วิเคราะห์ก้าวแรกของการพัฒนา CBDC ในภูมิภาค CLMVT

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

วิเคราะห์ก้าวแรกของการพัฒนา CBDC ในภูมิภาค CLMVT

Date Time: 31 ส.ค. 2564 10:58 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • ภาคเอกชน ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก ก็ได้เร่งริเริ่มที่จะนำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้ในระบบสถาบันการเงินในประเทศ จนเกิดการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง

Latest


  • CBDC หรือ Central Bank Digital Currency คือ สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง
  • การพัฒนา CBDC แบ่งเป็นการพัฒนาระดับธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน และระดับธุรกรรมรายย่อย
  • สถานะการพัฒนา CBDC โลกเป็นอย่างไร และภูมิภาค CLMVT อยู่ตรงจุดไหน

ปัจจุบัน การคิดค้นเทคโนโลยีกระจายศูนย์ข้อมูล (Distributed Ledger Technology: DLT) ที่มีความรวดเร็ว ปลอดภัย และสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้งานในด้านการชำระเงิน ได้นำไปสู่การพัฒนาสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) อย่างแพร่หลายในภาคเอกชนทั่วโลก เช่นเดียวกับภาคเอกชน ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกก็ได้เร่งริเริ่มที่จะนำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้ในระบบสถาบันการเงินในประเทศจนเกิดการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC)

จุดมุ่งหมายของการพัฒนา CBDC โลกที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และคาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อระบบเศรษฐกิจ?

การพัฒนา CBDC โดยธนาคารกลางต่างๆ ปัจจุบันนั้นสามารถแบ่งตามการใช้งานได้เป็น 2 ระดับ ได้แก่

- ระดับธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) : การสร้างเครือข่ายการโอนทรัพย์สินระหว่างสถาบันการเงินทั้งในและระหว่างประเทศ

- ระดับธุรกรรมรายย่อย (Retail CBDC) : การใช้สกุลเงินดิจิทัลแทนเงินสดในการทำธุรกรรมระหว่างประชาชนและธุรกิจรายย่อย

ในภาพรวม ทั้ง Wholesale CBDC และ Retail CBDC ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยมีเป้าหมายส่งเสริมการทำธุรกรรมทางการเงินให้รวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์หลักที่ได้จากการนำ DLT (โดยเฉพาะในรูปแบบบล็อกเชน) มาใช้โดยธนาคารกลาง ที่จะทำให้สามารถลดต้นทุนในการประมวลผลธุรกรรมทางการเงินลงได้อย่างมีนัย รวมทั้งยังสามารถตรวจสอบตัวตนของคู่สัญญาธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างรัดกุมมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ CBDC ทั้งสองประเภท หากถูกพัฒนาร่วมกันโดยกลุ่มประเทศในภูมิภาค ยังจะมีแนวโน้มนำไปสู่การเชื่อมโยงแพลตฟอร์ม และสนับสนุนให้ธุรกรรมระหว่างประเทศ (Cross-border Transactions) เป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และด้วยต้นทุนที่ต่ำลงอีกด้วยเช่นกัน

แต่ทว่าหากมองลึกลงไปกว่าประสิทธิภาพของระบบสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นนั้น การพัฒนาในระดับ Retail CBDC จะสามารถสร้างประโยชน์เพิ่มเติมได้ในอีกหลายด้าน โดยจะเป็นก้าวสำคัญต่อการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ได้แก่

1. การเข้าถึงสถาบันการเงิน (Financial Inclusion) จะเพิ่มมากขึ้น ตามระบบ Retail CBDC ที่จะสามารถเข้าใช้งานได้ง่ายและรวดเร็วเพียงผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยไม่จำเป็นต้องผูกติดกับบัญชีธนาคาร ซึ่งข้อดีในจุดนี้ โดยเฉพาะสำหรับในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จะช่วยให้กลุ่มประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้มาก่อนนั้น มีโอกาสหันมาเลือกใช้ Retail CBDC ที่สะดวกกว่าการถือเงินสดเพิ่มมากขึ้น

