เปิด 12 เช็กลิสต์ หางานที่ใช่ สมัครงานที่ชอบ นอกจาก “เงินเดือน” ต้องคำนึงอะไรอีกบ้าง?

Business & Marketing

Trends

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิด 12 เช็กลิสต์ หางานที่ใช่ สมัครงานที่ชอบ นอกจาก “เงินเดือน” ต้องคำนึงอะไรอีกบ้าง?

Date Time: 12 เม.ย. 2567 12:00 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน แต่ระวัง “ปวดหัว” ทีหลัง เปิดลิสต์ 12 ปัจจัยพิจารณา ก่อนตัดสินใจ “สมัครงาน” นอกจากชื่อตำแหน่ง, เงินเดือน แล้วยังต้องคำนึงอะไรอีกบ้าง ในการหางานที่ใช่

Latest


เลือกนักมักได้แร่ แต่ถ้า “ไม่เลือก” เลย ก็อาจแย่เหมือนกัน สำหรับ การเลือกงาน เลือกบริษัท ที่ถูกใจ สักหนึ่งแห่ง เพื่อทำงานด้วย ยิ่งเด็กจบใหม่ เพิ่งเริ่มหางานทำ หลายคนพลาด เพราะกลัวคำว่า “ตกงาน” หรือเลือกเพราะปัจจัย “เงินเดือน” เป็นหลัก ก็อาจทำให้ ปวดหัว ภายหลังได้ 

ซึ่งนอกจาก หน้าที่ความรับผิดชอบ, ค่าตอบแทน และตำแหน่งงาน ที่ตรงกับความถนัด สนใจของเราแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เมื่อตัดสินใจ “สมัครงาน” โดยข้อมูลมีประโยชน์ ของ JOBTHAI ระบุไว้ 12 ข้อ ดังนี้ 

1. ชื่อตำแหน่งและความรับผิดชอบ

อย่ามองข้าม Job Description เพราะนี่ เป็นสิ่งที่คนทำงานควรอ่านให้ละเอียดทุกครั้ง แบบห้ามผ่าน เพราะแม้จะเป็นตำแหน่งเดียวกัน แต่ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบก็แตกต่างกันไปตามแต่ละบริษัท ที่สำคัญ เป็นหน้าที่ที่สัมพันธ์กันกับชื่อตำแหน่งหรือไม่ เช่น สมัครงานตำแหน่งกราฟิกดีไซเนอร์ แต่ภาระงานนอกจากการออกแบบภาพกราฟิกแล้ว ยังพ่วงการตอบข้อความในช่องทางโซเชียลมีเดียด้วย อันนี้ก็คงไม่ไหว 

2. สถานที่ตั้งของบริษัท

ที่ตั้งของบริษัทเป็นสิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้เลย เพราะยิ่งบริษัทอยู่ไกล เวลาที่ใช้ในการเดินทางก็ยิ่งมากขึ้น แถมยังอาจมีเรื่องของค่าเดินทางที่เพิ่มขึ้นตามมาด้วย ดังนั้นก่อนเลือกงาน อย่าลืมพิจารณาดูว่าระยะทางไปบริษัทไกลจากที่พักของเราแค่ไหน

3. วันและเวลาทำงาน

แต่ละตำแหน่ง แต่ละบริษัท ก็มีระยะเวลาทำงานที่ไม่เหมือนกัน บางงานอาจเริ่มงานตอน 8 โมงและเลิกงานตอน 5 โมง ส่วนบางงานก็อาจเริ่มตอน 10 โมงและเลิกตอน 1 ทุ่ม และอย่าลืมตรวจสอบ วันหยุดของบริษัทให้ชัด เพราะบางบริษัท ทำงาน 5 วันหยุด เสาร์-อาทิตย์ แต่บางบริษัท ต้องทำงาน 6 วัน ทำงานเสาร์เว้นเสาร์ เป็นต้น 

4. เงินเดือน/ค่าตอบแทน 

ที่สำคัญที่สุดของการสมัครงานของบางคน อาจเป็นเรื่องของ “เงินเดือน” JOBTHAI แนะนำว่า ให้เราพิจารณา ว่าเงินเดือนนั้น ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของเราหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นค่าที่พักอาศัย ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าจิปาถะอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน ลองคำนวณดูก่อนว่าค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนของเราประมาณเท่าไร และเงินเดือนที่เราจะได้รับเพียงพอหรือไม่ 

5. สวัสดิการบริษัท

บางงานที่เงินเดือนดูน่าสนใจน้อยกว่า แต่พอลองพิจารณาสวัสดิการควบคู่กันด้วยแล้วก็อาจกลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจขึ้นมา เพราะสวัสดิการสามารถทดแทนค่าใช้จ่ายบางส่วนได้เหมือนกัน ขณะบางบริษัทก็มีประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุให้ ช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายส่วนตัวพนักงานได้ด้วยเช่นกัน 

