ใครว่ารัฐถังแตก เปิดพอร์ต "หนี้สาธารณะ" ของไทย หนี้จริงแค่ 6.3 ล้านล้าน

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ใครว่ารัฐถังแตก เปิดพอร์ต "หนี้สาธารณะ" ของไทย หนี้จริงแค่ 6.3 ล้านล้าน

Date Time: 17 เม.ย. 2564 09:00 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • อยากสร้างความเข้าใจว่าหนี้สาธารณะของไทยอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังมีการบริหารอย่างรอบคอบและมีวินัยการคลังในระดับสูงมาก

Latest


  • หนี้สาธารณะ คือ หนี้ของประเทศไทย 
  • หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 8.1 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็น 51.9% ต่อ GDP
  • หนี้ที่รัฐบาลต้องแบกรับทั้งหมด ประมาณ 6.3 ล้านล้านบาท หรือ 77% ของพอร์ตหนี้สาธารณะทั้งหมด

หลายคนคงมีความกังวลว่ารัฐบาลจะมีการเก็บภาษีเพิ่มหรือไม่ หลังหนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อปี 63 ที่ผ่านมารัฐบาลและกระทรวงการคลังได้ออกพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน เพื่อมาแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง และ แพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน.เคยให้สัมภาษณ์ และให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องหนี้สาธารณะไว้ก่อนหน้านี้ "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" ขอรวบรวมเรื่องนี้ให้เข้าใจง่ายขึ้นดังนี้ 

- หนี้สาธารณะ คือ หนี้ของประเทศไทย ตามพ.ร.บ.หนี้สาธารณะ จะกำหนดไว้ว่า เป็นหนี้ที่กระทรวงการคลังกู้ยืม รวมทั้งหนี้รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ รวมไปถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่รัฐเป็นผู้ค้ำประกัน

- คำจำกัดความของคำว่าหนี้สาธารณะของไทยนั้นค่อนข้างกว้าง แต่เวลาไปเทียบกับต่างประเทศ เขาจะมองแคบกว่านั้น คือ ตัดหนี้รัฐวิสาหกิจออก ซึ่งหนี้ที่ไม่เป็นภาระของรัฐจะไม่ถูกนำมาเทียบ แต่ถ้าเป็นของเมืองไทยจะเป็นลักษณะ Conservative หรือ อนุรักษนิยม

- ระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP เป็นตัวเลขทางการในระบบการคลังที่องค์กรระหว่างประเทศ และบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้ง Moody’s S&P’s และ Fitch ให้การยอมรับ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้ในการพิจารณาจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 

- ปัจจุบัน ณ วันที่ 28 ก.พ. 64 หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 8.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 51.9% ต่อ GDP

- ส่วนใหญ่เป็นหนี้จากการกู้เงินมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และกู้เพื่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น ก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ถนนวงแหวน เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างงานและทำให้เอกชนมีสภาพคล่อง รวมทั้งบางโครงการมีผลตอบแทนให้แก่รัฐบาลด้วย

- ในความเป็นจริงหนี้สาธารณะจำนวน 8.1 ล้านล้านบาทนั้น มีเงินที่เป็นเงินกู้ตรงของรัฐบาล หรือกู้เนื่องจากรัฐบาลออกพระราชกำหนด หรือ พ.ร.ก. เงินกู้พิเศษ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงโควิดที่ผ่านมา ดังนั้น หนี้ที่รัฐบาลต้องแบกรับทั้งหมด ประมาณ 6.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 77% ของพอร์ตหนี้สาธารณะทั้งหมด

- ส่วนเงินที่เหลืออีกประมาณ 1.77 ล้านล้านบาทนั้นมาจากการค้ำประกันเงินกู้ให้รัฐวิสาหกิจ ซึ่งรัฐวิสาหกิจจะเป็นผู้ชำระเอง ซึ่งหนี้จำนวนนี้จะไม่กระทบต่อหนี้สาธารณะในภาพรวม

- ระดับหนี้สาธารณะของไทยในปีงบประมาณ 64 ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 63 ถึง 30 ก.ย. 64 คาดว่าจะอยู่ประมาณ 56% ซึ่งอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังไม่เกิน 60% ต่อ GDP แน่นอน

- ระดับหนี้สาธารณะของไทยปรับตัวสูงขึ้นจากประมาณ 40% ต่อจีดีพี หลังจากรัฐบาลใช้ พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉินวงเงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อดูแลสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากเงินงบประมาณในปี 64 ไม่เพียงพอ

- การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะของไทยสอดคล้องกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เช่น ตลาดเกิดใหม่และประเทศในเอเชีย เฉลี่ยการก่อหนี้สาธารณะอยู่ที่ 67% จากเดิมอยู่ที่ 60%

- ปัจจุบันรัฐบาลได้มีการเร่งนำนวัตกรรมทางการเงินการลงทุนใหม่ๆ มาใช้เป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกเพื่อทดแทนการใช้งบประมาณภาครัฐ เช่น การเร่งผลักดันการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ Public Private Partnership (PPPs) การลงทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ Thailand Future Fund (TFFIF) เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพางบประมาณแผ่นดินหรือเงินกู้จากภาครัฐ 

- กระทรวงการคลังมีเครื่องมือในการวิเคราะห์ติดตามความเสี่ยงของการเกิดวิกฤติการคลังอย่างใกล้ชิด ผ่านแบบจำลอง Fiscal Early Warning System

- สิ้นปีงบประมาณ 63 ค่าดัชนีรวมเตือนภัยล่วงหน้าอยู่ที่ 2.47 มีค่าสูงขึ้นจาก ณ สิ้นปีงบประมาณ 62 ซึ่งอยู่ที่ 1.44 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19

- แต่ค่าดัชนีรวมเตือนภัยล่วงหน้ายังคงต่ำกว่าระดับขีดเตือนภัยที่อยู่ที่ 5 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลจะต้องมีการเฝ้าระวังและบริหารจัดการอย่างใกล้ชิด แต่รัฐบาลยังคงมีพื้นที่ว่าง หรือ room ในการจัดทำนโยบายการคลังเพิ่มเติมได้หากมีความจำเป็น  

แพตริเซีย ทิ้งท้ายว่า อยากสร้างความเข้าใจว่าหนี้สาธารณะของไทยอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังมีการบริหารอย่างรอบคอบและมีวินัยการคลังในระดับสูงมาก เพราะเคยมีประสบการณ์การกู้ต่างประเทศ ซึ่งทำให้หนี้สาธารณะพุ่งสูงขึ้นมากในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 ตอนนี้ถือว่าไทยยังมีเครดิตดี เพราะเราบริหารได้ดี และสถานะการคลังยังแข็งแกร่ง 

ด้าน กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สศค.ได้ติดตามสถานการณ์โควิดระบาดระลอกเดือนเม.ย. 64 อย่าง ใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกครั้ง รวมถึงการออกมาตรการเยียวยา และบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ช่วยเหลือลดค่าครองชีพประชาชน และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วย ทั้งนี้ ในเดือน ม.ค. 64 คลังได้ปรับเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้อยู่ที่ 2.8% เนื่องจากมีสัญญาณที่ดีขึ้น แต่สถานการณ์เดือน เม.ย.64 แตกต่างจากเดือน ม.ค.อย่างสิ้นเชิง จากเดิมคาดว่าเงินจะสะพัดมากในช่วงสงกรานต์

เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนไป ทำให้ สศค.ต้องประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ รวมถึงการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องด้วย เนื่องจากขณะนี้โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง ได้สิ้นสุดไปแล้ว เหลือเพียงโครงการเราชนะ และเรารักกัน ที่สามารถใช้เงินได้ถึง 31 พ.ค.นี้ ดังนั้น หากต้องการความต่อเนื่อง สศค.ก็ต้องเตรียมเสนอมาตรการเพิ่มเติมให้กระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ หากรัฐบาลจะออกมาตรการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระประชาชนเพิ่มเติม คาดว่าจะออกมาตรการภายในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ส่วนเงินที่จะนำมาใช้เพื่อเยียวยาประชาชนนั้น ยังคงเป็นเงินกู้ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ยังคงเหลืออยู่ราว 380,000 ล้านบาท ซึ่งต้องใช้ภายในเดือน ก.ย.2564 แต่การใช้วงเงินดังกล่าว ต้องมีโครงการเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติก่อน สศค.จะนำเสนอแนวทางและการดำเนินมาตรการต่อกระทรวงการคลัง เพื่อใช้เงินกู้ที่เหลืออยู่ช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เพื่อให้วงเงินดังกล่าวหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงต้นไตรมาสที่ 3 หรือช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์