กรุงศรีเดินหน้าสนับสนุนผู้ประกอบการไทยคว้าโอกาสและขยายธุรกิจในอาเซียน จัดงานสัมมนาครั้งใหญ่แห่งปี Krungsri ASEAN LINK Forum ภายใต้แนวคิด GO ASEAN with Krungsri ตอกย้ำฐานะธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคอาเซียน ผสานเครือข่ายธุรกิจของบริษัทแม่ MUFG เสริมแกร่ง Krungsri ASEAN LINK บริการที่ปรึกษาด้านธุรกิจครบวงจร
เคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาค เราตระหนักดีว่าปัจจุบันอาเซียนอยู่ในช่วงเวลาแห่งโอกาสที่สำคัญ ทั้งในเวลานี้และอนาคตอันใกล้ อาเซียนเป็นดินแดนแห่งโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่เต็มไปด้วยศักยภาพและการเติบโตที่ต่อเนื่อง กรุงศรีจึงอยากใช้โอกาสนี้ส่งต่อคุณค่าของเราที่มี ต่อยอดประสบการณ์และความเชี่ยวชาญกว่า 10 ปี ในการช่วยลูกค้าขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โดยพัฒนา Krungsri ASEAN LINK บริการที่ปรึกษาด้านธุรกิจต่างประเทศให้แข็งแกร่ง เพื่อรองรับกับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น
ทำไม “อาเซียน” น่าลงทุน
ดร. พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา อธิบายถึงปัจจัยที่ทำให้ “อาเซียน” เป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายสำหรับนักลงทุนทั่วโลก ประกอบด้วย 4 ปัจจัย ได้แก่
1. เศรษฐกิจเติบโตดี โดยอาเซียนถือเป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจเติบโตดีที่สุดในโลก
โดยมีมูลค่า GDP รวมกัน 3.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใหญ่กว่าเศรษฐกิจอินเดีย และคาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้า ประเทศส่วนใหญ่จะมี GDP โตเกินระดับ 5%
2. จำนวนประชากร โดยปัจจุบันอาเซียนมีประชากรทั้งหมดประมาณ 680 ล้านคน และมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 30 ปี ทำให้ภูมิภาคนี้เต็มไปด้วยประชากรวัยแรงงานที่กำลังซื้อเติบโตขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนจากสัดส่วนสินทรัพย์ต่อประชากรวัยผู้ใหญ่ที่คาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2026 โดยเฉพาะเวียดนาม
ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดในปี 2021 คนไทยมีมูลค่าสินทรัพย์เป็นอันดับ 1 ที่ประมาณ 24,638 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตามมาด้วยอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
3. วัฒนธรรมหลากหลาย
4. อุดมไปด้วยทรัพยากร ทั้งทรัพยากรธรรมชาติอย่างแร่หายาก และทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นแรงงานมีทักษะ
ขณะที่ ดร. อาภาภัทร บุญรอด ประธานกรรมการบริหาร คันทาร์ อินไซท์ ประเทศไทย (KANTAR Thailand) ได้จำแนกอินไซต์พฤติกรรมผู้บริโภคในอาเซียนออกเป็น 6 เทรนด์ใหญ่ที่ธุรกิจสามารถนำไปต่อยอดเป็นสินค้าและบริการได้ดังนี้
1. คนอาเซียนรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ด้วยเหตุนี้คนส่วนใหญ่จึงนิยมวางแผนการเงินเพื่อรองรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดย 75.6% เห็นความสำคัญในการซื้อประกัน จึงเป็นโอกาสของธุรกิจประกันในการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่ม เช่น ประกันความเสี่ยงทางการเมืองในมาเลเซีย และประกันความเสี่ยงไลฟ์สไตล์ในอินโดนีเซีย
