SME จ๋าอย่าร้องไห้ อยากได้เงินหมุนเวียนในธุรกิจ ต้องรู้จัก Crowdfunding

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

SME จ๋าอย่าร้องไห้ อยากได้เงินหมุนเวียนในธุรกิจ ต้องรู้จัก Crowdfunding

Date Time: 8 เม.ย. 2564 08:30 น.

Video

โมเดลธุรกิจ Onlyfans ทำไมถึงมีแต่ได้กับได้ ? บริษัทมั่งคั่ง คนทำก็รวย | Digital Frontiers

Summary

  • Crowdfunding หรือ คราวด์ฟันดิง คือ แพลตฟอร์มที่จะเชื่อมระหว่างผู้ที่ต้องการเงินไปหมุนเวียนในธุรกิจ และนักลงทุนที่แสวงหาผลตอบแทนผ่านหุ้นกู้ โดยมีตัวกลาง หรือ funding portal

Latest


  • Crowdfunding คืออะไร ช่วยเหลือ SME อย่างไร
  • รู้จัก Crowdfunding ให้มากขึ้นผ่าน INVESTREE
  • นักลงทุนจะลงทุนหุ้นกู้ผ่าน Crowdfunding อย่างไร

Crowdfunding คืออะไร หลายคนอาจจะสงสัย อยากรู้ว่าใช่ก้อนเมฆที่อยู่บนฟ้า หรือ ระบบ Crowd จัดเก็บข้อมูลแบบที่เขาพูดๆ กันหรือเปล่า จริงๆ แล้ว Crowdfunding หรือ คราวด์ฟันดิง คือ แพลตฟอร์มที่จะเชื่อมระหว่างผู้ที่ต้องการเงินไปหมุนเวียนในธุรกิจ และนักลงทุนที่แสวงหาผลตอบแทนผ่านหุ้นกู้ โดยมีตัวกลาง หรือ funding portal เป็นผู้ดูแลทั้งนักลงทุน และผู้ที่ต้องการเงินลงทุนไปหมุนเวียนในธุรกิจ โดยขั้นตอนการระดมทุนนี้จะทำผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด

"เศรษฐินีศรีราชา" ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ คุณหยก ทำธุรกิจแปรรูปอาหาร ไม่ว่าจะเป็น หมูกรอบ กุนเชียง น้ำพริกกากหมู และน้ำพริกต่างๆ โดยมีทุนจดทะเบียนประมาณ 5 แสนบาท สินค้าของเธอจะวางขายที่หน้าร้าน และขายออนไลน์เป็นหลัก ร้านของคุณหยกขึ้นชื่อเรื่องหมูกรอบมากๆ จนห้างสรรพสินค้าหลายแห่งต้องการให้นำหมูกรอบไปวางขายที่ห้าง

เมื่อต้องผลิตหมูกรอบในปริมาณมากขึ้น คุณหยกเองต้องมีเงินทุนจำนวนหนึ่งเพื่อขยายกำลังการผลิต และซื้อเครื่องจักร แน่นอนว่าการกู้เงินผ่านธนาคารก็อาจจะช้าเกินไป ที่สำคัญคุณหยกเองไม่มีสินทรัพย์ที่จะไปค้ำประกัน เธอจึงเลือกใช้การระดมทุนผ่าน Crowdfunding ด้วยการออกหุ้นกู้ประมาณ 5 แสนบาท เพื่อนำเงินเหล่านี้ไปซื้อเครื่องจักร และเป็นเงินสดหมุนเวียนระหว่างรอเงินจากห้าง....

ตรงนี้แหละที่ตัวกลาง หรือ funding portal จะมีส่วนช่วยโดยการจับคู่คุณหยกที่ออกหุ้นกู้ กับนักลงทุนที่แสวงหาผลตอบแทนดีๆ ที่รับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ ซึ่ง funding portal จะเป็นคนดูแลความเสี่ยงต่างๆ ดูแลเรื่องผลตอบแทน และการชำระเงิน ระหว่างคุณหยก และนักลงทุนนั่นเอง

สำหรับประเทศไทย มีผู้ให้บริการ Crowdfunding ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. 4 รายด้วยกัน ซึ่ง 1 ใน 4 รายที่ว่านี้ ได้แวะเวียนมาคุยกับ เศรษฐินีศรีราชา เพื่อขยายความเกี่ยวกับการระดมทุนผ่าน Crowdfunding ให้มากขึ้น

รู้จัก Crowdfunding ให้มากขึ้นผ่าน INVESTREE

ณัทสุดา พุกกะณะสุต และ วรกร สิริจินดา 2 ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัท อินเวสทรี ประเทศไทย จำกัด อธิบายว่า จริงๆ แล้ว Crowdfunding มีประมาณ 20 ปีแล้ว ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะใช้ระบบ Crowdfunding เป็นช่องทางหนึ่งในการระดมทุนเพื่อนำเงินไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ ในส่วนของไทยเองก็เพิ่งจะได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ได้ไม่นาน ถือว่าก็ใหม่สำหรับคนไทยเช่นกัน

