลาส้ม เพราะพ่อสอน เลยเริ่มทำปลาส้ม แต่การจะทำได้ทันทีต้องซื้อปลามาทำก่อน ขณะเดียวกัน ขุดบ่อเลี้ยงปลาด้วย เพื่อให้มีวัตถุดิบป้อนได้อย่างยั่งยืน”
ในช่วงแรก ทำปลาส้มสูตรโบราณอย่างเดียว ขายตามตลาดนัดในตำบล ในอุดรธานีก่อน แล้วขยายไปจังหวัดข้างเคียง โดยใช้หลักการตลาดแบบ “ตลาดข้างบ้าน” คือ เพื่อนข้างบ้านได้ลองกินปลาส้มของผมหรือยัง ก็ไปเสนอขาย จากนั้นขยายไปข้างหมู่บ้าน ข้างตำบล ข้างจังหวัด และจะขยายไปข้างประเทศ และวันนี้เราได้พัฒนาสูตรใหม่ๆอีก 2 สูตร คือ สูตรสมุนไพร และสูตรโปรไบโอติก และยังมีผลิตภัณฑ์อื่นอีก เช่น ปลาแดดเดียว ปลาร้า
ด้วยหลักการตลาดข้างบ้าน และมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทำให้มีร้านขายปลาส้ม 10 สาขาในช่วงก่อนโควิด-19 มีรายได้เดือนละแสนบาท ปลดหนี้ 2 ล้านบาทได้ใน 2 ปี แม้ตอนนี้เปิดขายได้ 4 สาขา รายได้เหลือสาขาละ 1,000-2,000 บาท และมีหนี้ก้อนใหม่ที่กู้มาขยายการลงทุนอีก แต่ก็ไม่เป็นไร เรายังมีทางออก คิดต่อยอดพัฒนาสินค้าต่อเนื่อง ทำแบบครบวงจร ยกระดับมาตรฐานการผลิต มั่นใจว่า ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “วังธรรม” ยังขายได้
“ตอนนี้ ผมเริ่มมั่นคงระดับหนึ่งแล้ว มีแนวทางการทำมาหากินที่ดี จึงอยากแบ่งปันเพื่อน เลยคุยกับเพื่อนๆ ที่เรียนโครงการพลังปัญญาด้วยกัน มาช่วยกันทำธุรกิจ ช่วยกันขุดบ่อเลี้ยงปลาป้อนให้กับธุรกิจปลาส้ม พัฒนาไปสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชน ตอนนี้มีสมาชิก 10 คน ช่วยกันพัฒนาการเลี้ยงปลา พัฒนาการผลิตให้มีมาตรฐานขึ้น”
สมาชิกได้รับผลตอบแทนที่ดี เพราะเราเก็บค่าธรรมเนียมจากการเลี้ยงปลา แปรรูป และการขายมาจ่ายเป็นเงินปันผลประจำปี และยังนำส่วนหนึ่งมอบเป็นทุนการศึกษาให้บุตรหลาน เพราะต้องการให้ลูกหลานมาช่วยบริหารวิสาหกิจชุมชน ไม่ต้องทำงานในเมือง เกิดเป็นภูมิคุ้มกันชุมชน และวางรากฐานเศรษฐกิจชุมชนเพื่อความยั่งยืนในอนาคต
เป็นพนักงานขายเครื่องสำอางในห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯอยู่ 3 ปี มีเงินใช้แน่นอนทุกเดือน ในช่วงโควิด-19 ระบาดรอบ 1 และ 2 ยังพออยู่ได้ แต่พอรอบ 3 อยู่ไม่ไหวแล้ว ไม่ได้ทำงาน ขาดรายได้ เพราะห้างปิดหลายเดือน ไม่รู้อนาคต เลยตัดสินใจกลับบ้านมาช่วยแม่ทำสวนมะขามหวาน แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ไม่มีเงินใช้ในชีวิตประจำวันเลย เพราะมะขามหวานเก็บผลผลิตขายได้เพียงปีละครั้ง ทำให้ต้องคิดหนัก จะหาเงินจากที่ไหนมาใช้จ่าย
หลังจากคิดไปคิดมา พบว่า เรายังมีต้นทุนด้านการเกษตร คือ มีที่ดิน มีสระน้ำทำการเกษตรได้ อีกทั้งภายในชุมชนยังช่วยกันบริหารจัดการน้ำ ขุดบ่อ ขุดสระกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ ทั้งเพื่อการเกษตร และอุปโภคบริโภค โดยฝนที่กำลังตกอยู่ในช่วงนี้ ต้องกักเก็บไว้ให้ดี เพราะจะเป็นต้นทุนของเรา ที่จะเอาไว้ใช้ให้ได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี
“เมื่อเราต้องมีเงินมาใช้จ่ายประจำวัน และเรามีน้ำจำกัด เลยคิดปลูกพืชผักอายุสั้น ใช้น้ำน้อย เช่น แตงกวา แตงไทย มะเขือเทศ พริก มะเขือพวง ข้าวสาลี ซึ่งให้ผลผลิตได้ดี เก็บขายได้เดือนละ 5,000 บาท แม้ไม่มากอะไร แต่พออยู่ได้ เพราะอยู่บ้านไม่มีค่าใช้จ่ายมากเหมือนอยู่กรุงเทพฯ”
