ในวันที่ไร้คนแวะมาหาน้อง...สวนสัตว์ คาเฟ่สุนัข ขอโลดแล่นในโลกออนไลน์

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ในวันที่ไร้คนแวะมาหาน้อง...สวนสัตว์ คาเฟ่สุนัข ขอโลดแล่นในโลกออนไลน์

Date Time: 20 ส.ค. 2564 10:00 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • สวนสัตว์-คาเฟ่หมา เจ็บหนักช่วงล็อกดาวน์ เร่งหากลยุทธ์ดึงคนรักสัตว์ ทาสหมา กังวลโควิดยืดเยื้อ คาดยอดผู้ติดเชื้อยังสูง วัคซีนดีๆ ไม่มา หากคลายล็อกแล้วยังไม่กล้าเปิด เหตุไม่มีคนเที่ยว

Latest


สถานที่ท่องเที่ยวในไทย นอกจากทะเล ภูเขา "สวนสัตว์" เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ผู้ปกครองนิยมพาลูกหลานไปเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ แต่ไม่ใช่แค่ครอบครัวเท่านั้นที่ไป คงมีบรรดาคู่รักหรือแก๊งเพื่อนซี้ไปด้วย เรียกได้ว่า สวนสัตว์เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อทุกคนจริงๆ ทุกเพศทุกวัยไปได้หมด

จากที่ "นักล่าฝัน" ได้รวบรวมมาสวนสัตว์ในไทยมีอยู่ 37 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นของรัฐบาล ที่ดูแลโดยองค์การสวนสัตว์ มี 8 แห่ง และของเอกชนมีอยู่ 29 แห่ง แต่น่าเศร้าที่โควิด-19 ระบาดมาเกือบจะ 2 ปีแล้ว ทำให้สวนสัตว์จำนวนหนึ่งตัดสินใจปิดไปชั่วคราว แต่คนรักสัตว์ก็ยังคงเฝ้ารอวันที่สวนสัตว์จะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง แต่ก็ยังมีสวนสัตว์หลายแห่งที่เปิดให้บริการอยู่ แม้จะเจอวิกฤติโควิดก็ตาม หนึ่งในนั้นก็คือสวนสัตว์ Oasis Sea World จังหวัดจันทบุรี นั่นเอง

สู้จนเงินก้อนสุดท้ายกำลังจะหมด

วณิชชา วัฒนพงศ์ หรือ คุณเอ ประธานบริษัทโอเอซีสซีเวิลด์ ได้บอกว่า สวนสัตว์แห่งนี้เปิดมา 31 ปีแล้ว นับตั้งแต่ปี 2533 ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจทำเป็นสวนสัตว์ตั้งแต่แรก แต่คุณพ่อเห็นโลมาติดอวนและอยากรักษา ทีนี้เริ่มมีชาวบ้านบอกกันปากต่อปากว่ามีโลมาอยู่ที่นี่ ชาวบ้านก็ชวนเด็กๆ มาดู จึงเกิดไอเดียว่าหาคนดูแลและกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง

ตั้งแต่นั้นมาก็มีนักท่องเที่ยวประมาณ 8,000-12,000 คน ในช่วงวันนักขัตฤกษ์ วันธรรมดาจะอยู่ที่ 3,000-5,000 คน และวันเสาร์-อาทิตย์ จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็นเท่าตัวจากวันหยุดนักขัตฤกษ์ ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะเป็นคนไทยถึง 90% และชาวต่างชาติ 10% ที่เพิ่งมาช่วง 5-6 ปีก่อนมีโควิด

