KKP Research ประเมินโควิดรอบ 3 ระบาดหนัก ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก กระทบเงินในกระเป๋าประชาชน ลดความสามารถในการจ่ายหนี้ พร้อมแนะ 5 มาตรการสำคัญที่รัฐบาลควรทำเพื่อพยุงเศรษฐกิจไทยให้ไปต่อได้
เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 64 ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงสภาพเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้ว่า ด้วยการฉีดวัคซีนที่เริ่มต้นช้า และปริมาณวัคซีนที่จัดหาได้มีน้อยกว่าที่คาด สัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีนครบสองโดสซึ่งมีเพียง 5% ในปัจจุบันจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ามาก
ทั้งนี้ คาดว่าภายในสิ้นปี 64 จะมีประชากรเพียง ประมาณ 35% ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส ทำให้การแพร่ระบาด และมาตรการล็อกดาวน์อาจจะมีต่อเนื่องไปอย่างน้อยอีก 3 เดือน ในกรณีฐาน ได้ปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2564 เหลือ 0.5%
ส่วนในกรณีที่การระบาดรุนแรงกว่า การล็อกดาวน์อาจยาวนาน และรุนแรงกว่า หรือต้องมีการปรับความเข้มข้นของมาตรการล็อกดาวน์ จนกระทบต่อภาคการผลิต และการส่งออกที่เป็นความหวังสำคัญ เศรษฐกิจอาจหดตัว 0.8% ทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งได้
"การหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่รุนแรงและยาวนานกว่าการระบาด 2 ครั้งแรก จะส่งผลอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิต การจ้างงาน กระแสเงินสด ฐานะทางการเงิน และความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก"
ดังนั้น รัฐบาลควรต้อง 1. มีการวางแผนการใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่รอบคอบ สอดคล้องกับสถานการณ์และระดับศักยภาพของระบบสาธารณสุข และสื่อสารกับประชาชนอย่างโปร่งใส
2. การเพิ่มศักยภาพในการตรวจ สอบสวนโรค และรักษา และเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิผลเพื่อเพิ่มสัดส่วนของประชากรที่มีภูมิคุ้มกัน
3. ออกมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือที่เพียงพอและเหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบและป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็นถาวรทางเศรษฐกิจ
4. เตรียมการเพื่อกระตุ้นและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังโควิด
5. รักษาความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของระบบการเงิน
ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันระดับหนี้สาธารณะต่อรายได้ของไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นใกล้เพดานวินัยทางคลังที่ร้อยละ 60 และคาดว่าจะเกินระดับดังกล่าวในปี 2565 แต่ด้วยระดับอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง รัฐบาลยังมีศักยภาพในการสร้างหนี้เพิ่มขึ้นได้ หากมีความจำเป็น แต่รัฐบาลต้องมีแผนในการปรับลดการขาดดุลในอนาคตเพื่อรักษาวินัยทางการคลังและความเชื่อมั่น และต้องมีการจัดลำดับของการใช้จ่ายในปัจจุบันให้สอดคล้องกับความจำเป็นของสถานการณ์