ยุทธศาสตร์ “ทอท.” ฝ่าโควิด กู้เพิ่ม 2.5 หมื่นล้านลงทุนรับวันเปิดประเทศ

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ยุทธศาสตร์ “ทอท.” ฝ่าโควิด กู้เพิ่ม 2.5 หมื่นล้านลงทุนรับวันเปิดประเทศ

Date Time: 26 ส.ค. 2564 07:05 น.

Summary

  • “นิตินัย” เอ็มดี ทอท.ประกาศยุทธศาสตร์พร้อมเปิดสนามบิน รับการเปิดประเทศ หากโควิด-19 คลี่คลาย แจงสี่เบี้ยต้องกู้เงินเสริมสภาพคล่องอีก 25,000 ล้านบาท

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

“นิตินัย” เอ็มดี ทอท.ประกาศยุทธศาสตร์พร้อมเปิดสนามบิน รับการเปิดประเทศ หากโควิด-19 คลี่คลาย แจงสี่เบี้ยต้องกู้เงินเสริมสภาพคล่องอีก 25,000 ล้านบาท เหตุสภาพคล่องในองค์กรเหลือเพียง 17,000 ล้านบาท หลังจากเคยเป็นเสือนอนกินมีกำไรปีละ 20,000 ล้านบาท

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เปิดเผยว่า จากที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 จนส่งผลให้หลายๆธุรกิจโดยเฉพาะอุตสาหกรรมทางการบินได้รับผลกระทบอย่างหนักจนเป็นลูกโซ่ และ ทอท.ที่เป็นผู้ให้บริการสนามบิน เมื่อธุรกิจการท่องเที่ยวไม่สามารถเดินต่อไปได้ ย่อมส่งผลต่อธุรกิจทางการบินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กระทบเป็นโดมิโน

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ทอท. มีผู้โดยสารที่เดินทางผ่านเข้า-ออกรวม 6 สนามบิน อยู่ที่ประมาณวันละ 400,000 คน และตลอดทั้งปีมีปริมาณผู้โดยสารเดินทางผ่านเข้า-ออกสนามบินรวมกว่า 140 ล้านคน แต่เมื่อมีการแพร่ระบาด ผู้โดยสารได้ลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ยวันละ 2,000-4,000 คนเท่านั้น นอกจาก ทอท.ได้รับผลกระทบแล้ว ผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ภายในสนามบินก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งผู้ประกอบการที่มีสัญญากับ ทอท.ภายในสนามบิน มีกว่า 1,000 สัญญา

นายนิตินัยกล่าวยอมรับว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นและมีระยะเวลาที่ยาวนานกว่า 1 ปีครึ่ง ทำให้ ทอท. และผู้ประกอบการทุกธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมที่ดำเนินการในสนามบินต่างได้รับผลกระทบ ทอท.ได้แต่หวังว่าผู้ประกอบการในสนามบินที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม การบินจะเพียงแค่ถูกทำลาย (damage) แต่ไม่ได้ตายจาก (disrupt) จากโควิด-19

สำหรับสถานะทางการเงิน หรือสภาพคล่องของ ทอท.ยอมรับว่า ในช่วงที่เปิดให้บริการตามปกติก่อนวิกฤติ ทอท. มีรายได้กว่าปีละ 40,000-50,000 ล้านบาท มีกำไรกว่าปีละ 20,000 ล้านบาท มีสภาพคล่องเงินสดในมือสูงถึง 77,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบวิกฤติโควิด-19 ทอท.มีสภาพคล่องในมือเหลือเพียง 17,000 ล้านบาทเท่านั้น ส่งผลให้เงินจำนวนดังกล่าว ทอท.จะใช้ได้ถึงแค่ภายในสิ้นปีเท่านั้น

ดังนั้น ทอท.จึงมีแผนในปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.64-ก.ย.65) ที่จะกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องจำนวน 25,000 ล้านบาท โดยยอมรับว่าเงิน ที่จะกู้จำนวนดังกล่าวจะมาบริหารจัดการในองค์กร รวมถึงแผนการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิด้วย

