ไทยยากจนเพิ่ม 1.5 ล้านคน “จัดหา-กระจายวัคซีน” โอสถทิพย์ฝ่าโควิด

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ไทยยากจนเพิ่ม 1.5 ล้านคน “จัดหา-กระจายวัคซีน” โอสถทิพย์ฝ่าโควิด

Date Time: 25 พ.ค. 2564 07:24 น.

Summary

  • ธปท.เผยนโยบายที่ดีสุดขณะนี้คือ จัดหาและกระจายวัคซีน โดย ธปท.–สศค.ยืนยันหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเกิน 60% ได้ไม่ต้องกังวลสถาบันจัดอันดับลดเครดิตไทย

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

ธปท.เผยนโยบายที่ดีสุดขณะนี้คือ จัดหาและกระจายวัคซีน โดย ธปท.–สศค.ยืนยันหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเกิน 60% ได้ไม่ต้องกังวลสถาบันจัดอันดับลดเครดิตไทย เพราะเป็นหนี้ต่างประเทศต่ำกว่า 2% เผยโควิดทำคนจนรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน เพิ่มขึ้น อีก 1.5 ล้านคน ระยะสั้นเศรษฐกิจไทยสูญเสียรายได้ไม่ต่ำกว่า 2.2 ล้านล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้จัดสัมมนาวิชาการ “ประมาณการเศรษฐกิจระยะสั้นและภาพเศรษฐกิจไทยใน 5 ปีข้างหน้า” มีนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นผู้ดำเนินการ โดยนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า โควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลต่อ การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น ขณะที่อนาคตเศรษฐกิจไทย ขึ้นอยู่กับการผนึกกำลังของ 4 นโยบายคือ นโยบายการจัดหาและการกระจายวัคซีน, นโยบายการคลัง, นโยบายการเงิน, นโยบายการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านสถาบันการเงิน

“การจัดหาและกระจายวัคซีนเป็นนโยบายสำคัญที่สุด เพราะการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้เร็วที่สุดเป็นเงื่อนไขแรกของการฟื้นเศรษฐกิจไทย กรณีจัดหาและกระจายได้ 100 ล้านโดสในปีนี้ จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในไทย ได้โดยเดือน ม.ค.2565 จะทำให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัว 2% และปี 2565 ที่ 4.7% แต่ถ้าจัดหาและกระจายวัคซีนตามแผนเดิม 64.6 ล้านโดส จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่เดือน ก.ย.2565 เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัว 1.5% ปี 2565 ที่ 2.8% แต่ถ้าช้ากว่านี้กว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ต้องรอถึงเดือน ธ.ค.2565 ทำให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัว 1% ปี 2565 ที่ 1.1%

ขณะเดียวกัน โควิด-19 ได้ซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เลวร้ายอยู่แล้ว ขณะนี้เกิดทางสองแพร่งว่าหนี้ครัวเรือนปัจจุบันที่ 14 ล้านล้านบาท หรือ 89.3%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อาจขยายตัว 18.1 ล้านล้านบาท หรือ 92.8% ของจีดีพี แต่ถ้ามีการปรับโครงสร้างหนี้ ตัดหนี้สูญและจำกัดการก่อหนี้ จะลดลงมาได้ 2.7 ล้านล้านบาท อยู่ที่ 15.4 ล้านล้านบาท หรือ 79.1% ของจีดีพี

“หนี้สาธารณะที่อยู่ที่ 54.28% ของจีดีพี สามารถเกิน 60% ของจีดีพีได้หรือไม่ และรัฐบาล กำลังจะออกพระราชกำหนดกู้เงินเพิ่มอีก 700,000 ล้านบาท โดยกรณีสถานการณ์รุนแรงและมีความจำเป็นก็เกิน 60% จีดีพีได้ เพราะยังต่ำกว่าหลายประเทศที่เกือบ 100% ของจีดีพี ที่มีปัจจัยเอื้อจากอัตราดอกเบี้ยต่ำไปอีกหลายปี”

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวสนับสนุนว่า ทำได้เช่นกัน และไทยเคยมีหนี้สาธารณะ 59% ของจีดีพีเมื่อปี 2543 หลังเกิดต้มยำกุ้งปี 2540 จากนั้นเมื่อเศรษฐกิจขยายตัว หนี้สาธารณะก็ต่ำลง เรื่องนี้นายคณิศกล่าวเสริมว่า ไม่ต้องกังวลสถาบันจัดอันดับเครดิต จะปรับลดความน่าเชื่อถือไทย เพราะในหนี้สาธารณะทั้งหมดเป็นหนี้เงินตราต่างประเทศต่ำกว่า 2%

นายพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สศค. กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้คนจนเพิ่มขึ้นทั่วโลก 115 ล้านคน และคนไทยยากจนเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคนจากฐานคนจนเดิม 4.3 ล้านคน ส่งผลให้คนจนในไทยเพิ่มขึ้นรวม 5.8 ล้านคน เท่ากับจำนวนคนจนปี 2559 ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่ปีละ 30,000 บาท

นายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้รายได้ของประเทศหายไปสูงถึง 2.2 ล้านล้าน เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 จะขยายตัว ต่ำกว่า 2% และหากขยายตัวที่ 2-3%ต่อเนื่องหลายปี จะเก็บภาษีได้ไม่เพียงพอ ขณะที่อีก 5 ปีข้างหน้า ที่ตรงกับแผนพัฒนาประเทศ ฉบับที่ 13 (2565-2569) ต้องทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 4.5% จึง ต้องทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มปีละ 600,000 ล้านบาท ซึ่งมีข้อจำกัดที่ภาครัฐไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มได้อีก ต้องหาแหล่งเงินอื่นๆ เช่น เร่งดึงเงินลงทุนจากภาคเอกชน และต่างประเทศ, ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