สิรินิธิ์ วิรยศิริ Head of Business Marketing ประเทศไทย กล่าวว่า TikTok ได้สร้างนิยามใหม่ให้กับประสบการณ์การช็อปปิ้งของผู้บริโภคชาวไทยผ่าน Shoppertainment ที่รวบรวมทั้งคอนเทนต์ความสนุกสนาน และความบันเทิงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแพลตฟอร์ม TikTok ต่อเนื่องด้วยการซื้อขายสินค้าเพื่อช่วยขับเคลื่อนความสำเร็จทางธุรกิจ เชื่อมโยงแบรนด์ ชุมชนผู้ขาย และครีเอเตอร์เข้าไว้ด้วยกันในชุมชน บนแพลตฟอร์ม
โดย Shoppertainment ได้กลายมาเป็นยุคใหม่ของการขายออนไลน์ และภายในปี 2025 คาดว่า Shoppertianment จะสามารถปลดล็อกโอกาสทางธุรกิจมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
อีกทั้งยังมีผลสำรวจเปิดเผยอีกว่า ระหว่างเทศกาล Mega Sales ในปี 2022 สินค้ายอดนิยมบน TikTok Shop 3 อันดับแรก ได้แก่ สินค้าประเภทแฟชั่นและเครื่องประดับ คิดเป็น 55% สินค้าประเภทความสวยความงาม และผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายเป็น 46% และสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มอีก 40% โดยปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการซื้อสินค้าของผู้ใช้ในช่วงการลดราคาครั้งใหญ่ ได้แก่ การส่งฟรี คูปองและส่วนลด และการชำระเงินปลายทาง (COD)
นอกจากนี้ TikTok ยังเผย เคล็ดลับทำคอนเทนต์ให้ตรงใจกลุ่มลูกค้าด้วยหลัก 3R ด้วยกัน ได้แก่ Recut, Remix และ Reimagine นั่นก็คือการนำวิดีโอที่แบรนด์มีอยู่แล้วมาตัดต่อใหม่เพื่อลงบนแพลตฟอร์ม และนำเสนอสินค้าผ่านมุมมองของครีเอเตอร์ ตลอดจนการนำเสนอสินค้าในมุมมองใหม่ๆ ด้วยฟีเจอร์บน TikTok อย่างเช่น การนำเสนอสินค้าผ่านฟิลเตอร์ให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วมกับแบรนด์นั่นเอง
ขณะเดียวกันทาง TikTok ยังมีโซลูชัน Live Shopping Ads (LSA) และ Video Shopping Ads (VSA) ซึ่งเป็นแบนเนอร์ที่จะขึ้นในระหว่างการรับชมไลฟ์ และวิดีโอคอนเทนต์เพื่อพาผู้ใช้ไปยังหน้าร้านค้าตามคอนเซปต์ของแพลตฟอร์มที่พยายามผสานการขายและคอนเทนต์เข้าไว้ด้วยกันภายในแอปฯ เดียวอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งเป็นจุดเด่นของ TikTok และยังสร้างยอดขายได้อย่างมหาศาล
นอกจากนี้ TikTok ได้มีการสำรวจพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภค พบข้อมูลเชิงลึก 3 ประเด็นด้วยกัน ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ผลวิจัยพบว่า 77% ของผู้บริโภค ซื้อสินค้าจากอิทธิพลของคอนเทนต์ที่สร้างความสนุกสนานบันเทิง และ 2 ใน 3 ของผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าครั้งแรก มักจะตัดสินใจซื้อสินค้าจากความต้องการทางอารมณ์และจิตใจ (emotional demands)
ประเด็นที่ 2 ผลวิจัยพบว่า 6 ใน 10 ของผู้บริโภคไม่ได้ซื้อของจากการโฆษณา และการรับชมคอนเทนต์ของแบรนด์ (branded content) ไม่ได้กระตุ้นให้พวกเขาต้องการซื้อสินค้า และในขณะเดียวกัน 34% ของผู้บริโภค ตั้งคำถามเกี่ยวกับคอนเทนต์ของแบรนด์ และเป็นผลทำให้ตัดสินใจไม่ซื้อสินค้านั้น
และประเด็นที่ 3 ผลวิจัยแสดงให้เห็นว่า 70% ของผู้บริโภคเชื่อในคอนเทนต์บน TikTok และนำไปสู่การตัดสินใจซื้อสินค้า และ 1 ใน 4 ของผู้บริโภคบน TikTok พิจารณาซื้อสินค้าบน TikTok Shop เพราะคอนเทนต์ความบันเทิงจากเหล่าครีเอเตอร์ ผู้มีชื่อเสียง และแบรนด์