ทำอย่างไร? เมื่อ “ทุนจีน” บุกไทย ขายทุกอย่าง ยัน แฟรนไชส์ "น้ำมะนาว" แก้วละ 20 บาท

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ทำอย่างไร? เมื่อ “ทุนจีน” บุกไทย ขายทุกอย่าง ยัน แฟรนไชส์ "น้ำมะนาว" แก้วละ 20 บาท

Date Time: 16 ส.ค. 2567 18:02 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • เมื่อวันนี้วิกฤติทุนจีนเข้ามาถล่มในประเทศไทยจำนวนมาก ตั้งแต่ระดับอุตสาหกรรมไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภค ชูจุดเด่นดัมพ์ราคาต่ำ สินค้าหลากหลาย ตั้งแต่ไอศกรีมแท่งละ 15 บาท ไปจนถึงน้ำมะนาวแก้วละ 20 บาท ผู้ประกอบการไทยจะทำอย่างไร? และใครจะกระทบมากที่สุด

Latest


ผู้ประกอบการไทยอ่วมหนัก จีนกินรวบ “ตัดราคา-ขายทุกอย่าง” เห็นได้จากการที่ “สินค้าจีน” เข้ามาแข่งขันตีตลาด ขายแข่งกับผู้ประกอบการไทยรุนแรงมากยิ่งขึ้น แบรนด์แฟรนไชส์จากจีนคืบคลานเข้ามาเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่กับประเทศไทยเท่านั้น แต่กำลังเป็นปัญหาไปทั่วโลก จนทำให้หลายประเทศตั้งกำแพงภาษีเพื่อสกัดกั้นสินค้าจากจีน

การเข้ามาของสินค้าจากจีน มีตั้งแต่สินค้าชิ้นใหญ่ในระดับอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ จนถึงสินค้าชิ้นเล็กอย่างเสื้อผ้า เครื่องประดับ ไปจนถึงอาหารเลยทีเดียว

และเมื่อเทียบดูสถิติตัวเลขพบว่า ยอดขาดดุลการค้าของไทยกับจีน นับวันมีแต่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี จนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แสดงความกังวลอย่างเห็นได้ชัด เพราะสถิติช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) ไทยมีการนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มขึ้น 7.12% หรือคิดเป็นมูลค่า 37,569.89 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1.33 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจากจีนไปแล้ว 19,967 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7 แสนล้านบาท กระทบต่อภาคการผลิตกว่า 23 กลุ่มอุตสาหกรรม 

แต่ที่น่าสนใจมากที่สุดเห็นจะเป็นบรรดา “แฟรนไชส์ตลาดไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟและชาผลไม้” ของจีนที่หลั่งไหลกันเข้ามาบุกตลาดในไทย สร้างกระแสให้กับวงการไอศกรีมและเครื่องดื่มได้มากเลยทีเดียว ด้วยการขายในราคาแสนถูก รวมทั้งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีน เช่น TEMU ที่เข้ามาเปิดตลาดในประเทศ ด้วยกลยุทธ์ลดราคาถึง 90% ตรงสู่ผู้บริโภคในราคาจากโรงงาน 

ในครั้งนี้ #Thairath Money จะพาไปดูกันว่า แฟรนไชส์จากจีนแบรนด์ใดบ้างที่เข้ามาลงหลักปักฐานในประเทศไทย

ธุรกิจจากจีนบุกไทย รุกหนัก! เร่งตีตลาดด้วยกลยุทธ์ดัมพ์ราคา 

1.WEDINK แฟรนไชส์ไอศกรีมและชาผลไม้จากจีน ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2555 และเข้ามาเปิดสาขาแรกในไทยเมื่อต้นปี 2567 จนปัจจุบันมีสาขาแล้วกว่า 47 แห่งทั่วประเทศ ค่าแฟรนชไชส์เริ่มต้น 8.8 แสนบาท

