การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัลส่งผลให้เทรนด์ต่าง ๆ เปลี่ยนไป โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ได้รับอิทธิพลจากโซเชียลมีเดียอย่างมาก จนส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอสินค้าและบริการและต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา
บทสรุปจากงาน Marketing Insight & Technology Conference 2024 จากเวที “MIT Trends: Market & Consumer” นำเสนอโดย วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ จาก The Mall Group และ ศิริพร กิตติชัชวาล จาก YouGov Thailand
6 พฤติกรรมผู้บริโภคที่เข้ามาเปลี่ยนวิธีการทำตลาด
- ใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล - การเติบโตของโซเชียลมีเดียมีผลต่อการจับจ่ายของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุคที่ Gen Z มีการเข้าถึงสินค้าและบริการมากขึ้น ส่งผลให้ลูกค้าหันมาใช้งานด้านดิจิทัลในชีวิตประจำวันมากขึ้น
- ศึกษาก่อนตัดสินใจ - จากอิทธิพลของโซเชียลมีเดียที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้บริโภค ทำให้เกิดความเชื่อใจและรับฟังความเห็นจากผู้ใช้งานบนโซเชียล จนส่งผลต่อการเลือกซื้อสินค้าและบริการ โดยลูกค้าจะศึกษาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมากขึ้นก่อนจะตัดสินใจซื้อสินค้า และพร้อมจะให้คำแนะนำหรือรีวิวต่อ
- เน้นที่ตรงกับประสบการณ์ - จากการเติบโตขึ้นของสังคม Solo Economy หรือการใช้ชีวิตคนเดียว เทรนด์ Pet Parents ที่สัตว์เลี้ยงกลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ซึ่งจะเห็นว่าหลายแบรนด์ได้หันมาพัฒนาสินค้าให้ตอบรับกับความต้องการเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น ปรับรูปแบบบริการในร้านอาหารให้รองรับการมารับประทานอาหารคนเดียว หรือเปิดพื้นที่ให้นำสัตว์เลี้ยงเข้ามาได้ เป็นต้น เพื่อให้รักษาฐานลูกค้า อีกทั้งยังมีปัจจัยที่คนรุ่นใหม่มักจะต้องการสิ่งที่มากกว่าสินค้าและบริการ นั่นก็คือ การให้คุณค่ากับประสบการณ์ที่จะได้รับจากแบรนด์นั่นเอง
- เลือกของที่ตอบโจทย์สุขภาพ - นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เทรนด์การดูแลสุขภาพเติบโตขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเทรนด์นี้ไม่ได้ส่งผลแค่กับธุรกิจกลุ่ม F&B หรือกลุ่ม Health Care แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มอื่นที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น เก้าอี้สำนักงาน ที่จะต้องคำนึงถึงการรองรับสรีระ นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังให้คุณค่ากับเรื่องความยั่งยืน และพร้อมจะสนับสนุนสินค้ากลุ่มนี้แม้จะมาในราคาที่สูงกว่า
- ต้องให้คุณค่าทางจิตใจ - ด้วยอิทธิพลของโลกออนไลน์ส่งผลให้พฤติกรรมการซื้อสินค้าของลูกค้าเปลี่ยนไป และหนึ่งในนั้นก็คือปัจจัยของคอนเทนต์และการส่งมอบประสบการณ์ ซึ่งปัจจุบันเราจะเห็นภาพไวรัลความน่ารักของ “มาสคอตหมีเนย” ที่นับว่าเป็นปรากฏการณ์ในความเปลี่ยนแปลงทางการตลาด ที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคต้องการสิ่งที่ “Heart-Melt” มากกว่า “Hard-Sell” ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางจิตใจ สร้างคอนเทนต์ที่ให้ความสุข จะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ในขณะเดียวกันลูกค้าก็จะไปส่งต่อความสุขให้กับผู้อื่นต่อ ยกตัวอย่างเคสของน้องหมีเนย ที่ช่วยผลักดันให้ลูกค้ากว่า 80% ของแบรนด์ Butterbare ไปร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือเด็กและสังคม
- เข้าถึงทั้งออนไลน์และออฟไลน์ - นอกจากการเข้าถึงคอนเทนต์และสินค้าผ่านโลกออนไลน์แล้ว ปัจจุบันผู้บริโภคก็ให้ความสำคัญกับเรื่องหน้าร้านแบบออฟไลน์เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจคาเฟ่ ที่ลูกค้ามักจะรู้จักจากโลกออนไลน์ก่อนจะแวะมาหน้าร้าน ซึ่งหากธุรกิจสามารถผสานทั้ง 2 ช่องทางให้ลูกค้าเข้าถึงได้แบบไร้รอยต่อ จะเป็นการตอบโจทย์ของการใช้ชีวิตของลูกค้าสมัยนี้ได้เป็นอย่างดี
แล้วธุรกิจไทยควรเดินหน้าอย่างไรต่อ?
เชื่อว่าปัจจุบันธุรกิจทุกเจ้าต้องใช้เทคโนโลยีในการดำเนินงาน เพราะใช้โซเชียลมีเดียมาช่วย แต่หากมีการนำเครื่องมืออื่น ๆ อย่างเช่น AI มาช่วยเป็น Assistant หรือการใช้โมเดล Subscription ที่กำลังเป็นที่นิยมมาช่วย ก็อาจจะสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจได้อีก และสำหรับธุรกิจที่มีหน้าร้านแบบออฟไลน์ก็ต้องไม่ลืมที่จะผสานการทำงานกับโลกออนไลน์ให้ไปด้วยกัน เพื่อเสริมให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้แบบไร้รอยต่อ
เสริมกลยุทธ์วิธีการอย่าง Influencer Marketing ที่ใช้อินฟลูเอนเซอร์ในโลกออนไลน์ดึงลูกค้าด้วยรีวิวที่เป็นกันเอง เพราะพฤติกรรมลูกค้าที่จะศึกษาสินค้าและบริการก่อนตัดสินใจ และเลือกที่จะเชื่อเพื่อนในอินเทอร์เน็ตมากกว่า วิธีนี้จะช่วยส่งเสริมด้านการขายให้ธุรกิจได้
อย่าลืมที่จะสร้าง “Trust” ให้กับลูกค้า ให้ Blend-in ดึงประสบการณ์มาเพิ่ม Value ให้กับสินค้าและบริการ เพราะผลกระทบจากเศรษฐกิจส่งผลให้ลูกค้ามองว่า การจะจ่ายเงินให้กับสินค้าสักชิ้น สิ่งนั้นจะต้องมีคุณค่าสมกับราคาที่จ่าย และให้คุณค่ากับประสบการณ์พอ ๆ กับเรื่องเงิน และเรื่อง “Entertainment and Fun” คือ Priority หลักที่ลูกค้าให้ความสนใจ ต้องให้คุณค่าทางจิตใจ ให้ความสบายใจ และมีความสุข
ในประเด็นเรื่องการเข้ามาตีตลาดไทยของธุรกิจจีน ต้องยอมรับให้ได้ว่า ธุรกิจยังไงก็ต้องปรับตัว หากสินค้าจีนมาในราคาถูก สินค้าของเราต้องเน้นไปที่คุณภาพ เพราะอย่าลืมว่า คนต้องการสิ่งที่มีคุณค่า ธุรกิจไทยอาจจะต้องสร้างความแตกต่าง หรือเลือกที่จะ Collaborate ทำร่วมกันไปกับแบรนด์จีนเลย