“กลุ่มเซ็นทรัล” กับความสำเร็จในยุโรป ปักธง “ลักชัวรี รีเทล” ผู้นำระดับโลก

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“กลุ่มเซ็นทรัล” กับความสำเร็จในยุโรป ปักธง “ลักชัวรี รีเทล” ผู้นำระดับโลก

Date Time: 7 ต.ค. 2567 05:11 น.

Summary

  • กลุ่มเซ็นทรัล เป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนไทยที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจห้างสรรพสินค้า สามารถนำธงไทยไปปักบนเวทีค้าปลีกระดับโลก และกำลังก้าวสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจ “ลักชัวรีรีเทล” (Luxury Retail) โดยเฉพาะในตลาดยุโรป ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางแฟชั่นของโลก

Latest

ยกระดับงานสถาปนิก ’68 เพิ่มมูลค่าให้กับประเทศ รับอุตสาหกรรมก่อสร้างฟื้น

กลุ่มเซ็นทรัล เป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนไทยที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจห้างสรรพสินค้า สามารถนำธงไทยไปปักบนเวทีค้าปลีกระดับโลก และกำลังก้าวสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจ “ลักชัวรีรีเทล” (Luxury Retail) โดยเฉพาะในตลาดยุโรป ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางแฟชั่นของโลก

นับตั้งแต่การขยายการลงทุนธุรกิจห้างสรรพสินค้าในยุโรปอย่างมีนัยสำคัญเมื่อ 13 ปีที่ผ่านมาสามารถสร้างอาณาจักรห้างหรู ณ สิ้นเดือน ก.ย.2567 มีสาขาใน 7 ประเทศ 36 เมือง 40 สาขา

กลุ่มเซ็นทรัลเริ่มต้นการลงทุนธุรกิจ ห้างในยุโรปจากประเทศอิตาลี โดยให้เซ็นทรัลรีเทล (CRC) เข้า ซื้อกิจการห้างรีนาเซนเต (Rinascente) จำนวน 9 สาขา ถือหุ้น 100%

การลงทุนมีตั้งแต่ซื้อกิจการ 100% หรือร่วมทุนกับพันธมิตร ได้แก่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ห้างโกลบุส (Globus) 9 สาขา, เดนมาร์ก ห้างอิลลุม (Illum) 1 สาขา, อังกฤษ เซลฟริดเจส (Selfridges) 4 สาขา, ไอร์แลนด์ ห้างอาร์นอตส์ (Arnotts) 1 สาขา และบราวน์ โทมัส (Brown Thomas) 6 สาขา, เนเธอร์แลนด์ ห้างดีแบนคอร์ฟ (De Bijenkorf) 7 สาขา, เยอรมนี ห้างคาเดเว (KaDeWe) โอเบอร์โพลลิงเกอร์ (Oberpollinger) และอัลสแตร์เฮาส์ (Alsterhaus) แห่งละ 1 สาขา

เส้นทางความท้าทาย และอนาคตของ CRC ในอิตาลี ซึ่งเมื่อปี 2566 ทำยอดขายนิวไฮทะลุ 1,000 ล้านยูโรเป็นครั้งแรก จะเป็นเช่นไรต่อ “ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CRC และ “ปิแอร์ลุยจิ ค็อคคินี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ห้างสรรพสินค้ารีนาเซนเตในเครือ CRC ได้ร่วมเปิดเผยกับ  “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ดังนี้

ทรานสฟอร์มสู่ค้าปลีกลักชัวรีที่ไร้คู่แข่ง

ความสำเร็จเกิดจากการปรับทิศทางของห้าง หลังจากเข้าซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าแบบดั้งเดิมมาเป็นลักชัวรีสโตร์ จำหน่ายสินค้าหรูหรา เพราะห้างในรูปแบบเดิมๆในยุโรปได้หมดความนิยมและได้หายไปจากตลาดไปเกือบหมด ทำให้แต่ละเมืองที่เข้าไป แทบไม่มีการแข่งขันในรูปแบบค้าปลีกสโตร์ขนาดใหญ่ที่มีมัลติแบรนด์ให้เลือกช็อปปิ้ง มีแต่ช็อปของแต่ละแบรนด์ซึ่งลูกค้านิยมซื้อ แต่ต้องต่อคิวหน้าร้าน