2.MIXUE แฟรนไชส์ไอศกรีมและเครื่องดื่มชาผลไม้เจ้าดังจากประเทศจีน โตด้วยการขายถูก-ให้เยอะ แฟรนไชส์ม้ามืดที่มีสาขามากสุด Top5 ของโลก ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เข้ามาตีตลาดไทยได้ 1 ปี แต่สามารถมีมากกว่า 200 สาขาทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ส่วนภาพจำอันเป็นเอกลักษณ์ คือ “Snow King” มาสคอตของแบรนด์ที่มีคาแรกเตอร์สดใสร่าเริง ชอบร้องชอบเต้น ซึ่งเปิดตัวมาพร้อมกับมิวสิกวิดีโอทำนองและเนื้อร้องติดหู 'I love you, you love me, Mixue Ice cream and tea…' ที่ได้กลายมาเป็นของที่ระลึกขายในทุกร้านค้า ขณะที่ค่าแฟรนไชส์เริ่มต้น 8.9 แสนบาท ส่วนคู่แข่งเบอร์สำคัญคือ Ai-CHA ร้านชาและไอศกรีมจากอินโดนีเซีย ที่หลายคนยกให้เป็นแฝดคนละฝาของ MIXUE

3.Taning (ถาหนิง) แฟรนไชส์ร้านชาที่มีเครื่องดื่มชามะนาวชื่อดังจากกวางโจว มีสาขามากกว่า 600+ สาขาทั่วโลก โดยเปิดรับแฟรนไชส์ซีร่วมลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ที่มั่นใจ ซึ่งค่าแฟรนไชส์สามารถสอบถามได้จากทางแบรนด์

4.เจิ้งซิน ชิคเก้น (Zhengxin Chicken) แฟรนไชส์ไก่ทอดชื่อดังจากจีน ที่มีกว่า 20,000 สาขาขายราคาถูก เปิดสาขา 2 แล้วที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ชั้น 7 ใกล้ๆ ร้าน Sushiro โดยสาขาแรกอยู่ที่ ONE ConneX แถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ราคาเริ่มต้นชิ้นละ 15 บาท นอกจากนี้ยังมีไอศกรีม (คล้ายๆ ของ MIXUE) เป็นของหวาน ขายราคาโคนละ 15 บาทด้วย ค่าแฟรนชไชส์เริ่มต้น 8 แสนบาท

5.Bingxue (ปิงเสวีย) แฟรนไชส์ไอศกรีมและเครื่องดื่มจากจีน ที่มีสาขาในจีนมากกว่า 3,000 สาขา และในต่างประเทศมากกว่า 100 สาขา ก่อตั้งในปี 2557 Bingxue มีจุดเด่นในเรื่องรสชาติและคุณภาพของไอศกรีมและเครื่องดื่ม รสชาติเข้มข้น มีกลิ่นหอมของชา กลิ่นหอมผลไม้สด ที่กำลังบุกไทยซึ่งถือเป็นคู่แข่งเบอร์สำคัญของ MIXUE

รวมทั้งยังมี Naixue Tea Thailand หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า Nayuki’s Tea แบรนด์ชาสัญชาติจีน ที่มีความโดดเด่นเรื่องรสชาติแบบตะวันออก ที่เข้ามาเปิดสาขาแรกในเมืองไทย บริเวณชั้น 1 ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ ซึ่งยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่ามีการขายแฟรนไชส์หรือไม่ และ “CHAGEE” (ชาจี) แบรนด์ชาพรีเมียมจากจีน ที่มีต้นตำรับมาจากมณฑลยูนนาน

ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การเข้ามาของทุนจีน รวมทั้งแฟรนไชส์จากจีนด้วยกลยุทธ์ดัมพ์ราคา ทำให้ธุรกิจในไทยสะเทือนไม่น้อย เพราะนอกจากจะขายในราคาถูกกว่าแล้ว ยังทำโปรโมชันกระหน่ำ จึงกลายเป็นคำถามที่ย้อนกลับมาว่า จะทำอย่างไร? เมื่อวันนี้ “ประเทศไทย” แทบจะเต็มไปด้วยสินค้าและผู้ประกอบการจากจีน และที่สุดแล้วใครจะได้ผลกระทบ?

 อ้างอิง :  กกร.

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์