กลยุทธ์ฟื้นตลาดแรงงานไทย (2) : บทเรียนการพ้นวิกฤติในอดีต

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

กลยุทธ์ฟื้นตลาดแรงงานไทย (2) : บทเรียนการพ้นวิกฤติในอดีต

Date Time: 24 ก.ค. 2564 06:12 น.

Summary

  • การเร่งสูงขึ้นของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ภาครัฐต้องกลับมาล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด เศรษฐกิจไทยและตลาดแรงงานจึงได้รับผลกระทบทางตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

(ดร.นครินทร์ อมเรศ ธนาคารแห่งประเทศไทย)

การเร่งสูงขึ้นของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ภาครัฐต้องกลับมาล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด เศรษฐกิจไทยและตลาดแรงงานจึงได้รับผลกระทบทางตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คำถามสำคัญระหว่างที่เรากำลังรอให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเดินหน้า คือตลาดแรงงานจะฟื้นตัวได้อย่างไร จะมีธุรกิจไหนมาสร้างงานรองรับ วันนี้จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมทบทวนพัฒนาการตลาดแรงงาน เพื่อประเมินจุดอ่อนจุดแข็ง ตลาดแรงงานไทย

ในช่วงสองรอบนักษัตรก่อนหน้า ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์การเงินเอเชีย หรือวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้การจ้างงานหดตัวในปี 2541 ถึงเกือบร้อยละ 5 ก่อนที่จะใช้เวลาอีกสามปีการจ้างงานจึงจะกลับไปอยู่ในระดับก่อนวิกฤติ จากนั้นตลาดแรงงานไทยได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้างและการค้าที่เติบโตตามการเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยเข้ากับเศรษฐกิจโลกหลังค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาก ทำให้สินค้าไทยมีความได้เปรียบในด้านราคา โดยในช่วงปี 2543 ถึง 2548 การจ้างงานเติบโตร้อยละ 2.4 ต่อปี ขณะที่การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคการค้าโตเกือบร้อยละ 5 และการจ้างงานขยายตัวกว่าร้อยละ 7 ต่อปีในภาคก่อสร้าง

ต่อมาวิกฤตการณ์การเงินโลกในปี 2552 อาจไม่ได้ส่งผลต่อตลาดแรงงานไทยในภาพรวม แต่ยุติแนวโน้มการเร่งขยายการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 3 ต่อปี โดยหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง และหลังจากนั้นภาคอุตสาหกรรมไทยก็ไม่เคยมีการจ้างงานเติบโตในระดับดังกล่าวได้อีกเลยจนถึงปัจจุบัน ปัจจัยสำคัญที่ช่วยรักษาการจ้างงานไว้ในห้วงเวลาหลังจากนั้น คือ การที่แรงงานไทยไหลเข้าสู่ภาคเกษตร โดยมีการจ้างงานขยายตัวร้อยละ 3 ต่อปี ในปี 2554-55 จากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับสูงขึ้นหลังวิกฤติราคาอาหารโลกในปี 2550 และมาตรการสนับสนุนราคาสินค้าเกษตรในไทย จากนั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มารับไม้ต่อในการรักษาการจ้างงานหลังผลบวกของมาตรการสนับสนุนด้านราคาสินค้าเกษตรหมดลง คือ ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวร้อยละ 10 ต่อปีในช่วง 2558-2562 ส่งผลให้ภาคการโรงแรม ภัตตาคาร และการขนส่ง มีการจ้างงานขยายตัวร้อยละ 2 ต่อปี จนกระทั่งวิกฤตการณ์โควิดรอบล่าสุด ทำให้ท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจากเกือบ 40 ล้านคนในปี 2562 เหลือเพียง 7 ล้านคน ซึ่งเป็นระดับเดียวกับนักท่องเที่ยวต่างชาติก่อนปี 2540

พัฒนาการตลาดแรงงานไทยสะท้อนข้อสังเกตประการสำคัญ คือ ตลาด แรงงานไทยมีความยืดหยุ่นสูง คนไทยสามารถเคลื่อนย้ายไปยังสาขาเศรษฐกิจที่มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น ตามปัจจัยเฉพาะในแต่ละ 2 ช่วงเวลาเป็นอย่างดี จึงเป็นจุดแข็งสำคัญในการพาคนไทยฝ่าวิกฤติมาได้ครั้งแล้วครั้งเล่า และสร้างงานสร้างอาชีพให้กับแรงงานไทยมาโดยตลอด

แต่นี่ก็อาจเป็นห้วงเวลาทดสอบสำคัญในประวัติศาสตร์เมื่อกระแสเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักจากโควิด-19 แล้วจะมีสาขาเศรษฐกิจใดมารับช่วงต่อจากภาคการท่องเที่ยวในการชักจูงตลาดแรงงานไทยให้พ้นวิกฤติได้ ตลาดแรงงานที่ลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสของกิจกรรมในภาพรวมได้เผยจุดอ่อนสำคัญ คือ แรงงานไทยไม่ได้ถูกความจำเป็นบีบคั้นให้ต้องปรับตัวในด้านการยกระดับ/ปรับทักษะนักในช่วงกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา

จึงน่ากังวลเป็นอย่างยิ่งว่าตลาดแรงงานไทยจะเป็นอย่างไรในโลกหลัง โควิดที่อาจไม่เหมือนเดิม และยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงว่าจะมีกิจกรรมใดมาสร้างงานจำนวนมากรองรับคนที่สูญเสียงานไปในช่วงโควิดนี้ได้หรือไม่ ในตอนหน้าจะขอขมวดทั้งโอกาส ความท้าทาย จุดอ่อน และจุดแข็งของตลาดแรงงานไทย เพื่อเสนอกลยุทธ์ฟื้นฟูตลาดแรงงานไทย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