"วุฒิพงษ์ ลิขิตชีวัน" ครีเอเตอร์ "อาตี๋รีวิว" ธุรกิจร้อยล้านที่จุดประกายจากสายชาร์จ 10 เส้น 5 บาท

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"วุฒิพงษ์ ลิขิตชีวัน" ครีเอเตอร์ "อาตี๋รีวิว" ธุรกิจร้อยล้านที่จุดประกายจากสายชาร์จ 10 เส้น 5 บาท

Date Time: 9 พ.ย. 2567 05:00 น.

Summary

  • ปลายเดือน ส.ค. 2567 ปรากฏข่าวเล็กๆระบุ บมจ.เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (JMART) และบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (J Ventures) เข้าลงทุนใน บริษัท เวก้า ครีเอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด (VEGA Creator) ในสัดส่วน 20% มูลค่ารวม 27 ล้านบาท

Latest

ยกระดับงานสถาปนิก ’68 เพิ่มมูลค่าให้กับประเทศ รับอุตสาหกรรมก่อสร้างฟื้น

ปลายเดือน ส.ค. 2567 ปรากฏข่าวเล็กๆระบุ บมจ.เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (JMART) และบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (J Ventures) เข้าลงทุนใน บริษัท เวก้า ครีเอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด (VEGA Creator) ในสัดส่วน 20% มูลค่ารวม 27 ล้านบาท เพื่อรุกเข้าสู่การค้าปลีกในแบบ Commerce Tech ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยเอกชัย สุขุมวิทยา รองซีอีโอเจมาร์ท เปิดเผยว่า หลังจากเจมาร์ทนำสินค้าในกลุ่มมาไลฟ์ขายในช่วงแคมเปญวันเลขคู่ 7.7 (วันที่ 7 เดือน 7) ผ่านทางโซเชียลมีเดียของครีเอเตอร์ชื่อ “ตี๋โอ” ปรากฏขายได้เพิ่มขึ้น 20 เท่า ทำให้เห็นลู่ทางการเติบโตไปด้วยกัน นำไปสู่การเข้าซื้อหุ้นบางส่วนในเวก้า ครีเอเตอร์ ซึ่งเป็นของตี๋โอในที่สุด

สิ่งที่ทำให้เวก้า ครีเอเตอร์ ซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย.2566 เปล่งประกายจนเข้าตานักลงทุนใหญ่อย่างเจมาร์ท เป็นเรื่องที่น่าค้นหา โดยเฉพาะเมื่อการซื้อขายหุ้น นำไปสู่การตีมูลค่าปัจจุบันของบริษัทอายุขวบนิดๆแห่งนี้ ไว้ที่ 142 ล้านบาท

แต่กว่าจะมาถึงเวก้า ครีเอเตอร์ “ตี๋โอ” วุฒิพงษ์ ลิขิตชีวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท อาตี๋มีเดีย จำกัด และเวก้า ครีเอเตอร์ VEGA Creator (Thailand) วัย 37 ปี ใช้เวลาเพาะบ่มประสบการณ์ ลองผิดลองถูกร่วม 9 ปี

จากบัณฑิตคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียนจบเพื่อเข้าไปช่วยงานครอบครัว ซึ่งมีโรงงานผลิตเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ จ.เชียงใหม่ รายได้หลักของตี๋โอมาจากระบบกงสี ระหว่างนั้นเขามักมองหาช่องทางเพิ่มรายได้ เช่น เปิดแผงขายเคสมือถือ สติกเกอร์ไลน์ และเริ่มเห็นโอกาสในการสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ การ์ตูนทำงาน Digital Art ผ่านเพื่อนสอนและเรียนรู้เอง จนในปี 2558 ตี๋โอริเริ่มก่อตั้งเพจเฟซบุ๊ก “ฮันนี่ที่รัก” ด้วยเล็งเห็นว่าเฟซบุ๊กคือพื้นที่สื่อฟรีขนาดใหญ่ คนเปิดเพจไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่มีต้นทุนเหมือนหนังสือพิมพ์ แมกกาซีน แต่อาจเป็นช่องทางหารายได้

สิ่งที่คุณตี๋โอคาดการณ์ไว้ไม่ผิดไปจากความเป็นจริง “ฮันนี่ที่รัก” เพจการ์ตูนประกอบคำบรรยาย คำคมสะท้อนความสัมพันธ์หนุ่มสาวทำเองทั้งวาด คิดคำบรรยาย มีคนกดไลค์ 1 ล้าน มีรายได้จากสปอนเซอร์เข้ามา รุ่งเรืองจนเพจถูกแฮ็ก ได้บทเรียนว่า “เก็บไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียวไม่ได้” นำไปสู่การเปิดเพจใหม่ “เจ้าตัวเล็ก” ในปี 2560 ด้วยเล็งเห็นถึงความใหญ่ของตลาดสินค้าแม่และเด็ก มีสปอนเซอร์ เช่น ผ้าอ้อม นมผง ระหว่างนั้นยังได้กอบกู้เพจฮันนี่ที่รักกลับคืนมาสำเร็จ แต่ก็ต้องพบกับความยากลำบากใหม่ เมื่อเฟซบุ๊กเริ่มปรับอัลกอริทึม ทำให้คนเข้าถึงเพจน้อยลง

