“แสนสิริ” ย้ำแบรนด์อสังหาฯอันดับหนึ่ง “บิ๊กอุทัย” ปลื้มครึ่งแรกยอดขายฉลุยสิ้นปีโตตามเป้า

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“แสนสิริ” ย้ำแบรนด์อสังหาฯอันดับหนึ่ง “บิ๊กอุทัย” ปลื้มครึ่งแรกยอดขายฉลุยสิ้นปีโตตามเป้า

Date Time: 1 ส.ค. 2567 08:40 น.

Summary

  • ผ่านพ้นครึ่งปีแรกได้อย่างสวยหรู แม้จะต้องเจอภาวะเศรษฐกิจซบเซา สำหรับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มบริษัทแสนสิริ หนึ่งในผู้นำบิ๊กเบิ้มแวดวงอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้แม่ทัพคนใหม่ “อุทัย อุทัยแสงสุข” กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งบะละฮึ่มเมื่อต้นปีนี้ จากก่อนหน้านี้รับหน้าที่ “ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ” มายาวนาน โดยสามารถนำนาวา “แสนสิริ” ได้ตามเป้าที่วางไว้

Latest

อัปเดต 5 กลยุทธ์ขายของ พิชิตใจคน Gen Z อยากรักษ์โลก แต่ของมันต้องมี แบรนด์รับมืออย่างไร?

“อุทัย อุทัยแสงสุข” กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของ “แสนสิริ” ย้ำลั่นว่า ในช่วงครึ่งปีแรก 2567 ทั้งในส่วน “ยอดขาย-ยอดโอน” แสนสิริ สามารถเติบโตได้ตามเป้า แม้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศจะไม่สดใสมากนัก กำลังซื้อโดยรวมถดถอย ปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูง แต่ด้วยภาพลักษณ์ของแบรนด์คุณภาพอย่างแสนสิริที่ผู้บริโภคเชื่อใจ พร้อมทีมงานการตลาดและการขายที่เปี่ยมคุณภาพ

“แต่ยอมรับว่ามีปัญหาในเรื่องของสปีดการขายที่อาจไม่เท่ากับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสัญญาณว่าในช่วงครึ่งปีหลังสปีดการขายอาจยิ่งลดลง จึงต้องมีการปรับแผนรับมือในเรื่องนี้ในช่วงครึ่งปีหลัง”

ขาย Sold Out ครึ่งแรกไปได้สวย

อย่างไรก็ดี สำหรับครึ่งปีแรก 2567 แสนสิริสามารถสร้างยอดขายรวมได้ถึง 25,000 ล้านบาท เติบโตจากไตรมาสแรก 8% คิดเป็น 48% จากเป้าหมายยอดขายทั้งปีที่ 52,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ช่วงครึ่งปีแรกแสนสิริยังมียอดโอนถึง 20,000 ล้านบาท เติบโตจากไตรมาสแรก 6% และคิดเป็น 47% จากเป้าหมายยอดโอนทั้งปีที่ 43,000 ล้านบาท โดยช่วงครึ่งปีแรกนี้ โครงการเปิดตัวใหม่ ปรากฏว่าทำยอดขายได้ดีในทุกโครงการและประสบความสำเร็จจากการขายหมด หรือ Sold Out!! ถึง 20 โครงการมูลค่ารวม 15,000 ล้านบาท

“ในช่วงครึ่งปีแรก แสนสิริยืนหนึ่งผู้นำโครงการระดับลักชัวรี บูก้าน พระราม 9-เหม่งจ๋าย ปิดการขายในวันแรกที่เปิดจอง รวมทั้ง แบรนด์ใหม่ “ELSE” (เอลซ์) เอกซ์คลูซีฟ เรสซิเดนซ์ ได้รับการตอบรับที่ดีมากจนปิดการขายไปถึง 2 โครงการ ได้แก่ เอลซ์ ชัยพฤกษ์-แจ้งวัฒนะ” ที่ Sold Out ก่อนเปิดตัวโครงการ และล่าสุด “เอลซ์ กรุงเทพกรีฑา ทำให้มั่นใจว่าถึงสิ้นปีนี้ จะสามารถทำได้ตามเป้าที่วางไว้ตั้งแต่ต้นปีแน่นอน”