ปิแอร์ลุยจิ ค็อคคินี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ห้างสรรพสินค้ารีนาเซนเตในเครือ CRC
ปิแอร์ลุยจิ ค็อคคินี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ห้างสรรพสินค้ารีนาเซนเตในเครือ CRC

โมเดลธุรกิจที่ CRC ปรับเปลี่ยน เหมาะกับนักท่องเที่ยวที่มีเวลาจำกัด เข้ามาช็อปหลังห้างเปิดได้ทันที ไม่ต้องเข้าคิว มีแบรนด์ให้เลือกครบ รวมบริการคืนภาษีในอิตาลี รีนาเซนเตมิลานประสบความสำเร็จอย่างมาก เป็นไอคอนิกโลเกชัน จนต้องเตรียมขยายพื้นที่สำหรับลักชัวรีแบรนด์เพิ่มเติม โดยห้าง โกลบุสที่เมืองซูริค, ห้างอิลลุมที่โคเปนเฮเกน และเซลฟริดเจส ที่ลอนดอน แทบจะไม่มีคู่แข่งเลย

ภายใต้การบริหารของ CRC ในอิตาลี ซึ่งเป็นศูนย์กลางแฟชั่นของโลก มรดกทางวัฒนธรรมแฟชั่นที่ยาวนาน โดยเฉพาะเมืองมิลาน เมืองหลวงแฟชั่นของโลก เป็นที่ตั้งของลักชัวรีแบรนด์ อาทิ Prada, Gucci, Versace, Armani และ Dolce & Gabbana ความท้าทายและความสำเร็จของกลุ่มเซ็นทรัลไม่ใช่เรื่องง่ายและยังต้องทำงานกันหนักในหลายประเทศ จาก “รีนาเซนเต” ที่ซื้อมาแล้ว ต้องลงทุนครั้งใหญ่ด้วยการรีโนเวตใหม่ทั้งหมด จากสภาพตึกดั้งเดิมที่เก่าแก่ที่สุดในอิตาลีมีอายุ 160 ปี ทรานสฟอร์มเป็นลักชัวรีสโตร์ มีสินค้ามากกว่า 3,600 แบรนด์ มีลูกค้ามาใช้บริการมากกว่าปีละ 20 ล้านคน ค่าใช้จ่ายต่อหัวคนละ 700 ยูโร (ข้อมูลจากการขอคืนภาษี) เป็นคนท้องถิ่น 59% และนักท่องเที่ยว 41% โดย 5 อันดับแรกของลูกค้านักท่องเที่ยวมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา, กลุ่มประเทศอาหรับ, จีน, ไต้หวัน และบราซิล มีสมาชิก Rinascente Card มากกว่า 4 ล้านราย

ขณะที่พฤติกรรมของลูกค้าในยุโรปเปลี่ยนชัดเจน มีความรู้มากขึ้นทำให้กลุ่มเซ็นทรัลต้องวิ่งไล่ตามให้ทัน จากธุรกิจค้าปลีกปรับเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตของผู้คน

จนปัจจุบันในปี 2567 พฤติกรรมการช็อปปิ้งเน้นไปที่การมีประสบการณ์และความเพลิดเพลิน แสดงถึงความเป็นตัวตนของตนเองที่ไม่ใช่แค่การซื้อสินค้า แต่เป็นการสร้างความสุขและประสบการณ์ใหม่ จากที่เคยดูราคาเป็นหลัก เปลี่ยนเป็นให้ความสำคัญกับสไตล์ของตัวเองแทน

ปัจจุบันรีนาเซนเต มีทั้งหมด 9 สาขา ใน 8 เมือง ได้แก่ สาขามิลาน, โรม เวีย เดล ตริโตเน, โรม เปียซซาฟิอุเม, ตูริน, ฟลอเรนซ์, คัลยารี, ปาแลร์โม, กาตาเนีย และมอนซา โดยที่มิลาน, โรม เวีย เดล ตริโตเนเป็นสาขาแฟล็กชิปสโตร์ ที่กลายเป็น จุด “Must–visit” ของนักท่องเที่ยว