สนามบินพร้อมบริการหลังเปิดประเทศ

นายนิตินัยยังได้กล่าวต่ออีกว่า หากสถานการณ์ดีขึ้น ทิศทางการดำเนินการของ ทอท.จะเป็นไปในทิศทางใด ในเรื่องนี้ก็หมายถึงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะต้องลดลง รัฐบาลมีนโยบายเปิดน่านฟ้าประเทศอย่างจริงจัง ทอท.ก็พร้อมที่จะกลับมาให้บริการอย่างเต็มรูปแบบทันที

สำหรับความพร้อมของผู้ประกอบการ ภายในสนามบินอาจเป็นโจทย์ใหญ่ของ ทอท.เนื่องจากผู้ประกอบการภายในสนามบินทั้งสายการบิน ผู้ประกอบการพื้นที่เชิงพาณิชย์ สินค้าบริการภาคพื้น จะมีการเกิดวิกฤติที่แตกต่างกันไป ในเรื่องนี้ ทอท.ไม่นิ่งนอนใจได้เตรียมแผนเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องทางธุรกิจรองรับสถานการณ์ไว้แล้ว ด้วยการจัดตั้งบริษัทลูก ทอท.ขึ้น ทั้งบริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด หรือ AOTGA, บริษัท รักษาความปลอดภัย ท่าอากาศยานไทย จำกัด หรือ AVSEC และบริษัท AOT Tafa Operator หรือ AOTTO ที่เป็นการร่วมลงทุนกับสมาคมตัวแทนส่งสินค้าทางอากาศไทย (TAFA) เพื่อดำเนินกิจการศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออก (Certify Hub)

“การเตรียมการรองรับปกติใหม่ (New normal) จะเน้นการให้บริการที่ลดการสัมผัสระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ใช้บริการ ซึ่งในส่วนนี้จะนำระบบเทคโนโลยีด้านไอทีเข้ามาใช้แทนบุคลากร”

แผนลงทุนยังเดินหน้า

นายนิตินัย กล่าวต่อว่า ในส่วนแผนการก่อสร้างโครงการพัฒนาส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion) วงเงิน 42,000 ล้านบาท โครงการพัฒนาส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 ด้านทิศตะวันตก (West Wings) และตะวันออก (East Wings) วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท กรอบวงเงินรวมทั้งหมด 57,000 ล้านบาทตามแผนพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ทอท.ยังคงเดินหน้าเช่นเดิม เพื่อรองรับการเติบโตของผู้โดยสารในอนาคต ซึ่งคาดว่าในปี 2566 สถานการณ์จะกลับมาสู่ภาวะปกติ ผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีผู้โดยสาร 65 ล้านคน ซึ่งเกินความสามารถในการรองรับของสนามบินสุวรรณภูมิที่รองรับได้เพียง 45 ล้านคน

ขณะที่แผนพัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะที่ 3 วงเงินลงทุน 38,000 ล้านบาท เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะรองรับผู้โดยสารเพิ่มจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 40 ล้านคนต่อปี

ที่สำคัญนอกเหนือจากการพัฒนาศักยภาพ ของสนามบินแล้ว ทอท.ยังมีแผนเพิ่มรายได้จากกิจการที่ไม่เกี่ยวกับการบิน (Non-Aeronau-tical Revenue) โดยมีแนวคิดต่อยอดพัฒนาทรัพย์สิน (ที่ราชพัสดุ) ของกรมธนารักษ์ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ พื้นที่รวม 1,200 ไร่ แบ่งเป็นที่ดินแปลงที่ 37 เนื้อที่ 1,470 ไร่ อยู่ด้านนอกอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ยังเหลือ 700 ไร่ และที่ดินของ ทอท.เนื้อที่ 723 ไร่ ปัจจุบันเหลือใช้ 500 ไร่ ซึ่งในส่วนที่ดินราชพัสดุ ขณะนี้ ทอท.ได้ลงนามข้อตกลงขยายสัญญาเช่าออกไปอีก 20 ปี จากเดิมหมดสัญญาในปี 2575 ขยายเป็นปี 2595 เพื่อทำให้แผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ ที่จะเชิญชวนเอกชนเข้ามาลงทุนได้ง่ายขึ้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