โดยในปี 2567 แสนสิริได้วางแผนว่าจะเปิดตัวรวม 46 โครงการ มูลค่ารวม 61,000 ล้านบาท แบ่งเป็นแนวราบ 26 โครงการ มูลค่ารวม 35,000 ล้านบาท และแนวสูง 20 โครงการ มูลค่ารวม 26,000 ล้านบาท ซึ่งจะเน้นขยายการลงทุนไปยังหัวเมืองท่องเที่ยวและทำเลศักยภาพที่มีความต้องการสูง โดยการเปิดโครงการใหม่ทั้งหมดในปี 2567 นี้เป็นการสนับสนุนให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับเป้ายอดขายรวมในปี 2567 อยู่ที่ 52,000 ล้านบาท และยอดโอนทั้งปี 2567 อยู่ที่ 43,000 ล้านบาท

“เราได้รับการตอบรับที่ดีในทุกเซ็กเมนต์ ทั้งคอนโดมิเนียมแบรนด์คอนโด มีที่ปิดการขายไปถึง 6 โครงการ ขณะที่แนวราบได้รับการตอบรับที่ดีทุกโปรดักส์ ทั้งทาวน์โฮมโครงการ สิริ เพลส บางนา-เทพารักษ์ บ้านและทาวน์โฮมแบรนด์ อณาสิริ บ้านเดี่ยวแบรนด์คณาสิริ ฮาบิเทียไพร์ม และเศรษฐสิริ รวมทั้งโครงการระดับลักชัวรี บูก้าน พระราม 9-เหม่งจ๋าย ที่ขายหมดในวันแรกที่เปิดจอง และแบรนด์ใหม่ “ELSE” (เอลซ์) เจาะกลุ่มลูกค้าใหม่เอกซ์คลูซีฟ เรสซิเดนซ์ จำนวนยูนิตน้อย Private สูง ที่ได้รับการตอบรับที่ดีมาก”

ไตรมาส 3 รุกต่อเปิดใหม่ 13 โครงการ

สำหรับแผนธุรกิจในช่วงไตรมาส 3 แสนสิริจะรุกเปิดตัวโครงการใหม่ประมาณ 13 โครงการ มูลค่ารวมเกือบ 16,000 ล้านบาท ไฮไลต์ การเปิดตัวคอนโดมิเนียมถึง 8 โครงการใหม่ มูลค่ารวมเกือบ 10,000 ล้านบาท ประกอบด้วยทั้งโครงการบนทำเลศักยภาพในย่าน CBD บนทำเลสุขุมวิท, การรุกพัฒนาโครงการใน Strategic Location หัวเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยว ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ รวมถึงตลาดฝั่ง EEC โซนภาคตะวันออก ตั้งแต่พัทยา บางแสน พร้อมทั้งลุย เปิดตัว Affordable Condo อย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญแสนสิริ ได้ให้ความสำคัญกับการบริหาร Portfolio ให้เหมาะสมรองรับการเติบโต ใช้เงินลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อผลประกอบการที่โตอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ตอกย้ำ 40 ปี ”แสนสิริ“ แบรนด์อสังหาฯ อันดับหนึ่ง ผ่านการออกแบบที่โดดเด่น รักษามาตรฐานด้านคุณภาพของสินค้าและการบริการ

เป้าหมายอันดับ 1 กลุ่มอสังหาฯ เพื่ออยู่อาศัย

ทั้งนี้ ในปี 2567 แสนสิริจะยังคงตั้งมั่นใน 3 กลยุทธ์ เพื่อครองความเป็นผู้นำในกลุ่มอสังหาฯ เพื่ออยู่อาศัย 1.รักษาระดับผลประกอบการให้เติบโตสม่ำเสมอ 2.บริหารจัดการพอร์ตสินค้าพร้อมขาย และ 3.ให้ความสำคัญกับสินค้า บริการ และความยั่งยืน พร้อมยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการให้เป็นอันดับ #1 ในกลุ่มอสังหาฯเพื่อ
อยู่อาศัย ซึ่งเป็นสิ่งที่แสนสิริยึดมั่นมาตลอด

