เทคโนโลยี AI ที่ “แกร็บ” ใช้แก้สารพัดปัญหา

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เทคโนโลยี AI ที่ “แกร็บ” ใช้แก้สารพัดปัญหา

Date Time: 1 ต.ค. 2567 05:36 น.

Summary

  • แกร็บมีเครื่องมือ AI ของตัวเองหรือ Grab GPT ที่ Chat GPT มาร่วมพัฒนา ช่วยให้พนักงานที่มีอยู่ 10,600 คนทั่วโลก (ข้อมูลจากตลาดหุ้น Nasdaq) ทำงานได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ โดยสามารถใช้ช่วยกำหนดยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ธุรกิจ, คิดแคมเปญมาร์เกตติ้งคำโฆษณา ตลอดจนใช้ตรวจโค้ดในกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นต้น “หากแกร็บไม่ใช่บริษัทระดับภูมิภาค คงไม่สามารถร่วมมือกับ Chat GPT ในสเกลนี้ได้”

Latest

เปิดอินไซต์ คนไทย #ติดแกลม เมื่อคนต่างเจน มองคำว่า "หรูหรา" ไม่เหมือนกัน ?

ใครจะไปคิดว่าสตาร์ตอัพที่เริ่มต้นขึ้นจากไอเดียเล็กๆ ในประเทศมาเลเซีย เมื่อ แอนโทนี ตัน หนึ่งในผู้ก่อตั้ง นักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เดินทางกลับบ้านในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เจอปัญหาเรียกแท็กซี่ไม่ได้และคิดหาวิธีแก้ปัญหานั้น

14 ปีผ่านไป ปัจจุบันแกร็บ (Grab) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่สิงคโปร์ เข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าล่าสุด 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 500,000 ล้านบาท) ขึ้นแท่นซุปเปอร์แอปแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยบริการครอบคลุม 700 เมือง 8 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย โดยบริการหลากหลายของแกร็บ ทำได้ผ่านแอปพลิเคชันเดียว ตั้งแต่ สั่งอาหาร, สั่งซื้อสินค้าและของชำ, จัดส่งพัสดุเอกสาร, เรียกรถรับ–ส่งหรือแท็กซี่ และการเงินออนไลน์ทั้งขอสินเชื่อและทำประกัน มีลูกค้าใช้งานสม่ำเสมอเดือนละ 41 ล้านคน

เริ่มต้นจากความคิดที่จะแก้ปัญหา โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องทุ่นแรง แกร็บในฐานะเทคคัมปะนี จึงให้ความสำคัญยิ่งกับเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันถูกนำมาพัฒนาต่อยอดบริการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้คนในระบบนิเวศทั้งหมดของแกร็บ

วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวในงาน Grab Talk เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2567 ว่า พันธกิจ GrabForGood หรือ “แกร็บ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า”คือการมุ่งพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แกร็บยุค 5.0 จึงขับ เคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI-led Organization) ผ่าน 3 ตัวแปรหลัก คือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI), อุปกรณ์ที่เชื่อมโยงด้วยอินเตอร์เน็ต (IoT) และโซลูชันนวัตกรรมบนแอปพลิเคชัน (In-app Solutions)

เขาเล่าว่า แกร็บมีเครื่องมือ AI ของตัวเองหรือ Grab GPT ที่ Chat GPT มาร่วมพัฒนา ช่วยให้พนักงานที่มีอยู่ 10,600 คนทั่วโลก (ข้อมูลจากตลาดหุ้น Nasdaq) ทำงานได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ โดยสามารถใช้ช่วยกำหนดยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ธุรกิจ, คิดแคมเปญมาร์เกตติ้งคำโฆษณา ตลอดจนใช้ตรวจโค้ดในกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นต้น “หากแกร็บไม่ใช่บริษัทระดับภูมิภาค คงไม่สามารถร่วมมือกับ Chat GPT ในสเกลนี้ได้”