ต่อมาได้เพิ่มสินค้าให้หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะพืชผักท้องถิ่น อย่างที่หมู่บ้านปลูกผักหวานป่ากันมาก ก็จะชวนคนในชุมชนมาขายผักหวานป่า โดยจะทำแพ็กเกจสินค้า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และจะขายทางออนไลน์ด้วย แต่ตอนนี้ กำลังคิดว่า ทำอย่างไรให้ผักหวานออกได้ทั้งปี มีอายุการเก็บรักษานานขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคมีกินได้ทั้งปี
สำหรับตนเองมองว่า การได้กลับมาบ้านเกิดครั้งนี้ และทำการเกษตรเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัว ถือว่าพอใจ และมีความสุข ไม่คิดจะกลับเข้ากรุงเทพฯอีก พอแล้วกับชีวิตในเมืองหลวง ที่ต้องดิ้นรน ปากกัดตีนถีบ
“โควิดทำให้คิดได้ว่า อยู่กรุงเทพฯต่อไปก็ไม่มีอนาคต แม้มีเงินใช้ทุกเดือน แต่กรุงเทพฯ เหมือนเป็นแค่จุดตั้งต้น แต่บ้านเกิดเป็นที่พักพิง เป็นจุดเริ่มต้นไม่รู้จบ เมื่อรู้ว่า จะได้น้ำ จงหาสระ หาภาชนะมาเก็บให้ได้มากสุด เพราะน้ำ คือ ทุนของชีวิตที่ไม่ต้องลงทุนเลย”
กว่า 20 ปีที่ผ่านมา ผมทำงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ ได้ค่าแรงวันละ 500 บาท แต่พอมีการสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง หนำซ้ำยังโดนโกงค่าแรงอีกกว่า 30,000 บาท ทำให้ตัดสินใจกลับบ้านเกิด ตั้งใจกลับมาทำอาชีพเกษตร
แม้ที่บ้านผมเป็นพื้นที่แล้ง ฝนไม่ตกต่อเนื่องกันหลายปี แต่พอเห็น “พ่อเข็ม เดชศรี” (เกษตรกรในเครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนฯ บ้านภูถ้ำ-ภูกระแต) ทำการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ มีสระน้ำเก็บในแปลง เห็นพ่อทำเป็นตัวอย่างแล้วรอด ผมก็ตั้งใจจะทำบ้าง เลยมาช่วยงาน มาเรียนรู้จากพ่อเข็มก่อน
“พ่อเข็มถ่ายทอดความรู้ทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องน้ำ พ่อเข็มบอกว่า ก่อนทำเกษตร ต้องมีทุนน้ำ ทุนฝนก่อน น้ำสำคัญมาก เราต้องมีสระ มีบ่อกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ และจัดการน้ำที่มีอยู่ให้ดี เพื่อให้ใช้ได้อย่างเพียงพอในระยะยาว ถ้าบ่อ หรือสระไม่พอก็ต้องขุดเพิ่ม ต้องหาทุนน้ำสู้อีก เพราะถ้า 3-4 ปีข้างหน้าแล้งอีก เราจะได้รอดได้”
ทุกวันนี้พวกเรามีที่กักเก็บน้ำ และใช้น้ำกันอย่างประหยัดมากน้ำที่ใช้กันในหมู่บ้าน เป็นน้ำฝนที่เก็บมาตั้งแต่ปี 60 เราใช้แต่น้ำมือ 2 คือ เอาน้ำจากการล้างบ่อเลี้ยงปลามาใช้รดน้ำต้นไม้ รดพืชผัก ไม่ได้ใช้น้ำมือ 1 เลย ขณะเดียวกัน ยังลดต้นทุนด้านการเกษตรด้วย อย่างปุ๋ย ต้องทำเองจากมูลสัตว์ หรือเศษซากพืชในแปลง ไม่ต้องซื้อปุ๋ยเคมี
“ตอนกลับบ้าน ไม่มีทุนเลย ผมเอาแรงมาเป็นทุน ช่วยพ่อเข็มทำก่อน พ่อเข็มเห็นเป็นคนตั้งใจจริงก็แบ่งพื้นที่ให้ 5 ไร่ไปทำกิน นาข้าวอีก 2 ไร่ ให้บ่อปลามาอีกบ่อ ผมก็เลี้ยงปลาหมอ ปลาดุก ปลูกพริก มะเขือ แตงกวามีรายได้พออยู่พอกิน ไม่ต้องซื้ออาหารกิน เอาของที่มีอยู่มากิน และยังมีรายได้จากการรับทำงานก่อสร้างแถวบ้าน ตอนนี้ พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ มีความสุข ไม่คิดกลับไปทำงานที่กรุงเทพฯอีกแล้ว”.
ทีมเศรษฐกิจ