เห็นได้จากในปีที่ผ่านมา “แสนสิริ” สามารถคว้าอันดับ 1 บริษัทชั้นนำกลุ่มอสังหาฯเพื่ออยู่อาศัยในไทย จาก Fortune Southeast Asia 500 โดยนิตยสารฟอร์จูน (Fortune) สื่อธุรกิจชั้นนำระดับโลก ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการจัดอันดับ 500 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สะท้อนการเติบโตในระดับท็อปของประเทศ ตอกย้ำความแข็งแกร่งสู่ปีที่ 40 “RESILIENT GROWTH” แบรนด์อสังหาฯ อันดับ 1 ผู้นำด้านดีไซน์และคุณภาพการบริการ โดยการจัดอันดับนี้ พิจารณาจากรายได้ของบริษัทจากงบการเงินประจำปี 2566 โดยแสนสิริอยู่ในอันดับที่ 249 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, อันดับที่ 46 ของไทย และเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มผู้ประกอบการประเภทที่อยู่อาศัย

ขณะที่ในปี 2566 แสนสิริสามารถมีกำไรสุทธิสูงถึง 6,060 ล้านบาท ซึ่งนับว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ก่อตั้งมาได้ 40 ปี หรือ ALL-TIME HIGH เพิ่มขึ้น 42% จากปี 2565 หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ ที่ 15.5% นับว่าเป็นบริษัทที่มีอัตราการเติบโตด้านกำไรสุทธิสูงที่สุดในกลุ่มธุรกิจอสังหาฯเพื่อที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ รายได้รวมก็ถือเป็นสถิติสูงสุดใหม่เช่นกันอยู่ที่ 39,082 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อนหน้า จากการเปิดตัวโครงการใหม่ทั้งแนวราบและแนวสูง โดยเฉพาะโครงการบ้านเดี่ยวที่แสนสิริเป็นเจ้าตลาดอสังหาฯในระดับลักชัวรี่และมียอดโอนต่อเนื่อง

ความสำเร็จดังกล่าว สะท้อนความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและลูกค้า และแสนสิริจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับสังคม และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาระดับการเติบโตอย่างยั่งยืน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทาย พร้อมกันนี้ “แสนสิริ” ยังเดินหน้าเรื่องความยั่งยืน ได้มีการชวนพาร์ตเนอร์และพันธมิตรมาร่วมกัน เพื่อรับมือปัญหาโลกร้อนด้วยโมเดล Green Supply Chain รองรับเศรษฐกิจสีเขียว โดย “แสนสิริ” นับเป็นอสังหาริมทรัพย์รายแรกของไทยที่ตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero)

“ปี 2567 นับเป็นก้าวสำคัญของแสนสิริในโอกาสดำเนินธุรกิจสู่ปีที่ 40 กับการก้าวสู่การเป็นเบอร์หนึ่งของผู้นำอสังหาริมทรัพย์อย่างเต็มภาคภูมิ เรามองว่าความยั่งยืนเกี่ยวเนื่องกับความเสี่ยงของธุรกิจด้วยเช่นกัน อาทิ ทรัพยากร ธรรมชาติที่ขาดแคลน อาจหมายถึงราคาวัตถุดิบที่แพงขึ้น วัสดุทางเลือกเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้ต้องมีการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและย่อยสลายได้ง่าย รวมถึงนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่, ธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะและคุณภาพชีวิตของแรงงาน รวมถึงมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความยากจนและการเข้าถึงบริการพื้นฐาน เพราะหากแรงงานไม่มีความสุข productivity อาจจะลดลง และส่งผลระดับ operation หยุดชะงัก จึงเป็นความท้าทายที่ธุรกิจจะต้องเข้าใจ ต้องผนวกแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนเข้าไปในกลยุทธ์ขององค์กร ต้องบูรณาการให้ครอบคลุมมิติด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจไปพร้อมๆกันอย่างสมดุล”.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