2. ช่องทางการดำเนินนโยบายทางการคลัง (Fiscal Policy) ของภาครัฐที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหลังมีการใช้ CBDC แทนเงินสดอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น ภาครัฐสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน CBDC โดยประชากรสามารถนำเงินช่วยเหลือในรูปแบบดิจิทัลออกมาจับจ่ายใช้สอยได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการเปิดบัญชีธนาคาร หรือเบิกจ่ายกับหน่วยงานของรัฐ

นอกจากนี้ ภาครัฐยังสามารถเข้าถึงข้อมูลการจับจ่ายใช้สอยของประชากรในแต่ละกลุ่มสังคมเศรษฐกิจ (socioeconomic group) ซึ่งอาจต้องการความช่วยเหลือที่แตกต่างกัน การมี Retail CBDC platform จะช่วยให้ภาครัฐสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมาย และตั้งเงื่อนไขของมาตรการช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น

3. การเพิ่มประสิทธิภาพของธนาคารกลางในการดำเนินนโยบายทางการเงิน (Monetary Policy) โดยการใช้ Retail CBDC แทนเงินสดนั้น จะช่วยให้ธนาคารกลางสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลปริมาณและการไหลเวียนของเงินในระบบได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแผนนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมี CBDC อีกประเภทที่มีการจ่ายอัตราดอกเบี้ยในการถือครอง ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ธนาคารกลางใช้ส่งผ่านผลของอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้โดยตรง

ทั้งนี้ การพัฒนา Retail CBDC สำหรับธนาคารกลางในหลายประเทศนั้น อาจจัดได้ว่าเป็นดาบสองคม ซึ่งต้องพึงระวังผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินดั้งเดิมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะสำหรับ CBDC ประเภทที่จะถูกสร้างให้มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

โดยในทางทฤษฎีนั้น ความสะดวกสบายในการใช้งาน CBDC แทนเงินสด ประกอบกับผลตอบแทนจากการถือครอง CBDC จะเป็นแรงจูงใจหลักที่เร่งให้ประชาชนหันมาใช้งาน CBDC เพิ่มมากขึ้น แต่ทว่าหากดอกเบี้ยจากการถือ CBDC อยู่ในระดับที่สูงเกินไปนั้น ก็อาจเกิดแรงจูงใจที่ทำให้ประชาชนเลือกถือครอง CBDC แทนเงินฝากปกติด้วยเช่นกัน

จุดนี้เอง หากเกิดการไหลออกของเงินฝากในธนาคารพาณิชย์สู่ CBDC ที่รวดเร็วเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาธนาคารพาณิชย์ขาดสภาพคล่องและเงินทุนในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลกระทบด้านลบต่อภาคธุรกิจได้ เพื่อป้องกันปัญหาสภาพคล่องที่จะเกิดขึ้น ธนาคารพาณิชย์ย่อมต้องปรับตัวด้วยการเร่งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้สูงขึ้นกว่าผลตอบแทนจาก CBDC แต่วิธีนี้ก็จะตามมาด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นและทำให้ธนาคารเหล่านั้นอาจต้องเลือกที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หรือปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงมากขึ้น

ท้ายที่สุดนั้นผลกระทบก็จะตกอยู่กับระบบสถาบันการเงินที่จะเปราะบางมากกว่าเดิม ด้วยเหตุเหล่านี้ธนาคารกลางทั่วโลกจึงดำเนินการพัฒนา CBDC ด้วยความระมัดระวัง โดยประเทศส่วนใหญ่เริ่มต้นจาก Wholesale CBDC ก่อน ในขณะที่บางประเทศได้พัฒนา Retail CBDC ในรูปแบบที่ใช้แทนเงินสดเท่านั้น และยังไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย

สถานะการพัฒนา CBDC โลกเป็นอย่างไร และภูมิภาค CLMVT อยู่ตรงจุดไหน?

