เสียงครวญจากคน "กองถ่าย" ในวันที่ต้องผันตัวจากงานที่รักไปหาจ๊อบเสริม

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เสียงครวญจากคน "กองถ่าย" ในวันที่ต้องผันตัวจากงานที่รักไปหาจ๊อบเสริม

Date Time: 24 ส.ค. 2564 09:48 น.

Video

“ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ถอดคราบ “ยักษ์เขียว” มุ่งสู่ขนส่งครบวงจร | Thairath Money Talk

Summary

  • ไม่มีงาน ก็ไม่มีเงิน สายงานโปรดักชันในวันที่ไม่ได้ออกกอง เพราะโควิดยังระบาดไม่หยุด ผันตัวทำงานเสริมระหว่างรอปลดล็อกกองถ่าย รายได้หดถึงขั้นติดลบ

Latest


ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด มีหลายกิจการ หลายงานที่ต้องหยุดพักไป กองถ่ายที่เกี่ยวข้องกับงานวงการบันเทิง เช่น ภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ MV เพลง ก็เช่นเดียวกัน โดยลักษณะการทำงานเป็นแบบรวมกลุ่ม มีหลายฝ่ายหลายแผนก ทั้งผู้กำกับ ฝ่ายประสานงาน ช่างแต่งหน้า ช่างภาพและผู้ช่วยช่างภาพ ฝ่ายสถานที่ ฯลฯ สุ่มเสี่ยงต่อโรคระบาด ต้องงดออกกองชั่วคราวตามมาตรการของรัฐบาล แต่ถึงจะกลับมาออกกองได้ก็ต้องมีมาตรการป้องกันที่เคร่งครัด ทำให้เกิดความยุ่งยากเมื่อจะถ่ายทำ ทำให้บางงานในกองต้องหยุดพักไปก่อน เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจึงกลับมาถ่ายทำได้อีกครั้ง

ทำให้คนที่ทำงานด้านนี้ บางส่วนต้องออกไปทำอาชีพอื่น หางานเสริม หรืองานฟรีแลนซ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสายอาชีพนี้ชั่วคราว เพราะไม่รู้ว่าจะได้กลับมาออกกองอีกทีเมื่อไร

รายได้หายหมดเพราะโควิด

"นักล่าฝัน" พาไปคุยกับ อาร์ต-กฤษฎา บุญฤทธิ์ ช่างภาพกองถ่ายฟรีแลนซ์ เริ่มต้นว่า ปี 64 ตั้งแต่เรียนจบก็เป็นช่างภาพกองถ่ายเลย เพราะทำมาตลอดตั้งแต่เรียนปี 2 จนถึงปัจจุบัน ช่วงก่อนโควิดมีงานให้ทำเรื่อยๆ มีงานทุกสัปดาห์ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 งาน เป็นรายการช่องยูทูบ ของบริษัทสื่อออนไลน์แห่งหนึ่ง และยังมีงานอื่นๆ เช่น MV เพลงเธอคนนั้นที่ฉันคิดถึงทุกวัน ของศิลปิน Slt.(เป็นเช่นนั้นเอง)

ส่วนใหญ่จะมีรายได้ 3,000 บาทต่องาน ซึ่งบางงานไม่ได้ถ่ายวันเดียวจบ ต่างจากคนอื่นๆ ในสายงานเดียวกันที่มีรายได้มากกว่า เช่น 5,000 บาทต่อคิว หรือมากสุดก็ราวๆ หมื่นกว่าบาทขึ้นอยู่กับฝีมือ แล้วแต่ผู้ว่าจ้างด้วย ส่วนตัวผม ประสบการณ์ยังน้อยก็พยายามทำผลงาน เก็บประสบการณ์จนกว่าจะเรียกเงินใกล้เคียงกับคนอื่นๆ ได้

เมื่อโควิดมากองถ่ายก็หยุดไป จึงตระเวนหางานประจำอยู่หลายงาน เคยหาสมัครงานร้านหนังสือก็มี แต่ไม่มีที่ไหนรับ เพราะติดช่วงล็อกดาวน์ ประกอบกับสภาพรถมอเตอร์ไซค์ไม่พร้อมที่จะรับงานไรเดอร์ส่งอาหาร ช่วงนี้ต้องใช้เงินเก็บที่มีประทังชีวิตตัวเอง ถึงขนาดที่ว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารหลัก และมาตรการงดเดินทางข้ามจังหวัด ก็ทำให้เขาไม่สามารถไปทำงานที่บ้านเกิดได้