มองภาพผลกระทบเศรษฐกิจโลก

และแม้ว่ายุโรปจะได้รับผลกระทบกับภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวรัสเซียไม่สามารถเดินทางมายังยุโรปได้ ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และล่าสุดจากนักท่องเที่ยวจีน ลูกค้ารายใหญ่ที่ถูกผลกระทบเศรษฐกิจจีน กระทบชิ่งให้การท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยในยุโรปลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CRC
ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CRC

แต่ในอิตาลี ด้วยเศรษฐกิจภายในที่มีความมั่นคง แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ณ สิ้นสุดเดือน ก.ย.2567 จีดีพีของอิตาลีโต 0.9% เงินเฟ้อขยายตัวต่ำที่สุดที่ 1.3%

เป็นอัตราขยายตัวของจีดีพีที่สูงเป็นอันดับสองในยุโรปรองจากฝรั่งเศส ที่มีอัตราเติบโต 1.1% เงินเฟ้อ 2.2% ส่วนประเทศอื่นๆ ในยุโรปมีอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ 0.6% เงินเฟ้อที่ 2.2% โดยเยอรมนีติดลบ 0.1% เงินเฟ้อ 2%

นอกจากนี้ ยังเชื่อมั่นว่าในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นเทศกาลจับจ่ายใช้สอย ทั้งเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ นักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลเข้ามาอีกเป็นจำนวนมากเช่นทุกปี CRC จึงมีภาพบวกต่อธุรกิจในประเทศอิตาลี คาดหวังว่าจะทำตัวเลขเติบโตได้มากกว่าอัตราเติบโตของจีดีพี 3–4 เท่า

ยกระดับสู่การเติบโตที่ยั่งยืน

ส่วนก้าวต่อไปของห้างสรรพสินค้ารีนาเซนเตจะยกระดับเป็นศูนย์รวมของการใช้ชีวิต The Next-Level Luxury Retail กับแผนการสร้างการเติบโตต่อเนื่อง ตั้งเป้าการเป็นบริษัทสื่อ (Media Company) เต็มรูปแบบ ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก

1.การผสานเอกลักษณ์ของเมือง ห้างแต่ละสาขาจะมีดีไซน์ที่สะท้อนจิตวิญญาณของเมืองในทุกมิติ ไม่ใช่เป็นแค่สาขาเท่านั้น โดยต้องสอดคล้องกับเมือง ทั้งคอนเซปต์การออกแบบอาคาร เสา การตกแต่งภายใน โทนสี รูปทรง วัสดุ ไปจนถึงดีไซน์โลโก้และถุง ตลอดจนการคัดสรรแบรนด์เนมชื่อดังประจำเมือง เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์สุดพิเศษให้กับลูกค้าที่แตกต่างกัน

2.การเป็นศูนย์รวมการใช้ชีวิต นำเสนอสินค้าแบรนด์หรูชั้นนำ (House of Brand) ทั้งอิตาเลียนแบรนด์และแบรนด์โลก ทั้งกลุ่มสินค้าแฟชั่น เครื่องประดับ ความงาม เครื่องใช้ในบ้าน เป็นศูนย์รวมกิจกรรมที่น่าตื่นเต้น (House of Entertainment) เอ็กซ์คลูซีฟมากมาย และอีเวนต์ใหญ่ร่วมกับแบรนด์ระดับโลก โดยในปี 2567 รีนาเซนเตมีแผนจัดอีเวนต์พิเศษมากกว่า 417 งานตลอดทั้งปี