“ตอนนั้นผมคิดได้ทันทีจะพึ่งเฟซบุ๊กแพลตฟอร์มเดียวไม่ได้ขณะนั้นเทรนด์คลิปวิดีโอกำลังมา เครือข่าย 4G แพร่หลาย ผมตัดสินใจเปิดช่องยูทูบ ซึ่งไม่ใช่ความถนัด เพราะเราวาดภาพเล่าเรื่องมาตลอด ช่วงแรกถ่ายไลฟ์สไตล์กินเที่ยว ติดกับดักทำตามชาวบ้าน ไม่ได้เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ต้องกลับมาคิดใหม่ นึกถึงตอนที่เคยขายเคสมือถือ เป็นสิ่งที่พอจะถนัด”

สินค้าตัวแรกของช่องอาตี๋รีวิว ซื้อเอง ใช้เอง เป็นแผ่น Paper Like ฟิล์มไอแพดสำหรับสายวาดรูป ปรากฏคนชอบ 10 เดือนแรกมีคนตามทะลุ 100,000 คน ติด 64 ช่องยูทูบที่เติบโตสูงที่สุดในโลกขณะนั้น (จากการวัดของ NoxInfluencer) จนมาถึงปี 2563 ที่โควิดระบาด ชีวิตเดินมาถึง
จุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อโรงงานที่บ้านต้องลดขนาดลง คุณตี๋โอที่ยังทำงานกินกงสี จึงตัดสินใจเดินออกมายืนด้วยลำแข้งตัวเอง 100% “ตอนนั้นลูกผมเพิ่งอายุ 6 เดือน เป็นแรงขับให้ต้องไปข้างหน้า ทำอย่างจริงจัง บริษัทอาตี๋มีเดียเริ่มก่อตั้งตรงนี้ในปี 2563 มีทีมงานคือผม ภรรยา และพนักงานอีก 2 คน”

“ถึงเวลามองหาโอกาสใหม่ๆอีกครั้ง คุณตี๋โอบอกว่าตอนนั้นวิดีโอสั้น (Short Video) กำลังมา โดยเฉพาะติ๊กต่อก (TikTok) ลองเริ่มด้วยเต้นเหมือนชาวบ้าน แต่ไปไม่รอด จึงหันมาทำที่ถนัด ให้ความรู้ด้านการใช้มือถือ ใช้ไลน์ จบใน 1 นาที ซึ่งยากมาก เคล็ดลับคือต้องขยัน ผมทำคลิปทุกวันติดกัน 52 สัปดาห์ จนปีแรกมีผู้ติดตามแตะ 1 ล้านคน พอสำเร็จเป็นคนแรกๆ ผมก็เริ่มเปิดคลาสสอนขายของ ทำคลิป เป็นที่รู้จักมากขึ้น”

จนในเดือน มิ.ย. 2566 คุณตี๋โอเห็นโอกาสอีกครั้ง หลังถูกจ้างให้ไลฟ์ขายของผ่านเอเจนซี MCN (Multi-Channel Network) จากประเทศจีน โดยต้องไลฟ์ขายสายชาร์จโทรศัพท์ 10 เส้นในราคา 5 บาทแบบไม่ต้องสนคุณภาพ “ผมตกใจมากเพราะไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าว่าให้ขายอะไร พอเห็นสินค้า จึงพูดขายไปว่าให้ลูกค้าซื้อไปรัดถุงแกง”

เจอปัญหากับตัว คุณตี๋โอตัดสินใจตั้งเอเจนซี MCN ของคนไทยแท้ๆ ขึ้นมาแข่ง ใช้ชื่อว่าเวก้า ครีเอเตอร์ ทำธุรกิจปั้น-ป้อนงานให้ครีเอเตอร์ในสังกัดที่มีอยู่กว่า 500 ชีวิต วางกฎระเบียบให้มีมาตรฐาน คุณภาพ ไม่ทันไร ก็ถูกเจมาร์ทจีบขอร่วมลงทุน ทำให้ต้องเปิดออฟฟิศแห่งแรกในกรุงเทพฯ นอกจากออฟฟิศที่เชียงใหม่ จ้างพนักงานเสริมอีกกว่า 40 ชีวิต

จากศิลปิน นักวาดรูป นักเล่าเรื่อง สู่ครีเอเตอร์ นักไลฟ์ นักรีวิว วิทยากร กวาดถ้วยรางวัลนับไม่ถ้วน มาถึงบทบาทนักธุรกิจผู้มีเป้าหมายนำเวก้า ครีเอเตอร์เข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ Business on My Way ของคุณตี๋โอคือ ความขยัน อึด ถึก ทน “เป็นครีเอเตอร์ต้องทำงานให้เสร็จก่อนเสมอ ตั้งแต่เริ่มเพจฮันนี่ที่รัก ผมบอกตัวเองว่าต้องวาดรูปให้เสร็จ 1 ชิ้น ถึงออกไปเที่ยวได้ วันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้น ต้องมีคลิปยูทูบ ติ๊กต่อกใหม่ทุกวัน อาชีพครีเอเตอร์มีกุญแจอยู่ที่ความขยัน ขยันมาก ได้มาก”

เลดี้แจน

คลิกอ่านคอลัมน์ “Business on my way” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