สวนสัตว์เราจะเลี้ยงโลมาเป็นหลัก นอกจากนั้นยังมีปลาหมอทะเล ปลาคาร์ฟ และกวางรูซ่า เฉพาะค่าอาหารเฉลี่ยเดือนละ 4-5 แสนบาท พอโควิดมาช่วงแรกๆ ปรับทั้งค่าใช้จ่ายลงมา 20-30% และปรับพฤติกรรมการกินอาหารของสัตว์ด้วย และยังมีค่าไฟ สำหรับสร้างอากาศให้สัตว์ ทำระบบบำบัดน้ำ เฉลี่ยเดือนละ 1.5 แสนบาทตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด ก็ลดค่าใช้จ่ายลงมาเหลือ 1 แสนบาทสำหรับค่าไฟ

ที่สำคัญมีค่าแรงพนักงาน ก่อนโควิดมาเรามีพนักงานเกือบร้อยคน พอโควิดมารอบแรกมีคำสั่งปิดกิจการชั่วคราว เหลือพนักงาน 50-80 คน และปัจจุบันมีพนักงานเหลือเพียง 40 คนเท่านั้น จำเป็นต้องลดเงินเดือน 30-50% เพื่อรักษาพนักงานไว้ทั้งหมด แต่ช่วงที่มีคำสั่งปิดชั่วคราวตั้งแต่รอบแรก ทำให้พนักงานกลับมาไม่เต็มจำนวน ซึ่งที่ว่ามาทั้งหมด มีค่าใช้จ่ายรวมกว่า 10 ล้านบาท ได้มาจากการขายที่ดินผืนสุดท้าย และเงินกู้ยืมของครอบครัวส่วนหนึ่ง ควักเนื้อเพื่อใช้ประคองธุรกิจ โดยเงินก้อนนี้วางแผนไว้ใช้ภายใน 1 ปี ตั้งแต่ ก.พ.63 ถึงปัจจุบัน แต่โควิดก็ท่าจะยืดเยื้อออกไปอีก

เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้นักท่องเที่ยวไม่กล้าเดินทาง ทำให้บางวันมีนักท่องเที่ยวชมโชว์โลมารอบละ 1-2 คนเท่านั้น และที่พีกสุดคือช่วงวันแม่ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวมาสวนสัตว์มากที่สุดไม่ถึง 100 คน เหลือไม่ถึง 1% ของช่วงก่อนโควิด แต่หากเทียบจำนวนนักท่องเที่ยวภายในปี 64 ดีใจมากเพราะเป็นช่วงพีกสุด ก็พยายามจะอยู่ให้รอด

ตอนโควิดมาช่วงแรก ปรับตัวโดยการนำอาหารจากร้านอาหารภายในสวนสัตว์มาทำเป็นเดลิเวอรี ใช้พนักงานจัดส่งเอง ไม่พึ่งพาฟู้ดเดลิเวอรี มีกำไรจากการขายอาหาร ส่วนของฝากจะเป็นพวกของค้างสต๊อก พวกตุ๊กตา พวงกุญแจ ขายได้เรื่อยๆ แต่เมื่อรายได้ทั้ง 2 อย่างนี้มารวมกับค่าใช้จ่ายอื่นยังขาดทุนอยู่ พอโควิดมาช่วงล่าสุดเริ่มมีไลฟ์สดป้อนให้อาหารโลมา และให้คนมาซื้ออาหารโลมาและสมทบทุนผ่านเพจเฟซบุ๊ก มีผลตอบรับดีจากคนรักสัตว์ นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุง เพิ่มมาตรการความสะอาดและความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการด้วย

คุณเอ ยังมองด้วยว่าในอนาคตธุรกิจสวนสัตว์จะรอดจากโควิดไปได้ "ยากมาก" เนื่องจากต้องเลี้ยงสัตว์ไปพร้อมๆ กับการประคองพนักงาน ต้องปรับตัวอย่างมาก และที่น่ากังวลที่สุดคืออาจจะไม่มีธุรกิจสวนสัตว์แล้วในอนาคต เพราะสวนสัตว์ไม่เหมาะกับโลกออนไลน์ จำเป็นต้องออกเดินทาง การเดินทางถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้นักท่องเที่ยวมาเยือน เพราะสวนสัตว์คือส่วนเติมเต็มประสบการณ์ให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัสกับสัตว์จริงๆ

