จะเห็นได้ว่า “ประเทศไทย” ยังบูม จากการที่ต่างชาตินิยมใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์โทรทัศน์ โฆษณา ไม่ว่าจะเป็น ซีรีส์ The White Lotus, The Childe เทพบุตรล่านรก ที่แปลง “กรุงเทพ” เป็น “มะนิลา”, The Sympathizer ที่แปลงหาดใหญ่เป็นไซง่อน หรือแม้กระทั่งซีรีส์เกาหลีที่กำลังฮิตติดลมบนอยู่ในขณะนี้อย่างเรื่อง King The Land ก็เลือกไทยเป็นหมุดหมายในฉากสำคัญ พร้อมกับโปรโมตของกิน ร้านดัง และสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิต รวมทั้งยังสอดแทรกวัฒนธรรมการใช้ชีวิต อย่างการสั่งอาหาร ภาษาไทย และทีเด็ดคือการเก็บรายละเอียดแผงขายลอตเตอรี่ข้างทาง
จากรายงานของกองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพบว่า ในปี 2565 มีการถ่ายทำภาพยนต์ต่างประเทศในประเทศไทยถึง 348 เรื่อง โดยเดือนกันยายน และพฤศจิกายน 2565 มีการถ่ายทำสูงสุดที่ 42 เรื่อง ขณะที่ล่าสุด เดือนมกราคม 2566 มีการถ่ายทำไปแล้วถึง 34 เรื่อง สร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 298.11 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2566)
นอกจากนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย ภาครัฐยังได้ให้การสนับสนุนเป็นสิทธิประโยชน์ในรูปแบบการคืนเงิน (Cash Rebate) ตามมติ ครม. (7 ก.พ. 2566) ร้อยละ 20-30 เป็นระยะเวลา 2 ปี สิทธิประโยชน์หลักอยู่ที่ร้อยละ 20 เมื่อมีการลงทุนในประเทศไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ส่วนสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมรวมแล้วไม่เกินร้อยละ 10
รวมทั้งยังมีการปรับเพิ่มการคืนเงินจากเดิม 75 ล้านบาท/เรื่อง เป็น 150 ล้านบาท/เรื่อง จะทำให้เพดานเงินลงทุนสร้างภาพยนต์ต่อเรื่องเพิ่มเป็น 750 ล้านบาท จากเดิม 375 ล้านบาท เพื่อเป็นการรับกับแนวโน้มที่คณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาในไทยเป็นผู้สร้างรายใหญ่ เงินทุนสูง โดยเฉพาะภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์
หากดูสถานที่ยอดฮิตในปี 2565 ที่ผ่านมา จังหวัดสถานที่ถ่ายทำยอดฮิตของกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต สมุทรปราการ เชียงใหม่ และพังงา โดยรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย รวมถึงในการจ่ายเงินคืนให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างชาติในช่วง 7 ปี (พ.ศ. 2560-2566) มีภาพยนตร์จำนวนกว่า 45 เรื่องที่เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย นำรายได้เข้าประเทศเกือบ 9 พันล้านบาท หมุนเวียนเศรษฐกิจในอัตราทวีคูณถึงกว่า 17,000 ล้านบาท
ด้านกรมการท่องเที่ยว โดยกองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ ได้มีการเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์การลงทุนของคณะถ่ายทำภาพยนตร์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน มากกว่า 2,000 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการเข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ จำนวน 3 งาน ได้แก่ Hong Kong International Film & TV Market (FILMART) เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน Beijing International Film Festival (BJIFF) กรุงปักกิ่ง และ Shanghai International Film Festival (SIFF) นครเซี่ยงไฮ้ ที่ผ่านมา
ขณะที่ นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า "ตลาดภาพยนตร์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นหนึ่งในตลาดที่สำคัญ และมีศักยภาพ ประกอบกับชาวจีนมีความชื่นชอบในเอกลักษณ์ วัฒนธรรม และสื่อบันเทิงของประเทศไทยเป็นอย่างมาก จึงเป็นโอกาสอันดีที่กรมการท่องเที่ยวได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ ในการออกคูหานิทรรศการในงานเทศกาลภาพยนตร์ทั้ง 3 งาน ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากคณะถ่ายทำชาวจีน เข้าสอบถามข้อมูลการขออนุญาตถ่ายทำ มาตรการส่งเสริมการถ่ายทำ และข้อมูลด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยภายในคูหาประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเดินทางเข้าร่วมงานที่กรุงปักกิ่ง ได้เข้าพบกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง เพื่อหารือแนวทางการขอรับการตรวจลงตราในหนังสือเดินทางของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ชาวจีน ให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอน แต่ยังคงให้ความสำคัญกับความมั่นคงของประเทศเป็นอันดับแรก"
ทั้งนี้ จากสถิติการถ่ายทำภาพยนตร์ของคณะถ่ายทำชาวจีนและฮ่องกง 6 เดือนแรกของปี 2566 พบว่า มีเรื่องยื่นขออนุญาต จำนวนทั้งสิ้น 28 เรื่อง สร้างรายได้กว่า 380 ล้านบาท กรมการท่องเที่ยวหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเข้ามาลงทุนถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยของคณะถ่ายทำชาวจีน จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้พลิกฟื้นเศรษฐกิจ เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการเดินทางตามรอยภาพยนตร์ของนักท่องเที่ยวชาวจีนต่อไป
และจากการที่ กรมการท่องเที่ยว บูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงพาณิชย์ ออกบูทนิทรรศการประเทศไทย Thailand Pavilion ในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ (2023 Cannes Film Festival) ไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ซึ่งเป็นงานเทศกาลภาพยนตร์ระดับต้นๆ ของโลกที่มีผู้สนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้สร้าง ผู้ผลิตภาพยนตร์ในทวีปยุโรป ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดที่มีกำลังซื้อสูง
ก็ได้มีการนำเสนอโลเคชั่นถ่ายทำภาพยนตร์ ความสามารถของทีมงานไทย โรงแรมที่พัก การคมนาคม อุปกรณ์การถ่ายทำ การพักผ่อนท่องเที่ยว และมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ประเทศไทยรูปแบบการคืนเงิน (Cash Rebate) แก่ผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างๆ ตอกย้ำศักยภาพของประเทศไทย ในการเป็นโลเคชั่นถ่ายทำภาพยนตร์ระดับโลก ที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้สร้างหนัง
โดยจากการออกบูธมีผู้เข้าเยี่ยมชมบูทประเทศไทยแล้วกว่า 500 ราย คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้ามาลงทุนถ่ายทำในประเทศไทย สร้างรายได้เข้าประเทศต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยในภาพรวม ทั้งการจ้างงานและกระจายรายได้สู่บุคลากรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสร้างรายได้สู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์ กว่า 3,000 ล้านบาท
จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพความสวยงามและเสน่ห์ของประเทศไทยในแผ่นฟิล์ม ที่ได้ปรากฏสู่สายตาผู้ชมทั่วโลก จะส่งผลให้เกิดกระแส Soft Power อย่างเห็นได้ชัด และสร้างโมเมนต์ท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ ซีรีส์กันอย่างคับคั่ง ทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนในระบบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างแน่นอน