e-Donation ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ลดหย่อนภาษีสบายใจหมดยุคขอเอกสารเพิ่ม

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

e-Donation ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ลดหย่อนภาษีสบายใจหมดยุคขอเอกสารเพิ่ม

Date Time: 9 ส.ค. 2564 08:30 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • e-Donation หรือ ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผู้บริจาคเงินสามารถลดหย่อนภาษีกับกรมสรรพากรได้ง่ายขึ้น

Latest


  • e-Donation คือ ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ที่โรงพยาบาล วัด โรงเรียน และองค์กรการกุศล ได้เชื่อมโยงระบบการรับบริจาคเงินไว้กับธนาคารและกรมสรรพากร  
  • สายบุญอยากบริจาคแบบ e-Donation ต้องทำอย่างไรบ้าง 
  • หน่วยงานบริจาคอยากเข้าระบบ e-Donation ต้องทำอย่างไร

หากพูดถึง "การทำบุญ" หลายคนอาจนึกถึงการไปทำบุญที่วัด โรงพยาบาล โรงเรียน องค์กรการกุศลต่างๆ โดยต้องใช้เงินสด และต้องเดินทางไปยังสถานที่นั้นๆ เพื่อให้ได้ใบเสร็จรับรองว่าเราได้ทำการบริจาคเงินนั้นแล้ว เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีกับกรมสรรพากร

ปัจจุบัน "การทำบุญออนไลน์" ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น และสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ก็เป็นตัวเร่งให้คนหันมาทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยหนึ่งในนั้น คือ การสแกนคิวอาร์โค้ด หรือ QR Code ซึ่งองค์การกุศล วัด สถานศึกษา รวมถึงโรงพยาบาล ได้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ชื่นชอบทำบุญด้วยการทำ QR Code เพื่อให้ง่ายต่อการบริจาค 

แต่สิ่งที่เหนือกว่านั้น หากองค์กรการกุศลให้มาใช้ระบบ e-Donation ของกรมสรรพากรทุกอย่างจะง่ายยิ่งขึ้น ถ้าอย่างนั้นเรามาลองดูกันว่า เงินบริจาคจะลดหย่อนได้อย่างไร

ก่อนอื่นเลยต้องบริจาคเงินก่อน ทั้งในรูปแบบเงินสด หรือผ่านคิวอาร์โค้ดก็ได้ 

- ถ้าเป็น "เงินสด" ให้แจ้งหน่วยรับบริจาค เพื่อบันทึกข้อมูลอยู่ในระบบออนไลน์ทันที

- ถ้าสแกนคิวอาร์โค้ด โอนผ่าน Mobile Banking จะมีข้อความแจ้งความประสงค์ส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร โดยในแอปพลิเคชันที่ใช้โอน จะแจ้งเตือนเพื่อใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี ภายใน 2 วันหลังโอน 

สายบุญคงมีคำถามอีกว่า แล้วอย่างนี้จะรู้ได้อย่างไรว่าใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้ไหม? ให้สังเกตว่าป้ายคิวอาร์โค้ดของหน่วยรับบริจาค ต้องมีข้อความ "e-Donation" และตามด้วยชื่อบัญชีของหน่วยรับบริจาค โดยจะโอนเงินไปให้บัญชีเงินฝากของหน่วยงานนั้น ดูชื่อบัญชีว่าใช่หรือเปล่า ถ้าใช่ก็โอนเลยแล้วก็สาธุ แค่นี้ก็ได้บุญแล้ว

นอกจากนี้ ยังเช็กรายชื่อหน่วยงานรับบริจาคได้ที่เว็บไซต์ กรมสรรพากร > ตรวจสอบเงินบริจาค e-Donation คลิกเข้าไปแล้วจะเจอปุ่ม "รายชื่อหน่วยงานรับบริจาคที่ใช้ระบบ e-Donation" จากนั้นจะขึ้นช่องชื่อหน่วยงานรับบริจาคมาให้กรอกข้อมูล แต่ถ้าไม่รู้ชื่อหน่วยงานแล้วอยากรู้หน่วยบริจาคทั้งหมดในประเทศ แค่คลิกปุ่ม "ค้นหารายชื่อ"