2. Never Ageing Mindset การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรทั่วโลกจะทำให้ในปี 2030 อาเซียนมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 15% จาก 12.5% ในปัจจุบัน จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจ เนื่องจากยังมีสินค้าและบริการตอบสนองความต้องการของกลุ่มนี้ไม่มาก พร้อมกับย้ำว่าสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจใหม่ก็คือ กลุ่มผู้สูงอายุในปัจจุบันมีไลฟ์สไตล์ที่แอคทีฟ โดยมองว่าอายุที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต ในทางกลับกันกลับมีเวลาทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่ได้ทำระหว่างการเป็นมนุษย์เงินเดือน คนกลุ่มนี้จึงมองหาตัวช่วยดูแลสุขภาพเพื่อไม่เป็นภาระลูกหลาน จึงเป็นโอกาสของธุรกิจเทคโนโลยีช่วยดูสุขภาพ อย่างนาฬิกาวัดความดัน และธุรกิจความงาม
3. Digital Society หลังโควิดคนอาเซียนเปิดรับเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จุดกระแสให้ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างก้าวกระโดด ผู้คนจึงคุ้นชินกับพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ที่เข้าถึงได้แค่ปลายนิ้ว จึงคาดหวังให้สินค้าและบริการนอกจากมีคุณภาพ ต้องใช้งานสะดวก และมีความหลากหลาย จึงเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจระบบชำระเงินออนไลน์ที่ต้องพัฒนาระบบให้ไร้รอยต่อด้วยการให้สแกนจ่ายด้วยใบหน้า หรือสามารถจ่ายเงินแบบไร้สัมผัส
4. คนอาเซียนระมัดการใช้จ่ายมากขึ้น ให้ความสำคัญกับความคุ้มค่ามาเป็นอันดับแรก ดังนั้นสินค้าและบริการจึงต้องทำให้ผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่ามากกว่าเงินที่จ่ายไป ตัวเลือกที่หลากหลาย และความสามารถในการรู้เท่าทันข้อมูล ทำให้ปัจจุบันอำนาจการซื้อตกอยู่ในมือผู้บริโภคมากกว่าภาคธุรกิจ จึงเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจที่ขายของถูกแต่มีคุณภาพอย่าง Xiaomi
5. คนอาเซียนใส่ใจความยั่งยืน โดย 75.5% เลือกซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะสะท้อนจุดยืนของตัวเอง
6. คนอาเซียนเปิดกว้าง โดย 54.8% พร้อมรับวัฒนธรรมและประสบการณ์ใหม่ๆ
จะเห็นได้ว่าอาเซียนเป็นตลาดที่ยังมีพื้นที่ให้เติบโตอีกมาก สำหรับผู้ประกอบการไทย การมีรากวัฒนธรรมร่วมกันส่งผลให้คนในภูมิภาคมีวิถีชีวิตใกล้เคียงกัน ธุรกิจจึงไม่ต้องปรับตัวมากนัก เนื่องจากคนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับสินค้าและบริการจากไทย
Krungsri ASEAN LINK
ทุกโอกาสมีความเสี่ยง การจะประสบความสำเร็จในตลาดต่างประเทศจึงจำเป็นต้องมีพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่เชี่ยวชาญในตลาดนั้นๆ เพื่อยกระดับศักยภาพธุรกิจไทยในต่างประเทศ ธนาคารกรุงศรีได้เปิดตัว Krungsri ASEAN LINK บริการให้คำปรึกษาธุรกิจอย่างครบวงจร ในปี 2566 ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การให้ข้อมูลเชิงลึกของตลาด การช่วยเหลือในการพัฒนาธุรกิจ การจัดตั้งบริษัทและการร่วมทุน ไปจนถึงให้บริการทางการเงินเพื่อขยายธุรกิจในต่างประเทศ และจับคู่ลูกค้ากับพันธมิตรในเครือ
โดยมีพันธมิตรธนาคารชั้นนำจาก 3 ประเทศอาเซียน ประกอบด้วย Bank Danamon ในอินโดนีเซีย, VietinBank ในเวียดนาม และ Security Bank ในฟิลิปปินส์ ทั้งนี้นับตั้งแต่การเปิดตัว ได้ให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าไปแล้วกว่า 500 เคส และตั้งเป้าเพิ่มจำนวนลูกค้าเป็นสองเท่าในปีหน้า
