กว่าจะมาเป็น “เชลล์ดอน หอยกู้โลก” ซีรีส์การ์ตูนแอนิเมชันสัญชาติไทยที่โด่งดัง ได้รับการเผยแพร่ออกอากาศในสถานีโทรทัศน์ทั่วโลกกว่า 150 ประเทศ รวมทั้งสถานี NBC ของสหรัฐอเมริกาช่องฟรีทีวีที่ใหญ่ที่สุดในโลก หลังได้รับเลือกเป็น 1 ใน 3 จากแอนิเมชันทั่วโลกกว่า 1,000 เรื่อง ที่ถูกนำเสนอให้ NBC และยังติด 1 ใน 5 ของแอนิเมชันที่มีคนดูมากที่สุดผ่านฟรีทีวีของอเมริกา
หากไม่ใช่เพราะผู้ชายที่ชื่อ “ดร.แตน” ที่มีความมุ่งมั่น อดทน โดยไม่ลดละและไม่ยอมพ่ายต่ออุปสรรคในการเดินหน้าทำความฝันที่ใหญ่เกินตัวนี้ ให้ประสบความสำเร็จให้จงได้ ก็คงไม่มี “เชลล์ดอน” ออกมาช่วยกู้โลกในวันนี้ เพราะภารกิจนี้ ...ต้องทุ่มเททั้งเงินทุน เวลา แรงกาย แรงใจ แรงอึด ในทุกสรรพกำลัง!!
เราได้คุยกับ ดร.แตน ในวันที่ “องครักษ์พิทักษ์เจี๊ยบ” (Out of the Nest) ภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชันเรื่องแรกของเขา กำลังออกฉายในโรงหนังทั่วไทยรวมทั้งในจีน และอีกกว่า 100 ประเทศทั่วโลกที่ทยอยตามมา
“ดร.แตน” จบปริญญาเอกสาขาการเงิน เศรษฐศาสตร์จากสหรัฐฯได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ “เชลล์ดอน” ทำให้เขาต้องเบนเข็มชีวิตจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯมาทุ่มเทให้กับแอนิเมชันและธุรกิจในวงการบันเทิงว่า เพราะต้องช่วยธุรกิจครอบครัวในการขายของขวัญ ของที่ระลึก ของชำร่วย ที่มีเปลือกหอยรูปทรงต่างๆที่ทำจากเรซินมาประดับตกแต่ง ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมทำมือของคนไทย โดยต้องไปออกบูธ นำเสนอสินค้าตามงาน Exibition ในประเทศต่างๆที่ทำให้เขาพบว่าสินค้าทำมือขายได้ราคาถูกมาก ขณะที่ค่าแรงไม่ได้ถูกที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง และยังง่ายต่อการถูกก๊อบปี้เลียนแบบ
เขาจึงกลับมาคิดว่า เราควรเพิ่มมูลค่าสินค้า ด้วยการสร้างแบรนด์ให้มีเรื่องเล่าหรือสตอรี ซึ่งมันสามารถเข้าถึงและ touch ใจคนมากกว่า โดยสร้างเอกลักษณ์และมีลิขสิทธิ์ของตัวเอง แทนที่จะทำหอยจากเรซินมาตกแต่งเฉยๆ
และด้วยเป็นคนชอบดูการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก เขาจึงคิดสตอรีเป็นการ์ตูน มี “เชลล์ดอน” หอยที่มาจากดวงอาทิตย์เป็นตัวเอก มีคาแรกเตอร์โดดเด่นคือเป็นหอย “ผู้ให้” และเป็น “ผู้ค้นพบศักยภาพของตัวเอง” ว่าสามารถขับพลังดีๆให้กับผู้คนใน community ได้ นอกจากนี้ยังสอดแทรกเรื่อง “ภาวะโลกร้อน” โดยให้ “เชลล์ดอน” มาให้ความรู้เรื่องการลดภาวะโลกร้อนที่ถือเป็น “ผู้มาก่อนกาล” เพราะขณะนั้นโลกยังไม่ตระหนักถึงภัยอันตรายจากภาวะโลกร้อนมากเท่าในปัจจุบัน
โดยการ์ตูนเรื่องนี้เริ่มคิดมาตั้งแต่ปลายปี ค.ศ.2001 กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างเป็นเรื่องราว ต้องใช้เวลามากกว่า 8 ปี เงินลงทุนส่วนตัวที่เขาทุ่ม ลงไปกว่า 10 ล้าน จึงหมดลง!! และถึงเวลาต้องหาผู้ร่วมทุน...