นอกจากนั้น AI ยังถูกนำมาใช้ในการพัฒนาแผนที่ของแกร็บ (GrabMap) ซึ่งมีความแม่นยำสูง ละเอียดแม้ตามตรอก ซอกซอย ในอาคาร เพื่อช่วยให้ไรเดอร์ (คนขับ) เข้าถึงร้านค้า บ้านลูกค้าได้สะดวก แม่นยำ ช่วยลดเวลาในการหาจุดหมายลงได้ 20% “ก่อนหน้านี้แกร็บใช้แผนที่ของพาร์ตเนอร์อื่น พบว่าละเอียดแม่นยำไม่พอ จึงหันมาพัฒนาแผนที่เอง โดยใช้เทคโนโลยี Hyper local Mapping ซึ่งเวอร์ชันล่าสุดสามารถรายงานอุบัติเหตุได้แบบเรียลไทม์ เพื่อประโยชน์ในการหลีกเลี่ยงเส้นทางจราจรติดขัด โดยแต่ละเดือนมีไรเดอร์รายงานอุบัติเหตุมากกว่า 30,000 เหตุการณ์”

แกร็บยังได้นำเอา AI และ Machine Learning (ML) มาช่วยจัดสรรคำสั่งซื้อแบบทันเวลาพอดี (Just-in-Time Allocation) เพราะไรเดอร์ส่วนใหญ่ต้องไปรออาหารที่ร้าน ใช้เวลานาน จึงใช้ ML เข้ามาประเมินระยะเวลาทำอาหารของแต่ละร้าน และจัดสรรงานให้ไรเดอร์ไปถึงก่อนอาหารเสร็จไม่นาน ลดเวลารออาหารได้มากกว่า 50%

ในส่วนลูกค้า ล่าสุดแกร็บเพิ่งนำร่องเปิดบริการ Food Lockers ช่วยแก้ปัญหาลูกค้ากลุ่มพนักงานออฟฟิศ ที่เวลาอาหารมาส่ง มักไม่สะดวกรับในทันที ด้วยงานติดพันหรือติดประชุม นำไปสู่การติดตั้งตู้ Food Lockers ไว้ในจุดที่ไรเดอร์สามารถนำอาหารไปใส่ไว้ในตู้เพื่อรอลูกค้ามารับเมื่อพร้อม นำร่องให้บริการที่ เซ็นทรัลเวิลด์ฝั่งออฟฟิศ, อาคาร FYI และ The Parq ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานแกร็บ ประเทศไทย เป็นต้น โดยอาหารจะถูกเก็บไว้ 4 ชั่วโมงก่อนถูกเคลียร์ออก หากไม่มีผู้มารับ

ในฝั่งร้านค้า ซึ่งรูปภาพอาหารมีความสำคัญยิ่งต่อการตัดสินใจซื้อ ขณะที่ร้านขนาดเล็กไม่มีงบประมาณในการถ่ายภาพอาหาร แกร็บจึงได้นำ AI มาช่วยสร้างหรือออกแบบภาพอาหารที่ใกล้เคียงของจริงที่สุด ซึ่งร้านค้าขนาดเล็กสามารถนำไปใช้ ช่วยเพิ่มโอกาสในการขาย รวมทั้งนำเทคโนโลยี ML มาใช้ประเมินวงเงินสินเชื่อให้กับร้านค้าพาร์ตเนอร์ ซึ่งปัจจุบันสามารถกู้เงินเพื่อต่อยอดธุรกิจได้สูงสุด 10 ล้านบาท

สุดท้ายในด้านของความปลอดภัยต่อการเดินทาง มีการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยสร้างความอุ่นใจให้กับทั้งผู้ใช้บริการแกร็บคาร์ แกร็บแท็กซี่ ทั้งก่อน-ระหว่าง-จบการเดินทาง เช่น ระบบยืนยันตัวตนของคนขับด้วยการสแกนใบหน้า (Biometric Authen tication), ระบบตรวจสอบการเดินทางแบบเรียลไทม์ (Real-time Trip Monitoring) และระบบบันทึกเสียงระหว่าง การเดินทาง (AudioProtect) ที่ช่วยป้องกันเหตุร้ายและใช้เป็นหลักฐานหากเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้โดยสารและคนขับ ซึ่งปัจจุบันไม่ใช่แค่ผู้โดยสารที่จะตกเป็นเหยื่อได้เท่านั้น ฝั่งคนขับก็กลายเป็นเหยื่อได้เหมือนกัน.

ศุภิกา ยิ้มละมัย

คลิกอ่านคอลัมน์ “The Issue” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