ในบรรดาประเทศอาเซียน “เวียดนาม” ถือเป็นตลาดเป้าหมายสำหรับธุรกิจไทย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คนเวียดนามจึงคุ้นเคยกับสินค้าไทยเป็นอย่างดี ท่ามกลางกำลังซื้อที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากสัดส่วนประชากรวัยทำงานที่ขยายตัว ขับเคลื่อนให้ GDP เติบโตที่ระดับ 5%-7% และคาดว่าอีก 4 ปีข้างหน้า GDP จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.5%
กลยุทธ์ตีตลาดเวียดนามจาก 3 ธุรกิจไทย
โดยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ซีพี เวียดนาม (C.P. Vietnam Corporation), เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม (Central Retail Vietnam) และ CAC (Chance and Challenge Co.,Ltd.) ถือเป็นตัวอย่างผู้ประกอบการไทยยุคบุกเบิกที่สามารถตีตลาดเวียดนามได้สำเร็จ จนครองส่วนแบ่งทางการตลาดในประเภทเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ธุรกิจค้าปลีก รวมถึงการนำเข้าสินค้าจากไทย
สำหรับเคล็ดลับความสำเร็จ เฉลิมชัย พรศิริปิยกูล Head of CSR & International Corporate Affairs, Central Retail เปิดเผยว่า เวียดนามเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตสูงอันดับต้นๆ ของอาเซียน มีการขยายตัวของกลุ่มคนชนชั้นกลางเฉลี่ยปีละ 10% และมักสร้างครอบครัวเร็ว ซึ่งช่วยขับเคลื่อนกำลังซื้อ ทำให้ตลาดมีพื้นที่เติบโตอีกมาก
แต่สิ่งที่สำคัญที่ต้องคำนึงในการทำธุรกิจคือ ต้องไม่เข้าไปแย่งตลาดกับร้านค้ารายย่อย เน้นขายสินค้าที่ไม่มีขายในท้องถิ่นแทน เช่น อาหารแช่แข็ง และเบเกอรี เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้
ด้านธัญชาต อรรถานุกูล VP (New Business), C.P. Vietnam Corporation กล่าวว่า อะไรที่เป็นผลกระทบในแง่บวก คนเวียดนามจะเปิดรับเร็วมาก ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงข้อกฎหมายและกฎระเบียบ ที่มีการปรับปรุงอยู่ตลอด และมักประกาศใช้ทันที โดยที่ธุรกิจต่างๆ อาจจะไม่ได้มีเวลาได้เตรียมตัวนานๆ จึงต้องมีทีมงาน คอยติดตามความเคลื่อนไหวของหน่วยงานกำกับ
อดิศัย ประเสริฐศรี Chief Executive Officer, CAC กล่าวสรุปว่า แม้คนเวียดนามจะมีทัศนคติที่ดีต่อสินค้าและบริการไทย มากกว่าสินค้าราคาถูกจากจีน แต่ธุรกิจไทยมักตกม้าตาย คิดไปเองว่าสินค้าที่นิยมในไทยจะนิยมในเวียดนาม การจะตีตลาดเวียดนามต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคให้ถ่องแท้ แล้วผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์คนแต่ละกลุ่ม เพราะตลาดเวียดนามมีความเฉพาะตัว ต่างพื้นที่ก็ต่างความต้องการ รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับการทำ Logistics ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเวียดนามยังมีความท้าทายในเรื่องนี้จากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศที่แคบยาวและมีภูเขาและที่ราบสูงทำให้มีผลต่อต้นทุนการขนส่ง
โดยสรุปจากประสบการณ์ของธุรกิจไทยในเวียดนาม หรือ ประเทศต่างๆ ในอาเซียน ทำให้เห็นได้ว่าการมีที่ปรึกษาที่เป็นสถาบันการเงินในพื้นที่และมีสถาบันการเงินที่เชื่อมโยงระหว่างในประเทศกับในอาเซียน เป็น “Linkage” สำคัญที่จะพาทุกธุรกิจเข้าสู่ตลาดในประเทศต่างๆ ได้อย่างไร้รอยต่อและบริการที่ปรึกษาธุรกิจ Krungsri ASEAN LINK จึงเป็นอีกหนทางสร้างความสำเร็จของธุรกิจที่ต้องการขยายการเติบใหญ่ในอาเซียน
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ GO ASEAN with krungsri
https://www.krungsri.com/th/asean