สิ่งที่ INVESTREE ทำอย่างแรกเลยก็คือให้ความรู้ ความเข้าใจกับผู้ประกอบการธุรกิจ โดยเฉพาะ SME รายเล็กๆ เพราะส่วนใหญ่เขามักจะคุ้นเคยกับการขอสินเชื่อ หรือขอเงินกู้ต่างๆ จากธนาคารบ้าง จากเพื่อน หรือจากคนรู้จักบ้าง เพื่อเอามาหมุนเวียนในการทำธุรกิจ ซึ่งเราก็ต้องอธิบายว่า Crowdfunding คือการกู้ยืมจากคนหลายๆ คนผ่านแพลตฟอร์ม เราก็จะต้องทำหน้าที่อธิบายให้ผู้ประกอบการเข้าใจว่าถ้าทำ Crowdfunding คุณจะมีภาระ 2 อย่าง นั่นก็คือ 1. คุณมีภาระกับนักลงทุนหลายๆ คน และ 2. คุณต้องกู้ผ่านแพลตฟอร์ม ก็หมายความว่าจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการทำธุรกรรมทางออนไลน์มาระดับหนึ่ง

ณัทสุดา มองว่า ปัญหาสำคัญของ SMEs ไทยในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา คือ คู่ค้า หรือลูกค้ายืดเวลาการชำระเงินค่าสินค้าออก ทำให้ขาดสภาพคล่องระยะสั้น แต่ SMEs กลับเข้าไม่ถึงสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้ไม่มีกระแสเงินสดมาหมุนในธุรกิจได้ทันเวลา หลายรายจึงต้องกู้เงินนอกระบบ 



ทดลอง Credit Score ด้วยเงิน 62 ล้านบาท

ก่อนที่ INVESTREE จะได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. เราก็ได้ทดลองระบบน่าเชื่อถือด้านการชำระหนี้ หรือ Credit Score ด้วยการใช้เงินบริษัทปล่อยกู้เองประมาณ 62 ล้านบาท เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ระหว่างทางก็มีผู้ประกอบการหลายรายเข้ามาคุยกับเรา ซึ่งเราก็ดูว่าใครพอจะเป็นแคนดิเดตปล่อยหุ้นกู้ได้บ้าง ที่ผ่านมาเราได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 14% ต่อปี ที่สำคัญยังไม่มีลูกหนี้รายใดเป็นหนี้เสียเลย ซึ่งเราตั้งเป้าบริหารอัตราหนี้เสียให้อยู่ไม่เกิน 3%

สำหรับการคัดเลือก SME ที่เราปล่อยกู้ไป 62 ล้านนั้น เราก็จะเลือกผู้ประกอบการที่เป็น SME จริงๆ เป็นนิติบุคคล มีแหล่งที่มีรายได้เฉลี่ย 5 ล้านต่อปี ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าธุรกิจเขาเล็กมากเลยนะ แต่อินเวสทรีเกิดมาเพื่อช่วยไมโคร SME เราจึงโฟกัสในธุรกิจขนาดเล็กเป็นหลัก และบางส่วนก็ได้รับการส่งต่อมาจากพันธมิตรธุรกิจของเรา ซึ่งส่วนใหญ่ทาร์เก็ตในทำหุ้นกู้จะอยู่ที่ประมาณ 50,000-1,000,000 บาท

อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปดูข้อมูลจากงานวิจัยหลายๆ แห่ง จะพบว่า SMEs และ SME ส่วนใหญ่จะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น อาจจะทำธุรกิจได้ 1-2 ปี บ้านก็อาจจะเช่าอยู่ เวลาธนาคารจะปล่อยกู้ก็จะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือมีเงินสดมาวางค้ำประกัน โดยขั้นตอนการพิจารณาปล่อยเงินกู้ก็ใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน แต่เราจะพบว่าส่วนใหญ่ SME หรือผู้ประกอบการ อยากได้เงินกู้ไวๆ แน่นอนว่า ธนาคารพาณิชย์อาจจะไม่ตอบโจทย์ในเรื่องนี้

ยกตัวอย่าง ธุรกิจเล็กๆ ที่มาระดมทุนผ่าน Crowdfunding กับ INVESTREE นั่นก็คือ ผู้ประกอบการทำเฟอร์นิเจอร์ให้ร้านกาแฟให้ในเครือบริษัทโทรคมนาคมแห่งหนึ่ง และสาขาธนาคาร ซึ่งออฟฟิศเขา คือ โกดัง และมี Invoice เฉลี่ย 1 แสนบาท ซึ่งเขาก็ออกหุ้นกู้ไปประมาณ 1 แสน เพื่อนำเงินที่ได้ไปหมุนเวียนระหว่างรอเก็บเช็คจากลูกค้า 