ขณะเดียวกันไม่ได้สมัคร ม.40 ของประกันสังคมไว้ด้วย เพราะว่าติดสถานะเป็นนักศึกษาอยู่ เกิดปัญหาที่กระบวนการของมหาวิทยาลัย แม้ตัวเองจะเรียนจบมาสักพักแล้วก็ตาม เขาบอกว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจและภาวะโรคระบาดแบบนี้ มองไปทางไหนก็แย่ไปหมด ไม่รู้ว่าจะได้กลับมาทำงานกองถ่ายอีกเมื่อไร คิดไม่ตกว่าหากสถานการณ์โรคระบาดยืดเยื้อต่อไปจะทำอย่างไรดี 

ส่วนสวัสดิการ อาร์ตอยากให้มี "สหภาพแรงงาน" สำหรับชาวฟรีแลนซ์โดยเฉพาะ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแรงงาน เช่น การวางบิลค่าจ้าง เพราะว่าหากไม่มีหน่วยงานมาดูแลไม่รู้ว่าจะไปเรียกร้องสิทธิ์จากใครได้ และฝากถึงคนที่เข้ามาเป็นฟรีแลนซ์ว่าเตรียมเงินสำรอง รองรับกับความไม่แน่นอนไว้ และที่สำคัญต้องมี Connection ตั้งแต่เริ่ม จะช่วยให้หางานง่ายขึ้น และฝากให้ทุกคนสู้ไปด้วยกันในภาวะโรคระบาดแบบนี้

จากพนักงานประจำไปสู่ฟรีแลนซ์ 

เบญญาภา คุณเลิศ หรือ บีม สาวที่คลุกคลีในสายงานกองถ่าย บอกว่าเริ่มแรกเป็นพนักงานประจำมาก่อน อยู่ในบริษัทเอเจนซี่แห่งหนึ่ง ทำหน้าที่ Co-Producer หรือผู้ช่วยคนผลิตรายการให้เพจ LDA ช่วงนั้นเป็นช่วงก่อนโควิด มีงานเข้ามาเยอะมาก เป็นงานประจำมีรายได้แน่นอน มีสวัสดิการมั่นคงอยู่แล้ว มีการหักเงินเดือนสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ม.33 ทำอยู่ประมาณ 7 เดือนก็ลาออกที่แรก

ในช่วงระหว่างที่ย้ายงานไม่ได้ใช้สิทธิ์ ม.39 เพราะลาออกจากงานเก่า 3 วันถัดมาก็ได้งานใหม่พอดี มาทำโปรดักชันเฮาส์ ในกองซีรีส์เรื่องหนึ่ง ทำหน้าที่ Assistant Production Manager หรือ ผู้ช่วย PM คอยประสานงานกับคนในกอง ก็กึ่งจะเป็นพนักงานประจำ ช่วงแรกคิดว่าทางบริษัทใหม่จะต่อประกันสังคมให้ เธออ้างว่าอยู่ในช่วงทดลองงาน บริษัทจึงไม่ได้ต่อประกันสังคม แต่มีสวัสดิการเหมือนพนักงานประจำ เพียงแค่รายได้คล้ายคนทำฟรีแลนซ์ มีใบหักภาษี ณ ที่จ่าย แม้จะเป็นช่วงโควิดรอบ 2 แต่ก็ถ่ายซีรีส์จนจบ ปิดกล้องเรียบร้อย และไม่นานก็ลาออกจากบริษัท  

เมื่อปี 63 เห็นว่าเพื่อนสนิทกำลังจะมีโปรเจกต์ถ่ายซีรีส์ จึงตัดสินใจลาออกจากโปรดักชันเฮาส์ มาเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัว เมื่อเดือน ธ.ค.63 พอถ่ายซีรีส์ในกองเพื่อนจบ ก็รับงานฟรีแลนซ์ต่อเรื่อยๆ บางครั้งโดนเบี้ยวค่าจ้างบ้าง เลยค่อนข้างลำบาก เพราะคำนวณค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนไว้อยู่แล้ว จึงต้องใช้เงินเก็บที่มีประทังชีวิต หลังจากนั้นไปสมัครงานเป็นแอดมินเพจย่างเนย ทำประสานงาน รายได้ลดฮวบเหลือหลักพันบาทต่อเดือนเท่านั้น ต่างจากที่เคยมีงานออกกองเท่าตัว 

พูดถึงออกกองยุคโควิด ช่วงที่ยังไม่มีมาตรการงดออกกอง บีมบอกว่าอาชีพเรามีความเสี่ยงตรงที่ต้องอยู่กับคนเยอะ พยายามป้องกันตนเองเต็มที่ ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือสม่ำเสมอ อาหารในกองก็เปลี่ยนด้วย จากเดิมอาหารในกองจะเป็นแบบถาด ให้ตักราดข้าว แต่ปัจจุบันปรับเปลี่ยนมาเป็นแยกกล่อง แยกกันรับประทาน เป็นต้น