6. ประวัติบริษัทและชื่อเสียงองค์กร

ก่อนจะสมัครงานที่ไหน เราควรหาข้อมูลดูด้วยว่าบริษัทนั้นเปิดมานานเท่าไร บริษัทที่เราสนใจมีแนวโน้มเติบโตดีรึเปล่า สถานะทางการเงินเป็นยังไง เคยปลดพนักงานมาก่อนไหม เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าบริษัทนั้นมีความมั่นคงดี ไม่ได้เสี่ยงล้มละลาย ถ้าศึกษาดูแล้วไม่เจอประวัติที่น่าเป็นห่วงอะไรก็อาจลองพิจารณาถึงเรื่องชื่อเสียงและภาพลักษณ์ขององค์กรต่อจากนั้น 

7. วัฒนธรรมองค์กร

แม้ตำแหน่งและหน้าที่จะถูกใจ แต่ถ้าเข้าไปทำงานแล้วดันไม่ถูกกับวัฒนธรรมองค์กร ก็อาจทำให้เรารู้สึกเข้ากับบริษัทไม่ได้ สุดท้ายก็จบด้วยการลาออก ดังนั้นเราควรทำการบ้านก่อนว่าเป้าหมายขององค์กรที่เราจะสมัครเข้าไปคืออะไร บริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องไหน และวัฒนธรรมองค์กรตรงกับความเป็นตัวเรารึเปล่า ถ้าไม่ตรงกันก็อาจทำให้เราไม่มีความสุขกับการทำงานได้ 

8. เทคโนโลยีและอุปกรณ์ในการทำงาน

การทำงานจะออกมาดีและราบรื่นได้ก็ต่อเมื่อมีอุปกรณ์รองรับ ดังนั้นเวลาสมัครงานที่ไหน เราควรเช็กดูด้วยว่าองค์กรมีคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการทำงานให้ เราไม่ต้องเตรียมเอง เช่น เมาส์ปากกาสำหรับสายงานออกแบบ คอมพิวเตอร์ที่มีสเปกสูงๆ รองรับการทำงานสำหรับสายงานตัดต่อ ยิ่งถ้าเราเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการแยกเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวออกจากกัน อย่าลืมเช็กดูด้วยว่าบริษัทที่เราสนใจใช้โปรแกรมหรือแอปพลิเคชันสื่อสารสำหรับการทำงานโดยเฉพาะหรือไม่

9. บริษัทที่มี Work-life Balance

ถ้าเราต้องทำงานในองค์กรนี้ เรามีเวลาใช้ชีวิตส่วนตัวและพักผ่อนเพียงพอรึเปล่า สามารถลาหยุดติดกันหลายๆ วันได้ไหม องค์กรมีวัฒนธรรมที่พนักงานต้อง Stand by ตอบข้อความเรื่องงานนอกเวลางานรึเปล่า เพราะแต่ละคนมีจุดที่โอเคและไม่โอเคแตกต่างกัน ดังนั้นอย่าลืมพิจารณาในจุดนี้ด้วย

10. โอกาสเติบโตและความก้าวหน้าในอาชีพ

เมื่อพูดถึงความก้าวหน้า หลายคนอาจคิดถึงแต่การเลื่อนตำแหน่ง ได้ปรับจาก Junior เป็น Senior หรือระดับอื่นๆ ที่สูงขึ้น แต่จริงๆ แล้วความก้าวหน้าในการทำงานไม่ใช่แค่การเลื่อนตำแหน่งเท่านั้น แต่รวมไปถึงการเติบโตในแง่ของทักษะด้วย เช่น ถ้าบริษัทมีพื้นที่ให้เราได้ลองอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ ก็จะช่วยให้เราได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ และมีประสบการณ์มากขึ้น เพื่อนำไปต่อยอดในการสมัครงานที่อื่นในตำแหน่งที่สูงขึ้นหรือเรียกค่าตอบแทนได้มากขึ้นเช่นกัน 

11. บรรยากาศและสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน

เชื่อว่า พื้นที่กว้างขวางเพียงพอ โต๊ะทำงานไม่อัดกันเบียดเสียด มีแสงสว่างพอเหมาะ และมีมุมให้นั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจจากการทำงานบ้าง อารมณ์ในการทำงานก็ย่อมดีขึ้น ช่วยให้เรามีความสุขกับการทำงานขึ้นแน่นอน

12. หัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน

“คน” เป็นปัจจัยที่แทบจะส่งผลกับการทำงานมากที่สุด หลายคนยอมลาออกจากงานที่ได้เงินเดือนสูงหรือองค์กรที่มีชื่อเสียงเพราะเพื่อนร่วมงาน ดังนั้นก่อนตัดสินใจเลือกงานไหน อย่าลืมพิจารณาดูว่าสังคมในที่ทำงานนั้นเป็นยังไง สไตล์การทำงานหรือวิธีการสื่อสารภายในทีมเป็นยังไงบ้าง ว่าถ้าเราได้เข้าไปทำงานในองค์กร เราจะได้ทำงานร่วมกับใครบ้าง หรือถ้าได้ไปถึงขั้นตอนสัมภาษณ์งานกับคนที่จะมาเป็นหัวหน้างานของเรา เราก็อาจจะลองสังเกตบุคลิกและลักษณะนิสัยของคนที่สัมภาษณ์เราดู เพื่อศึกษาเบื้องต้น ก่อนก็ได้เช่นกัน 

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