นายวิบูลย์ หงษ์ศรีจินดา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท.กล่าวว่า ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ในระหว่างเดือนม.ค.-ก.ค. 67 อยู่ที่ 9,301.92 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.86% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยนับเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 3 หรือคิดเป็นสัดส่วน 5.44% ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย
แต่หากไม่นับรวมการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป จะพบว่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 5,103.78 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 6.65% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566
นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่พวกเรากลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอยากให้ภาครัฐช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งเสริมการส่งออก รวมถึงการทบทวนและแก้ไขเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ในสินค้าเครื่องประดับเงินที่ถือเป็นต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบการ
อย่างไรก็ตามเรามองว่าช่วงเวลาตั้งแต่ปีนี้ถึงปี 2568 ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยมีโอกาสที่ดีท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัว ซึ่งช่วยเพิ่มอำนาจซื้อของผู้บริโภคโดยเฉพาะในตลาดหลักอย่างยุโรปและจีน ประกอบกับนโยบายสนับสนุนการส่งออกของภาครัฐยังเสริมให้สินค้ากลุ่มนี้เติบโตในทุกประเภท
เช่น เครื่องประดับเงินเติบโต 20.66% หรือพลอยเนื้อแข็งเติบโต 5.31% นอกเหนือจากนี้ ด้วยนโยบายลดอุปสรรคด้านการนำเข้าอัญมณีจะช่วยให้การจัดงานแสดงสินค้าในไทย อย่างงาน Jewellery & Gem ASEAN Bangkok 2025 หรือ JGAB 2025 จะกลายเป็นเวทีสำคัญในการกระตุ้นความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพ พร้อมช่วยส่งเสริมธุรกิจระหว่างประเทศได้อย่างดี
นายสรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ผกล่าวว่า หากมองถึงตลาดอัญมณีและเครื่องประดับทั่วโลก แรงขับเคลื่อนหลักของการเติบโตจะมารวมอยู่ที่ตลาด โดยเฉพาะในอินเดีย จีนและอาเซียน ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งของการเติบโตในเศรษฐกิจทั่วโลก นั่นทำให้โอกาสสำคัญของตลาดอัญมณีและเครื่องประดับมารวมอยู่ในประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ส่งออกคนสำคัญของ 2 ประเทศข้างต้นและทั่วโลก นั่นจึงทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้คว้าโอกาสที่ดีที่สุดในฐานะผู้นำและศูนย์กลางของภูมิภาค
โดยเราคาดว่างาน JGAB 2025 จะมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 12,000 ราย จากกลุ่มประเทศในอาเซียน จีน อินเดีย และอีกกว่า 75 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเราได้สะท้อนโอกาสนี้ ออกมาในแนวคิด อัศจรรย์งานออกแบบไทยบนอัญมณีและเครื่องประดับสู่สากล เพื่อส่งข้อความถึงผู้ประกอบการไทยให้เตรียมพร้อมยกระดับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นด้านมาตรฐานการผลิต สินค้ารูปแบบใหม่ ๆ ที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย ฯลฯ เพื่อที่จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและแข่งขันในการคว้าโอกาสขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ในงาน JGAB 2025 ข้างหน้านี้
นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ กรรมการและรองเลขานุการสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต หรือ SMI กล่าวว่า ในโครงการ SME ปัง ตังค์ได้คืน ร่วมกับงานแสดงสินค้า JGAB ครั้งที่ผ่านมา โดยได้ทำการสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการที่มาจัดแสดง จำนวน 37 ราย และได้สร้างแรงขับเคลื่อนสำคัญในตลาดอัญมณีและเครื่องประดับ โดยเฉพาะการต่อยอดพัฒนาธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้การพัฒนาสินค้ากลุ่ม SMEs มีคุณภาพและความหลากหลายมากยิ่งขึ้น สามารถตอบสนองต่อความต้องการในตลาดโลกได้อย่างดี
โดยงาน JGAB 2025 ในปีหน้า ยังคงได้รับการสนับสนุนจากโครงการ SME ปัง ตังค์ได้คืน ซึ่งมุ่งเน้นการสนับสนุนผู้ประกอบการในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า ด้วยเงินอุดหนุนสูงถึง 80% หรือไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย พร้อมผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยตอบรับมาตรการการลงทุนที่ทั่วโลกให้ความสำคัญอีกด้วย
สำหรับ Jewellery & Gem ASEAN Bangkok 2025 เกิดจากความร่วมมือของ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ และพันธมิตรที่มีศักยภาพ ทั้ง กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าอัญมณีและเครื่องประดับอาเซียน สมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทย สมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี และสมาคมช่างทองไทย
ในการเปลี่ยนพื้นที่จัดแสดงกว่า 17,000 ตารางเมตร ให้กลายเป็นที่รวมตัวครั้งสำคัญของผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั่วโลก ทั้งในกลุ่มผู้ซื้อ ผู้ค้าปลีก-ค้าส่ง ผู้ผลิต นักออกแบบ พร้อมผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกที่จะมาแบ่งปันเทรนด์และความรู้ด้านอัญมณีและเครื่องประดับ ในงานสัมมนาตลอด 4 วันเต็ม ระหว่างวันที่ 23-26 เมษายน 2568 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์