กองเดียวกันรายได้คนละแบบ

บีมยังบอกอีกว่า รายได้คนในกองถ่ายแบ่งตามหน้าที่ที่ได้รับ 2 แบบ ดังนี้

- จ้างเหมาวางบิล เช่น ผู้กำกับ ช่างภาพ ช่างไฟ ผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ จะได้รับเงินก็ต่อเมื่อมีการวางบิลเรียกเก็บจากบริษัทที่ว่าจ้าง

- จ้างรายวัน เช่น ช่างแต่งหน้า ฝ่ายสวัสดิการต่างๆ

นอกจากนี้ ยังมีค่ารักษาพยาบาลจากประกันภัยกลุ่มตลอดโปรเจกต์ถ่ายทำ แต่หากเกิดอุบัติเหตุหลังโปรเจกต์ถ่ายทำ จะเบิกประกันไม่ได้

รายได้ของเธอจะแบ่งเป็นงวด งวดละราวๆ 1 หมื่นบาท แต่บางครั้งก็ได้ตามคิวที่ถ่ายไว้ เช่น กองมี 12 คิว ตัวเองจะได้เงินเมื่อถ่ายจบครึ่งแรก อีกครึ่งหนึ่งต้องรอตอนปิดกล้อง เป็นต้น แม้รายได้จะมีความไม่แน่นอนอยู่บ้าง แต่ก็เห็นว่าฟรีแลนซ์คือโอกาส ตรงที่มีอิสระในการรับงาน แต่ก็ต้องยอมเสี่ยงหางานอื่นๆ ไว้ด้วย เพราะบางทีไม่มีงานกองถ่ายเข้ามาเลย

เธอได้สมัคร ม.40 ของประกันสังคมไว้ตั้งแต่มาเป็นฟรีแลนซ์ แต่รู้สึกว่าเงินเยียวยา 5,000 บาท ไม่พอ เนื่องจากไม่ได้ออกกองทำงานตามปกติ หากเป็นไปได้ก็อยากให้กองถ่ายกลับมาถ่ายทำให้เร็วที่สุด เพราะคนในสายอาชีพนี้เดือดร้อนมาก ถ้าไม่มีงานเท่ากับไม่มีเงิน ในส่วนของสวัสดิการที่อยากได้ คืออยากให้บริษัทที่จ้างงานจ่ายเงินตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ เพราะมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง 

สำหรับคนที่จะเข้ามาทำงานฟรีแลนซ์ อยากฝากไว้ว่าต้องมีความรู้ในสายงานที่ถูกว่าจ้าง และที่สำคัญต้องเก็บเกี่ยว Connection ไว้ด้วย ถ้าหากไม่มีจะหางานลำบากในสถานการณ์แบบนี้

รายได้ดีแต่ก็ต้องอยู่กับความไม่แน่นอน

ณัฐชัย เครือเสนา หรือ นัท ผู้ผันตัวจากพนักงานประจำเป็นฟรีแลนซ์ บอกว่า ตัวเองเคยเป็นพนักงานประจำตั้งแต่ตอนเรียบจบหมาดๆ ส่วนนี้ไม่ได้ทำประกันสังคม เนื่องจากบริษัทที่ทำเป็น Production House หรือบริษัทผลิตสื่อ มีการออกกองถ่ายโดยเฉพาะ แต่ได้สลิปเงินเดือนตามปกติ พอทำได้สักพักก็ตัดสินใจลาออกเพราะรู้สึกว่ารายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

หลังจากที่ออกจากงานประจำก็ผันตัวเป็นฟรีแลนซ์ งานแรกเป็นผู้กำกับซีรีส์ เขาบอกเลยว่ารายได้งาม เป็นหมื่นบาทต่อวัน แต่หน้าที่นี้ก็มีความเสี่ยงมากกว่าหน้าที่อื่นในกอง เนื่องจากหากทำผิดคำสั่งของผู้ว่าจ้าง ผู้กำกับต้องเป็นคนรับผิดชอบเองทั้งหมด ส่วนใหญ่หากเป็นงานซีรีส์จะได้เงินเป็นโปรเจกต์ แต่ก็มีที่จ่ายเป็นเดือน และบางครั้งก็จ่ายเป็นงวดระหว่างถ่ายทำ ต้องแล้วแต่ตกลงกับบริษัทผู้ว่าจ้าง แต่ก็เห็นว่างานฟรีแลนซ์คือโอกาส ที่มีอิสระรับงานเอง