"เดินทางได้เมื่อไหร่ รอดเร็วเท่านั้น คนยังอยากออกมาเจอน้องๆ แต่ว่านักท่องเที่ยวก็ยังเดินทางไปไม่ได้ ไม่รู้ว่าสายป่านของตัวเองจะไปรอดแค่ไหน"

สุดท้ายเธอฝากให้รัฐบาลหรือหรือองค์กรไหนก็ได้ ช่วยพยุงธุรกิจสวนสัตว์ เพราะธุรกิจนี้กำลังอยู่ในช่วงโคม่า เหมือนคนที่กำลังอ่อนแอ ต้องการความช่วยเหลือด่วน อีกอย่างสวนสัตว์เรา จังหวัดจันทบุรีไม่ได้อยู่ใน 29 จังหวัดสีแดงเข้ม เพราะฉะนั้นเราไม่ได้รับเงินเยียวยา ทั้งลูกจ้างและเจ้าของธุรกิจเองก็ได้รับผลกระทบหมด สุดท้ายอยากฝากให้คนที่ทำธุรกิจนี้อยู่ขอให้สู้ไปด้วยกัน

โควิดมาคาเฟ่หมาขาดทุนหนัก

แต่ธุรกิจที่เกี่ยวกับสัตว์ยังไม่หมด "คาเฟ่หมา" ที่เหล่าคนทาสหมาคงโปรดปรานเป็นพิเศษ ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน จากวิกฤติโควิดนี้

อรพรรณ แจ่มจำรัส หรือคุณแจง เจ้าของร้าน Husky House Cafe บอกว่า ที่เปิดร้านนี้เพราะอยากให้ชลบุรีมีคาเฟ่น้องหมาแบบในกรุงเทพฯ ให้มีพื้นที่สำหรับคนรักน้องหมา ประกอบด้วยมีที่เป็นของตัวเองที่ชลบุรี จึงเลือกเปิดร้านนี้ขึ้นมา ถ้านับถึงเดือน ต.ค. 64 ก็ครบรอบ 4 ปีแล้ว ตั้งแต่ทำธุรกิจมามีลูกค้าเข้ามาที่ร้านมากกว่าที่คาดคิด เพราะเปิดให้เข้าฟรี ไม่ต้องเสียค่าเข้าเหมือนคาเฟ่อื่นๆ

พร้อมทั้งยังมีการดูรักษาในเรื่องของความสะอาดทั้งในร้านและน้องหมาอย่างดี จุดเริ่มต้นการเลือกน้องหมาที่เป็นสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ เพราะว่าหลงเสน่ห์สุนัขสายพันธุ์นี้ และต่อมาก็มีโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ เพิ่มขึ้น จึงเริ่มวางแผนเปิดคาเฟ่ตั้งแต่ปี 60 ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูสุนัขเฉลี่ยเดือนละ 2-3 หมื่นบาท และค่ารักษาพยาบาลสุนัขป่วย อาการไม่หนักมาก ค่ารักษาเริ่มต้น 5,000 บาท แต่ถ้าหนักเริ่มต้น 4-5 หมื่นบาทต่อตัว

พอโควิดมารอบแรก-รอบสอง เมื่อปี 63 ตัดสินใจทำเดลิเวอรีกับฟู้ดเดลิเวอรี 2 เจ้า พร้อมกับจัดส่งเองในละแวกใกล้เคียงด้วย พอทำไปได้ 4-5 วัน รายได้ติดลบ ขาดทุนประมาณเกือบหมื่นบาท ก็เลือกที่จะปิดร้าน เพราะว่าลูกค้าน้อยลง และประกอบกับมีหุ้นส่วนด้วยก็แยกย้ายไปทำอย่างอื่นก่อน โดยร้านเลือกที่จะปิดก่อนที่ทางจังหวัดจะประกาศ เพราะประเมินแล้วว่าสถานการณ์ไม่น่าปลอดภัยสำหรับลูกค้า หากสถานการณ์ดีขึ้นกลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง

แต่พอโควิดรอบล่าสุดมา เมื่อทางจังหวัดประกาศให้ชลบุรีเป็นจังหวัดสีแดงเข้ม เริ่มทยอยขายสินค้าที่มีอยู่ในร้าน เช่น เมนูต่างๆ ที่สามารถนำมาดัดแปลงเพิ่มช่องทางการขาย มีการไลฟ์ขายของต่างๆ เพื่อให้แฟนเพจของร้านเข้ามาอุดหนุน โดยเริ่มหาของฝากในชลบุรีมาขายแล้วใช้น้องหมาเป็นแรงดึงดูดลูกค้าให้เข้ามา ซึ่งทางร้านยังมีค่าใช้จ่ายอยู่ราวๆ 2 หมื่นบาท เป็นค่าใช้จ่ายภายในร้าน แบ่งเป็นค่าน้ำค่าไฟ 1.3 หมื่นบาท และค่าอาหารหมาอีก 1.5 หมื่นบาท ยังไม่รวมค่าจ้างคนดูแลอีก 9,000 บาท ซึ่งก่อนหน้าที่จะปิดร้านชั่วคราวเคยมีพนักงานประจำ 5 คน แต่ก็ลดเงินเดือน และรอบล่าสุดต้องเลิกจ้างไปเพราะไม่มีเงินจ่าย บอกเลยว่าขาดทุนหนัก

หากทางจังหวัดประกาศคลายล็อกแล้ว ก็ยังไม่กล้าเปิดร้านตามปกติ เพราะกังวลยอดผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ลดลง เนื่องจากลักษณะของร้านเป็นแบบห้องแอร์อากาศปิดและมีสัตว์เลี้ยง จึงเลี่ยงเปิดไปก่อน แต่ถ้าสถานการณ์ยังคงเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ คงต้องหากลยุทธ์ใหม่ เช่น การนำน้องหมามาโชว์แต่งตัว ไลฟ์ลงในเพจ เริ่มนำของฝากหรือหาสินค้าใหม่ๆ จากทางร้าน เพื่อรักษากลุ่มลูกค้าไว้ให้ได้

"ปัจจัยที่สำคัญที่จะกลับมาเปิดร้านได้ โดยคิดยาวไปถึงเดือน ธ.ค.64 ไม่ใช่แค่ยอดผู้ติดเชื้อลดลงอย่างเดียว แต่ต้องมีวัคซีนที่ดี มาสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ถ้าหากประชาชนยังรู้สึกไม่ปลอดภัยจากโรคระบาด นักท่องเที่ยวก็ยังไม่กล้าออกมาเที่ยวแน่นอน ประกอบกับกลุ่มลูกค้าเราเป็นครอบครัว ที่ส่วนใหญ่มีเด็กเล็กด้วย จึงต้องคิดหากลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าในช่วงวิกฤติแบบนี้"

สุดท้ายฝากถึงคนที่ทำธุรกิจเดียวกันว่า พวกเราพึ่งพาการวอล์กอิน ชวนลูกค้าเข้าร้านแบบเดิมไม่ได้แล้ว คงต้องมีแผน 1 แผน 2 ตามมา ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัยด้วย จึงจะพยุงธุรกิจให้รอดในสถานการณ์แบบนี้

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าคนทำธุรกิจช่วงนี้กัดฟัน สู้กับปัญหาทั้งวิกฤติโควิดและสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ถือว่าเป็นอีก 1 โจทย์ใหญ่ที่ผู้ประกอบการพลิกหากลยุทธ์ในช่วงที่โลกออนไลน์มีบทบาทสำคัญ และภาครัฐต้องหามาตรการมาเยียวยาอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้ธุรกิจเหล่านี้เลือนหายไปพร้อมกับยุคดิจิทัล

ผู้เขียน : นักล่าฝัน nathaorn.s@thairathonline.co.th

กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์