ปตท.หันโฟกัสสิ่งที่ถนัดและสู้ได้ เปิดผลกำไร 9 เดือนแรก 8 หมื่นล้านบาท

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ปตท.หันโฟกัสสิ่งที่ถนัดและสู้ได้ เปิดผลกำไร 9 เดือนแรก 8 หมื่นล้านบาท

Date Time: 20 พ.ย. 2567 08:45 น.

Summary

  • ปตท.เปิดผลประกอบการ 9 เดือนแรกปี 2567 มีกำไร 80,761 ล้านบาท เป็นผลมาจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมทั้งธุรกิจยาและสุขภาพ เดินหน้าปรับแผนลงทุน 5 ปี (2568-2572) หันมาโฟกัสสิ่งที่ถนัดและสู้ได้ ทบทวนแผนลงทุนอีวีอาจเหลือเพียงสถานีชาร์จไฟฟ้า

Latest

เปิดอินไซต์ คนไทย #ติดแกลม เมื่อคนต่างเจน มองคำว่า "หรูหรา" ไม่เหมือนกัน ?

ปตท.เปิดผลประกอบการ 9 เดือนแรกปี 2567 มีกำไร 80,761 ล้านบาท เป็นผลมาจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมทั้งธุรกิจยาและสุขภาพ เดินหน้าปรับแผนลงทุน 5 ปี (2568-2572) หันมาโฟกัสสิ่งที่ถนัดและสู้ได้ ทบทวนแผนลงทุนอีวีอาจเหลือเพียงสถานีชาร์จไฟฟ้า

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2567 ปตท.และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 80,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2% คิดเป็น 1,502 ล้านบาท จากผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีปริมาณขายเพิ่มขึ้น ความสำเร็จจากธุรกิจผลิตยาและสุขภาพ (Life Science)รวมทั้งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กำไรที่มาจากผลการดำเนินงานของบริษัทในเครือ ปตท. คิดเป็น 78% และมาจากผลการดำเนินงานของ ปตท. เอง คิดเป็น 22% โดยเป็นกำไรที่มาจากธุรกิจไฮโดรคาร์บอน 94% และธุรกิจนอน-ไฮโดรคาร์บอน 6% โดย 9 เดือนแรกของปี 2567 ปตท.และบริษัทในเครือ นำเงินส่งรัฐรวม 42,669 ล้านบาท

“ปตท. อยู่ระหว่างปรับแผนการลงทุนภายใน 5 ปี (ปี 2568-2572) ที่เตรียมจะเสนอบอร์ดพิจารณาช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2567 จากเดิมแผน 5 ปีที่ผ่านมาของ ปตท.จะใช้งบประมาณราว 200,000 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันโลกมีการแข่งขันสูง ปตท.ต้องโฟกัสเรื่องที่ตัวเองถนัด ต้องทำเรื่องที่เราสู้ได้ ดีต่อเราและดีต่อประเทศด้วย รวมทั้งทำให้มีเงินมากพอ เพื่อการเดินหน้าแผนลดการปล่อยคาร์บอน ธุรกิจไหนไม่ค่อยเก่ง ก็ต้องหาพันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาทำ”

นายคงกระพันกล่าวว่า ภายใน 3-5 ปีจากนี้แผนใหม่ของ ปตท.จะเน้นลงทุนในเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเดิมที่มีความแข็งแกร่ง และเป็นธุรกิจที่ถนัด รวมถึงแผนลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ตลอดจนเร่งผลักดันธุรกิจใหม่ด้านการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage : CCS) และธุรกิจไฮโดรเจน รองรับการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มเติม ภายใต้เป้าหมายนำไฮโดรเจนเข้ามาผสมกับเชื้อเพลิงหลัก เพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในอนาคต

ส่วนธุรกิจอื่นอาจจะต้องทบทวนกันใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่มีแนวโน้มให้พันธมิตรทางธุรกิจ ที่ถือหุ้นร่วมเป็นผู้นำในการพัฒนาแผนงานในอนาคต และในระยะถัดไป หากมีการดึงพันธมิตรรายใหม่ๆ เข้ามาช่วยบริหารก็สามารถทำได้ แต่ ปตท.ยังเดินหน้าธุรกิจสถานีเติมไฟฟ้า (ชาร์จจิ้ง สเตชั่น) ต่อเนื่อง โดยให้อยู่ภายใต้บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ดำเนินงาน

สำหรับโรงงานประกอบรถยนต์อีวีของ บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (บริษัทลูก ปตท.) กับบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (ฟ็อกซ์คอนน์) นั้น จะให้ฟ็อกซ์คอนน์เป็นผู้นำ และอาจจะหยุดโรงงานไปก่อน ส่วนธุรกิจผลิตยาและสุขภาพอย่างบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ปตท.จะเปลี่ยนบทบาทมาเป็นเพียงผู้ลงทุน และใส่เงินไปตามแผน ขณะที่กลุ่มธุรกิจอื่นๆกำลังทบทวนและจะทยอยประกาศออกมา

ด้านความคืบหน้าการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิ์ในไหล่ทวีปทับซ้อนกันของไทยและกัมพูชา (OCA) ยืนยันว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยจะเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา ทาง ปตท.มีหน้าที่เข้าไปช่วยสนับสนุนผลักดันโครงการหลังจากเจรจาแล้วเสร็จ เพราะบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มีความชำนาญและมีความพร้อมในเรื่องขุดเจาะและผลิตแหล่งปิโตรเลียมใกล้พื้นที่ดังกล่าวเพียง 60 กิโลเมตรเท่านั้น ช่วยลดต้นทุนการขนส่ง ไม่ต้องขนส่งทางเรือ ที่สำคัญสามารถนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้งานได้ภายใน 5-6 ปีข้างหน้า เร็วขึ้นกว่าเดิมที่คาดว่าต้องใช้เวลาขุดเจาะและขนส่งถึง 10 ปี จะช่วยลดต้นทุนพลังงานของประเทศไทยด้วย

นายคงกระพันกล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2568 ก็จะเป็นปีแห่งความท้าทายของการทำธุรกิจ ปตท.เพราะปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ รวมทั้งเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะเติบโต 3% ทำให้ทุกประเทศเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจเท่าเทียมกัน ขณะที่ ปตท.มองว่าราคาน้ำมันดิบตลาดโลกในปีหน้ายังคงผันผวน แต่คาดหวังว่าจะสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้มากขึ้นเพื่อรักษากำไรขององค์กรเอาไว้ รวมทั้งจะเน้นกลยุทธ์การปรับลดค่าใช้จ่ายลงได้ให้มากที่สุด.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