เมื่อมีข่าวออกมาว่าให้งดกองถ่าย เขาจะใช้เวลาว่างไปทำคอนเทนต์ออนไลน์เกี่ยวกับร้านอาหาร ทำโปรโมตในเพจเฟซบุ๊ก แต่โควิดมาคอนเทนต์ก็หยุดชะงักตามไปด้วย เพราะเป็นช่วงร้านอาหารปิด ต้องพึ่งพาการทานอาหารที่ร้าน ถึงจะมีคอนเทนต์ลงเพจ แต่เขายังไม่ทิ้งงานกองถ่าย ช่วงว่างจากงานคอนเทนต์คิดงานขั้น Pre-Production หรือวางแผนล่วงหน้าก่อนออกกองทำงานจริง อย่างการคิดบทซีรีส์เรื่องต่อไป ระหว่างรอให้กองถ่ายกลับมาถ่ายทำได้อีกครั้ง

โควิดมารายได้จากกองถ่ายเป็นศูนย์

ช่วงก่อนมีโควิดกับช่วงโควิดระบาด รายได้ต่างกับลิบลับ เพราะช่วงปกติบางเดือนได้รายได้ถึง 6 หลัก มีงานมากกว่า 1 กองให้ทำ ทั้งถ่ายซีรีส์เรื่อง Second Chance the series จังหวะจะรัก ผู้กำกับ MV เพลง Rocket ของศิลปินวง I-MI วงไอดอลสาวจากค่าย Dream Maker 66 และ MV เพลงกล่อม ของวงดนตรี Finalcall ด้วย แต่พอโควิดระบาดปุ๊บ รายได้ต่างจากเดิมถึง 80% บางทีไม่มีรายได้ส่วนที่อยู่ในกองถ่ายเลย ต้องใช้เงินจากที่ทำคอนเทนต์ออนไลน์มาใช้จ่ายประจำวัน

เขาคิดว่าจากที่ทำงานสายนี้มา กองถ่ายมีความเสี่ยงโควิดอยู่บ้าง คงต้องคิดหาวิธีการที่อยู่กับไวรัสนี้ให้ได้ หากทางภาครัฐปลดล็อกเรื่องกองถ่าย ให้มีมาตรการเข้มงวดแต่ไม่จำกัดคนคงจะดีกว่านี้ เพราะงานกองถ่ายลดคนไม่ได้ หากถูกลดจำนวนคน แต่ละคนที่ทำงานอยู่จะมีหน้าที่ล้นมือ ไม่ดีต่อคนทำงานในกองแน่

ปลดล็อกกองถ่ายดีกว่าเยียวยา

ส่วนตัวได้สมัคร ม.40 ของประกันสังคมไว้ แต่รู้สึกว่าไม่อยากได้เงินเยียวยา อยากให้ภาครัฐปลดล็อกเรื่องกองถ่าย ให้เขาและคนอื่นๆ ในสายงานนี้ สามารถออกกองทำงานได้ตามปกติ พร้อมทั้งมีมาตรการป้องกันตัวเองอย่างเข้มข้น

"ในเรื่องสวัสดิการ อยากให้องค์กรของรัฐ มาช่วยกำกับดูแลฟรีแลนซ์โดยเฉพาะ ในเรื่องของค่าจ้าง เพราะสายงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่วงการบันเทิง เช่น กราฟิกดีไซน์ คอนเทนต์ เขามีรายได้ไม่เท่าไร บางคนเขาไม่มีโอกาสที่ได้รายได้เท่าเรา นอกจากนี้ต้องมีมาตรการเยียวยาที่ชัดเจน และการช่วยเหลือคุ้มครองสำหรับสายฟรีแลนซ์ เช่น ในกรณีโดนฟ้องร้องจากบริษัท เป็นต้น อยากให้มีองค์กรที่กำกับดูแลด้านนี้อย่างจริงจัง เพื่อประโยชน์ของชาวฟรีแลนซ์ทุกคน"

สุดท้ายนี้นัททิ้งท้ายได้น่าสนใจว่า คนที่เป็นฟรีแลนซ์ต้องขยัน และหาจุดเด่นของตัวเองให้เจอ แต่ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงต่างๆ ทั้งวางแผนการใช้เงินมากกว่าคนที่ทำงานประจำ มีรายได้ที่แน่นอน และที่สำคัญต้องสร้าง Connection อย่าลดค่าจ้างสายงานของตัวเองเด็ดขาด เพราะเป็นการดูถูกสายอาชีพของตัวเอง คนที่อยากมาเป็นฟรีแลนซ์ต้องคิดให้รอบคอบเสมอ

ผู้เขียน : นักล่าฝัน nathaorn.s@thairathonline.co.th

กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์