"เรามีเกณฑ์การคัดเลือกผู้ขอกู้ที่ชัดเจน คือ ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ทำธุรกิจมาแล้ว 1-2 ปี มีคู่ค้าที่ดี มีใบแจ้งหนี้ หรือ Invoice Financing มีธุรกรรมซื้อขายบนระบบออนไลน์ และมีโอกาสไปต่อถ้าได้รับเงินทุน และนักลงทุนยังมั่นใจได้ว่าเงินลงทุนจะถูกส่งถึง SMEs เพราะเงินของนักลงทุนจะไปเก็บที่ผู้รับฝากทรัพย์สิน หรือ Custodian ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต."

ณัทสุดา ทิ้งท้ายว่า SMEs และ SME เป็นเส้นเลือดฝอยของระบบเศรษฐกิจไทย แต่โอกาสเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs กลับมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของ GDP ขณะที่สินเชื่อภาคธุรกิจมีถึง 85% ของ GDP จะเห็นว่ามันมี Credit Gap ที่ใหญ่มากในระบบการเงินไทย ซึ่งเป็นแบบนี้ในหลายประเทศเช่นกัน เราจึงอยากให้นักลงทุนลองคิดดูว่า ถ้าคุณมีเงินพร้อมลงทุน เข้าใจความเสี่ยงของ SME และอยากช่วย SME ที่เขามีความพร้อมให้ผลตอบแทนนักลงทุนที่เหมาะสม INVESTREE ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลงทุน

นักลงทุนจะลงทุนหุ้นกู้ผ่าน Crowdfunding อย่างไร

วรกร อธิบายว่า หุ้นกู้ของเราจัดเป็น Unrated high yield bond อายุตั้งแต่ 1 เดือน – 2 ปี ซึ่งจะเห็นว่าระยะเวลาการออกหุ้นกู้ค่อนข้างสั้น และหุ้นกู้นี้ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ช่วงโควิด-19 เราจำกัดให้อายุไม่เกิน 1 ปี เพื่อลดความเสี่ยงให้นักลงทุน

สำหรับหุ้นกู้นี้ออกโดย SMEs ที่เราได้คัดเลือกมาให้ในระดับหนึ่งแล้ว โดยทีมผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ความเสี่ยงของ SMEs และยังมีระบบจัดอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ขอออกหุ้นกู้ หรือ Credit Worthiness Rating ซึ่งคำนวณจากหลายปัจจัยที่สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของกิจการ ที่จะช่วยให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม สูงสุดอาจถึง 26% ต่อปี แต่ก็มาพร้อมความเสี่ยง

"หากเทียบกับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยตอนนี้ ที่ผลตอบแทนไม่สูงนัก แต่ความผันผวนเฉลี่ยสูงถึง 30% ที่สำคัญการลงทุนในหุ้นกู้ย่อมได้สิทธิดีกว่าลงทุนในหุ้น เพราะเป็นสิทธิในฐานะเจ้าหนี้ของกิจการ มีสิทธิได้เงินคืนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ แต่ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนลงทุน และต้องกระจายการลงทุน"

สำหรับการลงทุนภายในพอร์ตหุ้นกู้ฯ วรกร แนะนำว่า นักลงทุนก็ควรเลือกลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย และถ้าจะให้เกิดประโยชน์สูงสุด นักลงทุนควรเลือกธุรกิจที่ตนมีความรู้ความเข้าใจ หรือมีความสนใจลงทุนในธุรกิจประเภทนั้น โดยอินเวสทรี มีเป้าหมายให้มีหุ้นกู้จากหลากหลายอุตสาหกรรมให้นักลงทุนเลือกลงทุน และใช้เงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาทต่อหุ้นกู้ ทำให้แม้แต่นักลงทุนรายย่อยก็สามารถกระจายการลงทุนได้อย่างสะดวก

ปัจจุบันเกณฑ์ ก.ล.ต. ยังจำกัดให้นักลงทุนรายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดาสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อหุ้นกู้ฯ และลงทุนบนระบบ Crowdfunding ทั้งหมดไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนที่มีความมั่งคั่งสูง นิติบุคคล หรือมีบุคคลที่ความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน หรือ Accredited Investor สามารถลงทุนได้ไม่จำกัดวงเงินนั่นเอง

ก่อนจากกัน "เศรษฐินีศรีราชา" อยากจะบอกสักนิด ขึ้นชื่อว่าการลงทุน ย่อมมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ก่อนจะลงทุนทุกครั้งควรประเมินตนเองก่อนว่ารับความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงจะช่วยลดการขาดทุนได้

ผู้เขียน : เศรษฐินีศรีราชา kamonthip.h@thairathonline.co.th
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun
ภาพโดย : วัชรชัย คล้ายพงษ์


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