แต่ถ้าอยากรู้ข้อมูลการบริจาคของตนเอง ก็เข้าเว็บกรมสรรพากร คลิกปุ่ม บุคคลธรรมดา > ตรวจสอบเงินบริจาค (e-Donation) > สำหรับผู้บริจาค หลังจากนั้นก็เข้าสู่ระบบ โดยกรอกรหัสผู้ใช้และรหัสผ่านเดียวกับที่ยื่นภาษีเงินได้ผ่านเว็บไซต์ ระบบจะบอกข้อมูล วันเดือนปีที่บริจาค หน่วยรับบริจาค จำนวนเงินที่บริจาค และช่องทางการบริจาค หรือผ่านระบบ My Tax Account

ถ้าใครที่บริจาคเงินให้กับหน่วยงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบ e-Donation และได้รับ "ใบอนุโมทนาบัตร" รูปแบบกระดาษ ก็สามารถนำใบนั้นมายื่นลดหย่อนภาษีเงินได้ตามปกติ

สำหรับหน่วยงานรับบริจาค หากอยากเข้าร่วมระบบ e-Donation ของกรมสรรพากรก็ไม่ยากเช่นกัน 

อย่างแรกเลย ต้องขอ "เลขประจำตัวหน่วยงานรับบริจาค" 13 หลัก ซึ่งตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร หากไม่พบข้อมูลติดต่อที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา

หลังจากได้เลขประจำตัวหน่วยงานรับบริจาค 13 หลัก มาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือลงทะเบียน โดยต้องยื่นหลักฐานให้สำนักงานสรรพากรพื้นที่ หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา โดยใช้เอกสาร 3 อย่าง ได้แก่

1. สำเนาหนังสือรับรองการจัดตั้งของหน่วยรับบริจาค

2. สำเนาหนังสือแต่งตั้งผู้มีอำนาจ

3. สำเนาบัตรประจำตัวผู้มีอำนาจที่ลงนาม

ขั้นตอนต่อไปคือการเปิดบัญชีกับธนาคารที่ร่วมโครงการ โดยบัญชีธนาคารจะส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรได้ ต้องเป็นบัญชีของหน่วยรับบริจาค ซึ่งผู้มีอำนาจลงนามเป็นคนเปิดบัญชี และต้องเป็น "บัญชีสำหรับการรับบริจาค" เท่านั้น

เมื่อมีคนบริจาคเงินมาหน่วยรับบริจาคต้องบันทึกข้อมูลการรับบริจาค ผ่าน e-Donation ระบบนี้ไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมอะไรเพิ่ม และไม่จำเป็นต้องพิมพ์หลักฐานการบริจาค เว้นแต่ว่าคนบริจาคจะขอเอง

ส่วนข้อมูลที่หน่วยงานรับบริจาคบันทึก แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ บุคคลธรรมดา จะบันทึกแค่การบริจาคเงิน จำนวนเงินที่บริจาค แต่สำหรับนิติบุคคล จะต้องบันทึกข้อมูล 4 อย่าง ได้แก่

1. เลขประจำตัว 13 หลักของผู้บริจาค

2. ชื่อ-สกุล ชื่อนิติบุคคล (ระบบจะค้นหาและแสดงอัตโนมัติ)

3. วัน เดือน ปีที่บริจาค

4. มูลค่าทรัพย์สิน

จะเห็นว่าโครงการ e-Donation บริจาคเงินทำบุญออนไลน์ แล้วนำไปลดหย่อนภาษีได้ประโยชน์ทุกฝ่าย ทั้งคนบริจาค องค์กรที่รับบริจาค หรือแม้กระทั่งนิติบุคคลที่บริจาค สุดท้ายอยากฝากไว้ว่า การทำบุญในยุคที่อินเทอร์เน็ตเฟื่องฟูเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าทำบุญแล้วได้ลดหย่อนภาษีด้วยก็ย่อมดีกว่า ยุค New normal แบบนี้ โอนเงินทำบุญน่าจะเป็นวิธีที่เซฟที่สุด เพราะนอกจากลดเสี่ยงโรคโควิด-19 ยังได้ช่วยเหลือผู้ที่ยากไร้ ช่วยเหลือโรงพยาบาล ช่วยเหลือเด็กๆ และช่วยเหลือศาสนา แถมยังได้ลดหย่อนภาษีอีกด้วย.

ผู้เขียน : นักล่าฝัน nathaorn.s@thairathonline.co.th


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์