ผลสำรวจล่าสุดโดย Bank of International Settlement พบว่า 86% ของธนาคารทั่วโลกกำลังดำเนินงานวิจัยเทคโนโลยี CBDC โดย 60% อยู่ในขั้นทดสอบระบบ ขณะที่เพียง 14% ได้เริ่มมีการทดลองใช้จริงในกลุ่มประชากรตัวอย่าง แม้ว่ากลุ่มประเทศที่มีการทดลองใช้ CBDC จริงแล้วประกอบด้วยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักในโลก เช่น จีน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป แต่เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่าภูมิภาค CLMVT อยู่ในจุดที่ล้ำหน้ากว่าหลายชาติอื่นในโลกด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะไทยและกัมพูชา ซึ่งถูกจัดอันดับโดย PwC ว่าอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกในด้านการพัฒนา Wholesale CBDC และ Retail CBDC ตามลำดับ

สำหรับไทยนั้น โครงการอินทนนท์ซึ่งเป็น Wholesale CBDC ได้ถูกพัฒนาโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงในปี 2563 ได้พัฒนาไปถึงจุดที่มีการทดสอบการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน โดยเชื่อมต่อกับ Project LionRock ของฮ่องกงได้สำเร็จ นอกจากนี้ ล่าสุดในปีนี้ ทาง ธปท.ยังได้เริ่มทำการศึกษาวิจัยต่อยอดไปสู่การทำ Retail CBDC แล้วเช่นกัน โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นว่าจะมีการทดสอบใช้จริงในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2565

ทั้งนี้ platform Retail CBDC ที่ก้าวหน้าที่สุดและต้องจับตามอง ได้แก่ บากอง (Bakong) ในกัมพูชา ซึ่งได้ถูกเริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 2559 โดย National Bank of Cambodia และได้เปิดใช้งานจริงแล้วตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2563 โดยเป็นเพียงหนึ่งในสองประเทศทั่วโลก (อีกประเทศได้แก่ หมู่เกาะบาฮามาส) ที่ได้มีการเปิดใช้ Retail CBDC อย่างเป็นทางการ

ในขั้นตั้งต้นนี้ Bakong ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างระมัดระวังเพื่อตอบจุดประสงค์ของการทดแทนธุรกรรมเงินสดเป็นหลัก และยังไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย ผลสำรวจล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2564 พบว่า Bakong มีการตอบรับที่ดีจากชาวกัมพูชา โดยชาวกัมพูชาได้มีการเปิดบัญชี CBDC ถึงกว่า 1 แสนบัญชี และทำธุรกรรมกับบุคคลและธุรกิจต่างๆ ผ่านบัญชีเหล่านี้ถึงกว่า 5 ล้านราย

การพัฒนา Retail CBDC ในกัมพูชาที่รุดหน้า มีสาเหตุมาจากปัจจัยภายในประเทศที่สำคัญ ได้แก่

- ระดับการเข้าถึงระบบสถาบันการเงินที่ต่ำ โดยมีชาวกัมพูชาเพียง 20% เท่านั้นที่มีบัญชีธนาคาร ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่จับจ่ายใช้สอยด้วยเงินสดเป็นหลัก ดังนั้น การออกแบบ Retail CBDC เพื่อตอบโจทย์การใช้จ่ายแทนเงินสดสำหรับประชากรเหล่านี้จึงสามารถสร้างแรงจูงใจต่อการถือ CBDC ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ การที่เงินหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจกัมพูชาส่วนใหญ่ยังอยู่ในรูปเงินสด ความเสี่ยงต่อสภาพคล่องภาคสถาบันการเงินในกัมพูชาจากการไหลออกของเงินฝากในธนาคารพาณิชย์สู่ CBDC จึงจัดได้ว่าอยู่ในระดับต่ำมากเช่นกัน