3.การยกระดับสู่การเป็นบริษัทสื่อ (Media Company) ด้วยเอกลักษณ์รีนาเซนเตที่มีความแข็งแกร่งและมีโมเดลธุรกิจที่แตกต่างจากห้างอื่นๆ ทำให้รีนาเซนเตเปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางของแบรนด์ เป็นเหมือนสื่อสิ่งพิมพ์หรือเวทีที่แบรนด์สามารถนำเสนอจุดเด่นและบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองได้ในพื้นที่ของห้าง ภายใต้โปรเจกต์ Brand Take Over ที่ห้างรีนาเซนเตได้ร่วมมือกับแบรนด์ชั้นนำต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง เช่น Chanel Beauty ใช้อาคารทั้งห้างเป็นเวทีจัดงาน Chanel Wonderland แปลงโฉมสาขามิลานเป็นงานศิลปะ เป็นสื่อโฆษณาให้กับแบรนด์ชาแนล สร้างสีสันดึงดูดผู้สนใจเข้ามาจำนวนมาก โดย ในปีนี้แบรนด์ Dior ได้จองพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมเช่นเดียวกัน ทำให้คาดว่าจะทำรายได้จากค่าเช่าได้ 7 ล้านยูโรภายในปี 2567 และในปี 2568 จะใช้พื้นที่สาขา 80% ดำเนินกิจกรรม เป็นการสร้างรายได้ใหม่เพิ่มเติม นอกเหนือจากการจำหน่ายสินค้าหรูหรา

นอกจากนี้ รีนาเชนเตยังเตรียมเปิดตัว Beauty Hub ที่ใหญ่ที่สุดในอิตาลีในปี 2570 ที่สาขามิลาน เพื่อเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ความงาม คาดเพิ่มยอดขายได้กว่า 80 ล้านยูโรต่อปีบนพื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตร ซึ่งจะทำให้ห้างรีนาเซนเตกลายเป็น King of Beauty ในอิตาลี และผู้เล่นใหญ่เพียงรายเดียวในโลกของความงาม

ความท้าทายและการเติบโตในอนาคต

แม้จะประสบความสำเร็จในอิตาลี แต่ความท้าทายก็ยังมีอยู่มาก ล่าสุด ทางกลุ่มเซ็นทรัลได้เข้าลงทุนในห้างโกลบุส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 100% และให้ทาง “ปิแอร์ลุยจิ ค็อคคินี” จากฝั่งของ CRC เข้าไปบริหาร ซึ่งโดยรวมเหมือนการเข้าไปซื้อรีนาเซนเตเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา จำเป็นต้องเริ่มต้นศึกษาตลาดเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ รวมทั้งการเปิดสาขาใหม่ของโกลบุสอีก 2 สาขาภายใน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้โกลบุสมีสาขาครอบคลุมทั้งสิ้น 11 สาขา ทั่วประเทศ

ส่วนในเดนมาร์ก มีห้างอิลลุม 1 สาขาในกรุงโคเปนเฮเกน เป็นห้างที่จำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมระดับลักชัวรีทั้งในหมวดแฟชั่น ความงาม และของใช้ในบ้าน มีร้านอาหารและคาเฟ่สุดหรูเพื่อให้บริการกับผู้บริโภค  และกลายเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของเดนมาร์ก

การปรับโมเดลธุรกิจสู่การเป็น Media Company ที่มีรีนาเซนเตเป็นแม่แบบและนำไปสู่ความสำเร็จนั้น ทำให้ทางกลุ่มเซ็นทรัลจะนำโมเดลนี้ไปใช้ในห้างอื่นด้วย เช่น เซลฟริดเจส ในลอนดอน

“ญนน์ โภคทรัพย์” ยืนยันว่า การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์จากห้างสรรพสินค้าทั่วไป สู่การจำหน่ายสินค้าหรูหรา เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะธุรกิจค้าปลีกสินค้าหรูหราเป็นธุรกิจที่ไม่เคยตาย มีลักษณะพิเศษที่สามารถรักษาความนิยมไว้ได้ยาวนาน เมื่อแบรนด์ใดลดความนิยม ก็จะมีแบรนด์ใหม่ก้าวขึ้นมาทดแทน ทำให้ความนิยมของตลาดลักชัวรีไม่มีวันหมด

ในอนาคตกลุ่มเซ็นทรัลตั้งเป้าหมายที่จะสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนและต่อเนื่องด้วยวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ที่ชัดเจนนี้ เพื่อคงสถานะการเป็นผู้เล่นหลักในตลาดลักชัวรีรีเทลระดับโลกต่อไป.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