ผลสำรวจชี้ เกือบ 50% ของคนไทย “ฐานะการเงินแย่ลง” แต่ยังช็อปของดี ไม่เกี่ยงราคา เน้นความคุ้มค่า

Business & Marketing

Trends

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ผลสำรวจชี้ เกือบ 50% ของคนไทย “ฐานะการเงินแย่ลง” แต่ยังช็อปของดี ไม่เกี่ยงราคา เน้นความคุ้มค่า

Date Time: 20 มิ.ย. 2567 19:06 น.

Video

"CINDY CHAO The Art Jewel" สองทศวรรษอัญมณีศิลป์ | Brand Story Exclusive EP.4

Summary

  • NIQ เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทย การช็อปสินค้ากลุ่ม FMCG เปลี่ยนไป เน้นลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หันไปซื้อสินค้าที่ให้ความคุ้มค่ามากขึ้น รอช่วงโปรโมชัน และแม้ว่าสถานะทางการเงินแย่ลงแต่ยังเลือกของดีมีคุณภาพ นอกจากนี้ คนไทยยังหันไปใช้สินค้าแบรนด์ใหม่ๆ มากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจต้องเร่งปรับตัว

Latest


นีลเส็นไอคิว (ประเทศไทย) หรือ NIQ เผยผลสำรวจพฤติกรรมการช็อปปิ้งของผู้บริโภคชาวไทยในปี 2567 ที่ช็อปปิ้งสินค้ากลุ่ม FMCG หรือสินค้าอุปโภคบริโภคจากห้าง ร้านสะดวกซื้อ โชห่วย และออนไลน์ ในรายงาน “Thai Shopper Trends 2567” พบว่าคนไทยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เนื่องจากค่าสาธารณูปโภคและค่าอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้หันไปซื้อสินค้าที่ให้ความคุ้มค่ามากขึ้น หรือรอช่วงโปรโมชัน และถึงแม้ว่าสถานะทางการเงินแย่ลงตั้งแต่ต้นปี ผู้บริโภคก็จะเลือกของดีมีคุณภาพก่อน นอกจากนี้ยังพบอีกว่า คนไทยหันมาใช้งานสินค้าแบรนด์ใหม่ๆ มากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจขาดลูกค้าที่ซื่อสัตย์ต่อแบรนด์

เศรษฐกิจแย่ พาพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ผู้บริโภคหลายคนมองว่าเป็นวิกฤติ ส่งผลให้สถานะทางการเงินของผู้ซื้อชาวไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปีที่ผ่านมา จากข้อมูลที่ได้ทำการสำรวจเมื่อเดือนมกราคม 2567 พบว่า 48% ของผู้บริโภคชาวไทยมีสถานะทางการเงินแย่ลง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 ที่ตัวเลขอยู่ที่ 39% 

สถานะทางการเงินที่ลดลงนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากค่าต้นทุนในสินค้าสาธารณูปโภคและค่าอาหารที่พุ่งสูงขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ส่งผลให้งบประมาณครัวเรือนทั่วประเทศตึงตัว โดยปัจจัยในปี 2567 ที่ผู้บริโภคกังวล มีดังนี้

เรื่องของต้นทุนด้านสาธารณูปโภค และค่าอาหารเป็นข้อกังวลอันดับต้นๆ ของผู้บริโภค โดยต้นทุนของอาหารเพิ่มสูงขึ้นจาก 27% ในเดือนกรกฎาคม 2566 เป็น 30% ในเดือนมกราคม 2567 นอกจากนี้ ผู้ซื้อยังต้องรับมือกับความกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและผลกระทบของภาวะโลกร้อนด้วย เพื่อจัดการกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุนเหล่านี้ ผู้ซื้อหลายคนจึงวางแผนซื้อสินค้า โดยส่วนใหญ่จะเลือกซื้อสินค้าที่จำเป็น ไม่ฟุ่มเฟือย บางส่วนซื้อในปริมาณที่ลดลง และสิ่งที่น่าสนใจคือ มักจะซื้อสินค้าในช่วงลดราคา และช่วงที่มีการจัดโปรโมชันพิเศษเพื่อช่วยลดการใช้จ่าย

ผู้ประกอบการควรรับมืออย่างไร?

ผลกระทบจากต้นทุนราคาสินค้าและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปเท่านั้น ฝั่งของผู้ประกอบการในกลุ่มค้าปลีก ก็ต้องหาหนทางในการปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและบริการเช่นกัน

โดยทัศนคติในการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคในปัจจุบัน จะคำนึงถึง 4Ps โดยจะให้ความสำคัญตามลำดับ ดังนี้

  1. Place (ร้านค้า): 96% ของผู้บริโภค เลือกที่จะเข้าซื้อสินค้าในร้านที่มีการจัดเรียงอย่างดีและมีบรรยากาศน่าเดิน
  2. People (บุคคลผู้ให้บริการ): 92% ของผู้บริโภค เลือกที่จะเข้าร้านที่มีพนักงานบริการดี
  3. Product (สินค้า): 90% ของผู้บริโภค เลือกที่จะให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้ามากกว่าราคา เพื่อให้ประหยัดเวลาและคุ้มค่า
  4. Price and Promotion (ราคาและโปรโมชัน): 86% ของผู้บริโภค เลือกที่จะซื้อสินค้าที่ให้ส่วนลดพิเศษก่อน โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

นอกจากเรื่องของการปรับด้านการตลาดแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกหนึ่งเรื่องคือ ผู้บริโภคสมัยใหม่ “เลือกที่จะซื้อสินค้าแบรนด์ใหม่ และเปิดใจรับสินค้าใหม่ๆ ในตลาด” จากรายงานพบว่า 89% ของผู้บริโภคพร้อมที่จะทดลองใช้สินค้าแบรนด์ใหม่ในตลาด โดยเฉพาะในกลุ่มข้าวสาร และแชมพู-ครีมนวด และมีผู้บริโภคเพียง 19% เท่านั้นที่ยังคงมุ่งมั่นจะซื้อสินค้าแบบเดิมๆ 

ด้าน NIQ แนะฝั่งผู้ประกอบการว่า ควรเสนอส่วนลดและเพิ่มตัวเลือกในสินค้า รวมถึงออกแบบสินค้าที่สามารถซื้อได้ปริมาณมากในครั้งเดียว เพื่อเพิ่มความคุ้มค่าในสินค้า อย่างไรก็ตาม ต้องอย่าลืมที่จะเน้นย้ำถึงคุณค่าและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อรักษาและดึงดูดลูกค้า นอกจากนี้ ธุรกิจควรใช้กลยุทธ์การขายออนไลน์มากขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุนหน้าร้าน และเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ซื้อที่มองหาข้อเสนอพิเศษทางช่องทางออนไลน์

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