- โครงสร้างประชากรที่เอื้อต่อการตอบรับเทคโนโลยีดิจิทัล โดยประชากรของกัมพูชาส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มคนอายุน้อย (ค่ามัธยฐานเพียง 26.4 ปี) รวมทั้งมีการใช้งานโทรศัพท์มือถืออย่างแพร่หลาย (เฉลี่ยจดทะเบียน 1.3 เบอร์โทรศัพท์ต่อ 1 คน) ทำให้การเรียนรู้และตอบรับต่อนวัตกรรมทางการเงินในรูปแบบใหม่สามารถเป็นไปได้โดยง่าย

ท้ายที่สุดนั้น คำถามที่ตามมาคือ แนวโน้มการพัฒนา Retail CBDC สำหรับประเทศ LMVT (สปป.ลาว, เมียนมา, เวียดนาม และไทย) จะเป็นอย่างไร?

บทเรียนล่าสุดที่ได้จากกัมพูชาคือ ประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเข้าถึงสถาบันการเงินในระดับต่ำ แต่มีโครงสร้างประชากรที่พร้อมตอบรับเทคโนโลยีใหม่ นับได้ว่าเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญต่อการพัฒนาเงินดิจิทัลให้เข้ามาทดแทนเงินสด และดึงประชากรส่วนมากเข้าสู่ระบบสถาบันการเงินมากขึ้น สำหรับปัจจัยเหล่านี้ทั้ง สปป.ลาว เมียนมา และ เวียดนาม ล้วนมีประชากรน้อยกว่า 30% ที่เข้าถึงบัญชีธนาคาร

ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ยังมีอายุน้อย (ค่ามัธยฐานต่ำกว่า 30 ปี) แต่มีการเข้าถึงบริการโทรศัพท์มือถือในระดับที่สูง (เฉลี่ยมากกว่า 1 เบอร์โทรศัพท์ต่อคน) ด้วยปัจจัยแวดล้อมด้านประชากรที่คล้ายคลึงกับกัมพูชา ทำให้คาดได้ว่าการพัฒนา Retail CBDC จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประเทศเหล่านี้เช่นกัน และมีศักยภาพที่จะตามทันกัมพูชามาได้ในเวลาไม่ช้า

สำหรับประเทศไทยนั้นจัดได้ว่าอยู่ในจุดที่แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งด้านการเข้าถึงสถาบันการเงินและโครงสร้างประชากร โดยกว่า 86.1% ของประชากรไทยมีบัญชีธนาคาร ในขณะที่อายุประชากรก็อยู่ในระดับสูงกว่า (ค่ามัธยฐาน 39 ปี) ดังนั้น การพัฒนา Retail CBDC ในไทยจึงควรเป็นไปด้วยความระมัดระวังไม่ให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อระบบการเงินดั้งเดิมของไทยที่ได้ลงรากลึกมาแล้ว

ทั้งนี้ ทาง ธปท. ได้ออกแบบ Retail CBDC ในลักษณะคล้ายเงินสด ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย และมีการจำกัดวงเงิน ซึ่งการออกแบบในลักษณะนี้ทำให้ลดความเสี่ยงเงินทุนไหลออกจากสถาบันการเงินได้ค่อนข้างมาก นอกจากนี้ประเด็นด้านการตอบรับเทคโนโลยีของกลุ่มประชากรสูงวัยอาจไม่เป็นข้อจำกัดมากนักในอนาคตเช่นกัน สะท้อนได้จากการตอบรับเป็นอย่างดีต่อมาตรการช่วยเหลือภาครัฐต่างๆ ที่ออกมาในปี 2563-2564 ผ่านระบบแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน ซึ่งได้ปูพื้นฐานการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลของไทยให้อยู่ในระดับสูงขึ้นแล้ว.

บทความโดย
ดร.ปพน เกียรติสกุลเดชา
นักวิเคราะห์
Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
eic@scb.co.th | EIC Online: www.scbeic.com


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