“ผมเดินทางไปนำเสนอเรื่องราวของ “เชลล์ดอน” ทั้งในและต่างประเทศ พบกับผู้ลงทุนมากกว่า 200 ราย หอบงานไปพรีเซนต์เดินเข้าตึกโน้นออกตึกนี้ แม้พวกเขาจะสนใจและตื่นเต้นกับงานของเรา แต่กลับหาเงินทุนหรือผู้ร่วมทุนมาต่อยอดไม่ได้!! ส่วนหนึ่งเพราะไม่เชื่อว่าคนไทยจะสร้างแอนิเมชันไปสู่ตลาดโลกได้...แต่ผมไม่เคยถอดใจเลย เพราะมองเป้าหมายที่ใหญ่กว่าแค่มาต่อยอดผลิตภัณฑ์ธุรกิจของครอบครัวไปแล้ว ผมต้องการสร้าง Intellectual Property (IP) ลิขสิทธิ์ทางปัญญาที่เป็น global ให้กับแอนิเมชันของไทย ที่สามารถโลดแล่นไปเป็น “ผู้ให้” เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆทั่วโลกได้ “รู้จักและค้นพบศักยภาพตัวเอง” พร้อมๆกับการตระหนักในปัญหาโลกร้อน ซึ่งเป็นการสร้าง Legend หรือ “ตำนาน” ให้ตัวเอง และโลกแอนิเมชันของไทย”
ในที่สุดก็มี “ผู้ใหญ่ใจดี” ที่เป็นคนไทย มองเห็นคุณค่าและความมุ่งมั่นตั้งใจของ “ดร.แตน” ให้เงินทุนไปปลุกให้ “เชลล์ดอน” มีชีวิตขึ้นมาโลดแล่นและได้ออกอากาศครั้งแรก ที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ต่อเนื่องถึง 78 ตอน (ตอนละครึ่งชั่วโมง) และได้เปิดโลกไปยังประเทศต่างๆกว่า 150 ประเทศ ถือเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจของวงการแอนิเมชันไทย!!
ก่อนที่จะได้ร่วมกับแกรมมี่สร้างซีรีส์ “เบิร์ดแลนด์ แดนมหัศจรรย์” และเรื่องอื่นๆตามมา ทั้ง Food truck รถโรงเรียนทำอาหาร, ซีรีส์ friend Z space, “สติมา” เรื่องราวของเณรน้อยเจ้าปัญญา เป็นต้น
“ดร.แตน” บอกว่า ตอนนี้ในมือมีซีรีส์และภาพยนตร์ ที่เป็น IP ลิขสิทธิ์ทางปัญญาที่จะผลิตออกมามากกว่า 20 เรื่อง โดยร่วมกับพันธมิตรจีนที่มี ศักยภาพ มาสร้างนวัตกรรมแอนิเมชันร่วมกัน และต่อยอดธุรกิจจากการ์ตูนแอนิเมชันสู่การสร้างเกมส์ นอกเหนือจากการนำคาแรกเตอร์การ์ตูนไปผลิตเป็นสินค้า ของใช้ที่ระลึกต่างๆ จนถึงการสร้างสวนสนุกแอนิเมชัน park อย่างที่วอลล์ ดิสนีย์ทำดิสนีย์ แลนด์
เมื่อถามว่าอะไรเป็นแรงผลักดันให้เกิดความมุ่งมั่น จนนำไปสู่ความสำเร็จนั้นได้ “ดร.แตน” บอกว่า การสร้างแอนิเมชันที่มีเป้าหมายไประดับโลก นอกจากมี passion แล้ว ยังต้องอาศัยความอึด อดทน และมุ่งมั่น ที่สำคัญต้องมีสายป่านเงินทุนที่ยาวด้วย เพราะกว่าจะสำเร็จจนมีรายได้ย้อนคืนมาต้องใช้เวลายาวนาน และบางครั้งก็อาจทำไม่สำเร็จ ที่สำคัญต้องมีพันธมิตรที่เก่ง ที่จะร่วมสานฝันไปด้วยกัน
ที่สำคัญอย่ากลัวที่จะล้มเหลว ต้องกล้ายอมรับและพูดความจริงว่าเรายังไม่สำเร็จ หากเรามั่นใจและเห็นความสำเร็จปลายทางที่ชัดเจน ก็ต้องพยายามมากขึ้นไปอีก
“ผมไม่ได้เป็นคนเก่งในสาขาไหนเลย ผมทำตัวเหมือนแก้วที่น้ำไม่เต็มแต่พยายามหาคนเก่งจากทั่วโลกมาช่วยเติมน้ำในแก้ว ผมเป็นแค่คนต่อจิ๊กซอว์ และมีฐานในการจัดวางจิ๊กซอว์ที่แข็งแรง”
เมื่อถามว่า Business on my way ของเขาเป็นอย่างไร “ดร.แตน” บอกว่า เขาใช้ “ธรรมะ” เป็นแกนกลางมากกว่า commercial โดยเน้นสร้าง “คุณค่า” มากกว่า “มูลค่า” อย่าง “เชลล์ดอน” เป็นเรื่องราวที่มีคุณค่าต่อเด็กต่อโลก เมื่อคนเห็น “คุณค่า” นั้น มูลค่าหรือรายได้กำไรก็จะเกิดขึ้นตามมา!! “ดร.แตน” ทิ้งท้าย.
เลดี้แจน
คลิกอ่านคอลัมน์ “Business On My Way” เพิ่มเติม