อีคอมเมิร์ซจีน ชูกลยุทธ์ราคา กินรวบตลาดไทย

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

อีคอมเมิร์ซจีน ชูกลยุทธ์ราคา กินรวบตลาดไทย

Date Time: 10 ส.ค. 2567 06:03 น.

Video

บัญชีม้า เกลื่อนเมือง คนไทยอยู่อย่างไร ใครต้องรับผิดชอบ ? | Money Issue

Summary

  • การเข้ามาของ Temu แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีน สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการไทยอย่างมาก

Latest


การเข้ามาของ Temu แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีน สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการไทยอย่างมาก โดยเฉพาะ SMEs ด้วยกลยุทธ์ลดราคาถึง 90% กับทัพสินค้าที่ถาโถมเข้ามาเป็นจำนวนมาก จากการเร่งผลักดันการส่งออกสินค้าของจีน ขณะที่โซเชียลคอมเมิร์ซอย่าง TikTok ประกาศใช้กลยุทธ์ด้านราคาบีบให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมโปรโมชันเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ประเทศจีน ได้ชื่อว่าเป็นโรงงานผลิตของโลก มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา จากปัญหาสงครามการค้าที่เกิดขึ้น ทำให้จีนเผชิญกับอุปสรรคในการส่งออกไปยังตลาดประเทศพัฒนาแล้ว จากการถูกตั้งกำแพงภาษีในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ทำให้จีนเบนเข็มมายังตลาดในอาเซียนเพิ่มขึ้น โดยในเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา จีนมีการส่งออกสินค้าคิดเป็นมูลค่า 302,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.6% โดยตลาดที่เติบโตมากที่สุด คืออาเซียน เพิ่มขึ้น 25%

การทะลักเข้ามาของสินค้าจากจีน มีตั้งแต่สินค้าชิ้นใหญ่ในระดับอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ จนถึงสินค้าชิ้นเล็กอย่าง เสื้อผ้า เครื่องประดับ โดยปี 2566 ที่ผ่านมา ไทยขาดดุลการค้ากับจีน รวมมูลค่า 36,636 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,295,895 ล้านบาท และล่าสุด Temu แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีน ได้เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย พร้อมชูกลยุทธ์ด้านราคาที่ลดสูงสุดถึง 90% สร้างความกังวลใจให้กับผู้ประกอบการไทยอย่างมาก

ปัจจุบัน ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย มีมูลค่าเกือบ 6 ล้านล้านบาท โดยช่องทางที่ได้รับความนิยมอันดับ 1 เป็น Market Place อย่างช้อปปี้ ลาซาด้า คิดเป็นสัดส่วน 24.58% รองลงมาคือ การขายผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของแบรนด์ 23.60% และโซเชียลคอมเมิร์ซ อย่าง Facebook TikTok และ Instagram

เมื่อเร็วๆ นี้ โซเชียลคอมเมิร์ซ TikTok Shop ประกาศใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขาย เรียกว่า Brand Crazy Deal โดยกำหนดเงื่อนไขข้อหนึ่งว่า ร้านค้าต้องเสนอราคาขาย ต่ำกว่าหรือเท่ากับราคาต่ำสุดใน 30 วันที่ผ่านมา และต้องเทียบเท่าหรือต่ำกว่าราคาที่ขายในแพลตฟอร์มอื่นๆ ร้านค้าจึงจะได้รับการสนับสนุนส่วนลดจากแพลตฟอร์ม ซึ่งเงื่อนไขนี้ ถือเป็นการบังคับกลายๆ ให้ร้านค้าตั้งราคาตามที่แพลตฟอร์มต้องการ และถูกกดราคาขายต่ำกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อธุรกิจขนาดเล็กที่มีต้นทุนทางการเงินสูงอยู่แล้ว

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซ โพสต์เฟซบุ๊กเสนอให้หน่วยงานภาครัฐวางแผนรับมือกับอีคอมเมิร์ซจีน ซึ่งไม่ใช่แค่ Temu เท่านั้น แต่รวมผู้ค้าออนไลน์เจ้าอื่นๆ ที่ต้องทำให้ถูกต้อง และมีความเท่าเทียม

โดยมี 3 แนวทาง คือ ตั้งรับ-จับมือ-รุกกลับ ตั้งรับ คือการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเข้ามาของทุนจีน ออกกฎหมายใหม่และบังคับใช้อย่างเข้มงวด จับมือ กับเอกชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกับรัฐบาลจีนเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ออกกฎหมายที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ปกป้องธุรกิจไทยให้แข็งแกร่งมากขึ้น และ รุกกลับ ด้วยการผลักดันมาร์เก็ตเพลสของคนไทย

"วันนี้รัฐบาลจีนให้กลยุทธ์ส่งออกสินค้าล้นตลาดเพื่อสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังการผลิตและความหลากหลายของสินค้า มีการใช้เทคโนโลยีทันสมัย เช่น AI หุ่นยนต์วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อผลิตสินค้าที่ตรงกับความต้องการและมีต้นทุนต่ำ รวมถึงใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เข้าถึงตลาดต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันสูงมากในตลาดโลก ถึงเวลาที่ภาครัฐต้องหามาตรการปกป้องผู้ประกอบการไทยแล้ว"

สำหรับการกำกับดูแลธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล เบื้องต้นพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ มาตรา 17 เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมในการให้บริการ ให้ผู้ประกอบธุรกิจ ประกาศข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการให้ผู้ใช้บริการทราบอย่างชัดเจนและเหมาะสม ก่อนหรือขณะเข้าใช้บริการ อย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้

1. เงื่อนไขในการให้บริการ การระงับหรือการหยุดให้บริการ และการคิดค่าบริการ

2. ปัจจัยหลักของอัลกอริทึมหรือของหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจใช้ในการจัดอันดับหรือแนะนำรายการสินค้าหรือบริการแก่ผู้ใช้บริการ

3. ปัจจัยหลักของอัลกอริทึมหรือของหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจใช้ในการนำเสนอโฆษณาสินค้าหรือบริการแก่ผู้ใช้บริการ

4. ปัจจัยหลักของอัลกอริทึมหรือของหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจใช้ในการประเมินความพึงพอใจและการแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้บริการ

5. การเข้าถึงและการใช้งานข้อมูลที่ได้รับจากการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ใช้บริการ

6. ช่องทางการให้ความช่วยเหลือ กระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียน และการระงับข้อพิพาท รวมทั้งกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ

7. การจัดระดับการนำเสนอสินค้า บริการ หรือเนื้อหาที่เหมาะสมต่อผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่ม

8. การดำเนินการต่อสินค้า บริการ หรือเนื้อหาที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย

โดยในรายละเอียดให้คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเลกทรอนิกส์ออกประกาศบังคับใช้อีกครั้ง ซึ่งจากกระแสการเคลื่อนทัพของอีคอมเมิร์ซจากจีนครั้งนี้ รัฐต้องเร่งเข้ามาดูแลอย่างเร่งด่วนเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับธุรกิจในประเทศต่อไป


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