KBank Private Banking และ Lombard Odier แนะลงทุนกระจายเสี่ยง เน้นหุ้นยั่งยืน เผยหลังโควิด-19 หุ้นยุโรป และหุ้นตลาดเกิดใหม่จะให้ผลตอบแทนดีที่สุด
ดร.แซมมี่ ชาร์ หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ Lombard Odier กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกยังไม่ทั่วถึง ด้วยความแตกต่างของความสามารถในการกระจายวัคซีน ทำให้ประเทศที่กระจายวัคซีนได้รวดเร็ว อย่างสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และประเทศในยุโรป กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มทยอยกลับมาเป็นปกติ ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่น โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ Herd Immunity ได้ในไตรมาส 3 ของปีนี้
นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะของสหรัฐฯ อย่าง มาตรการเยียวยาจากวิกฤติโควิด-19 มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศเป็นหลัก และยังมีวงเงินลงทุนระยะยาวในโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และ American Families Plan ที่เน้นดูแลเด็กและการศึกษา มูลค่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นตัวเร่งสำคัญที่ส่งให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาฟื้นตัวได้ดี
ในด้านการขึ้นภาษีในสหรัฐฯ ที่จะสร้างรายได้เพื่อชดเชยมาตรการทางการคลังคาดว่าจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และส่งผลกระทบไม่มาก โดยรวมคาดว่าประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมากกว่าผลเสียจากการขึ้นภาษี ที่เน้นการขึ้นภาษีคนรวยเป็นหลัก ในขณะเดียวกันการขึ้นภาษีรายได้จากการขายสินทรัพย์ในตลาดหุ้น หรือ Capital Gain Tax คาดว่าคงไม่สามารถขึ้นภาษีได้ถึง 39% แต่อาจจะขึ้นจาก 20% เป็น 30% เท่านั้น
สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค มร.สเตฟาน โมเนียร์ ผู้บริหารการลงทุนระดับสูง Lombard Odier มีมุมมองต่อตลาดหุ้นในแต่ละภูมิภาค รวมทั้งสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ แตกต่างกันไป ดังนี้
- หุ้นกลุ่มตลาดเกิดใหม่ หุ้นยุโรป และตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ น่าจะให้ผลตอบแทนดีที่สุด ในอีก 1 ปี ข้างหน้า
- บริษัทจดทะเบียนในสหราชอาณาจักร ตลาดเกิดใหม่ และยุโรป มีกำไรสุทธิต่อหุ้น หรือ Earing จะเติบโตได้ดีกว่าภูมิภาคอื่น
- ในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว คาดว่าหุ้นคุณค่า หรือ Value Stock จะมีผลตอบแทนที่โดดเด่นกว่าหุ้นกลุ่มเติบโต หรือ Growth Stock แม้ราคาต่อหุ้นจะค่อนข้างแพง แต่การเติบโตของกำไรสุทธิต่อหุ้น หรือ Earning ยังคงสนับสนุนให้น่าสนใจต่อเนื่อง
- ในทางกลับกัน มองว่า ทองคำ ตราสารหนี้ยุโรป และตราสารหนี้ในสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนน้อยที่สุด จากการคาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี จะอยู่ที่ 2.0% ณ สิ้นปี 2564 และ 2.5% ในอีก 12-18 เดือนข้างหน้า ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อผลตอบแทนทองคำ
ส่วนมุมมองต่อกระแส Bitcoin มร.สเตฟาน กล่าวต่อว่า มีโอกาสที่ทั่วโลกจะใช้ Cryptocurrency แพร่หลายมากขึ้นในอนาคต และเชื่อว่าเทคโนโลยี Block Chain จะเข้ามามีบทบาทในโลกการเงินมากขึ้น แต่ในแง่ของการลงทุนนั้นมองว่ายังมีความเสี่ยงอยู่มาก เพราะ
1. ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ ราคาเคลื่อนไหวตาม Demand-Supply
2. นวัตกรรมและเทคโนโลยีอาจทำให้มี Crypto Asset ใหม่ๆ ที่ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จมากกว่า Bitcoin
ด้านกลยุทธ์การลงทุน Lombard Odier ยึดหลักลงทุนโดยการกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์
- หุ้น และกระจายการลงทุนทั้ง Growth + Value Stock ให้ความสำคัญกับการลงทุนในหุ้นยั่งยืน
- ตราสารหนี้ โดยเน้นลงทุนในจีน เพราะมีผลตอบแทนที่น่าดึงดูด
- เติมเต็มพอร์ตด้วย Private Assets (โดยเฉพาะ Private Equity) เพื่อเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาว
จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ท่ามกลางสภาวะตลาดปัจจุบันที่มีความผันผวนสูง แต่แนวโน้มเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากการทยอยเปิดเมือง จากการเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว ถือเป็นปัจจัยเอื้อต่อตลาดหุ้น
โดยธนาคารฯ ยังคงเชื่อมั่นว่าการลงทุนระยะยาว ผ่านการกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนในระยะสั้น อีกทั้งยังคงเน้นการลงทุนหุ้นในธีม Winner of New Economy, Health is Wealth และ Save the World ที่ล้วนมีปัจจัยสนับสนุนเฉพาะ รวมไปถึงความสามารถในการคัดเลือกหุ้นของผู้จัดการกองทุนชั้นนำของโลก ที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาว