ค้าปลีกเจอ Digital Disruption ระลอก 3 เปิด 6 ข้อ รับมือการเปลี่ยนแปลง

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ค้าปลีกเจอ Digital Disruption ระลอก 3 เปิด 6 ข้อ รับมือการเปลี่ยนแปลง

Date Time: 12 ก.ค. 2567 11:42 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • รายงานของเคพีเอ็มจี เผย ธุรกิจค้าปลีกแบบไร้รอยต่อเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับผู้ค้าปลีกแห่งอนาคตในเอเชียแปซิฟิก หลังธุรกิจค้าปลีกกำลังเผชิญกับคลื่นดิจิทัลดิสรัปชั่นระลอกที่ 3 เป็นผลจากการค้าแบบไร้รอยต่อ โดยที่เห็นเด่นชัดคือการเพิ่มขึ้นของระบบอีคอมเมิร์ซ การค้าบนมือถือ การค้าปลีกแบบหลายช่องทาง รวมถึงการใช้การวิเคราะห์ข้อมูลและ AI

Latest


เมื่อการซื้อ-ขาย ปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ “ต้องมีหน้าร้าน” การเกิดขึ้นของการค้าแบบไร้รอยต่อ ซึ่งมีกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญใน “ธุรกิจค้าปลีก” ทำให้ “ลูกค้า” เป็นศูนย์กลางความสนใจอย่างแท้จริง โดยเฉพาะแนวคิดที่เคยแพร่หลาย เช่น “Multichannel” และ “Omnichannel” ก็กลายเป็นว่ามีความสำคัญลดลง เพราะการเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลางมีความสำคัญมากขึ้น

ธุรกิจค้าปลีกแบบไร้รอยต่อ มาตรฐานใหม่สำหรับผู้ค้าปลีก

ช่อทิพย์ วรุตบางกูร หัวหน้าฝ่าย Consumer & Retail เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจค้าปลีก กำลังเผชิญกับคลื่นดิจิทัลดิสรัปชั่นระลอกที่ 3 เป็นผลจากการค้าแบบไร้รอยต่อ โดยที่เห็นเด่นชัดคือการเพิ่มขึ้นของระบบอีคอมเมิร์ซ การค้าบนมือถือ การค้าปลีกแบบหลายช่องทาง รวมถึงการใช้การวิเคราะห์ข้อมูลและ AI ทำให้ผู้ค้าปลีกสามารถเชื่อมช่องทางต่างๆ ให้สัมพันธ์กัน การค้าแบบไร้รอยต่อ (Seamless Commerce) จึงเป็นการเข้าสู่ระยะใหม่ของการพลิกโฉมธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเน้นให้ความสำคัญกับเส้นทางของผู้บริโภค (Customer Journey) เป็นอันดับแรก

สอดคล้องกับรายงานของ KPMG ที่ได้ทำการสำรวจจากผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 7,000 ราย ในตลาด 14 แห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม 

โดยรายงานยังรวมข้อมูลการสัมภาษณ์ผู้บริหารอาวุโสระดับ C-suite จากผู้ค้าปลีก แบรนด์ และบริษัทอีคอมเมิร์ซชั้นนำถึงประเด็นสำคัญของรายงานประกอบด้วยแนวโน้มหลัก 6 ประการที่กำลังเปลี่ยนแปลงธุรกิจค้าปลีก 

6 สิ่งสำคัญที่กำลังเปลี่ยนแปลงธุรกิจค้าปลีก 

  1. ความหลากหลายที่โดดเด่น เนื่องจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้ขาดแพลตฟอร์มหลักที่เป็นเจ้าตลาด จึงมีการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างผู้เล่นแพลตฟอร์มเพื่อแย่งชิงเม็ดเงินของผู้บริโภค ลำดับความสำคัญหลักที่ผู้บริโภคมองหาเมื่อเลือกแพลตฟอร์มในการซื้อสินค้าคือ ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และการจัดส่งที่รวดเร็วและเชื่อถือได้

  2. Gen Z เป็นผู้นำสำคัญ เพราะการขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียได้รับความนิยมในกลุ่ม Gen Z แพลตฟอร์มเช่น TikTok มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยเทรนด์ต่างๆ ไม่เพียงแต่ในระดับภูมิภาค แต่เป็นระดับสากลที่มาและไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อของกลุ่ม Gen Z ทำให้แบรนด์ต่างๆ ต้องทบทวนกลยุทธ์ของตัวเองมากขึ้น
  3. ผู้ค้าปลีกปรับใช้ AI การประยุกต์ใช้ AI ที่แพร่หลายที่สุดคือการเพิ่มความแม่นยำของคำแนะนำผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแต่ผู้บริโภคก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและการขาดปฏิสัมพันธ์กับ ‘คน’

  4. การชำระเงินดิจิทัลมีความสำคัญมากขึ้น กระเป๋าเงินดิจิทัลกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ซึ่งนักช็อปนิยมใช้บัตรเดบิต/เครดิตในการทำธุรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ในจีนก็นิยมใช้ Alipay อยู่ในอันดับต้นๆ

  5. โปรแกรมสะสมคะแนน (Loyalty Program) ช่วยให้ผู้ค้าปลีกได้รับข้อมูล
    ผู้ค้าปลีกเริ่มเข้าใจว่ากลยุทธ์การเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงที่มีประสิทธิภาพต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมากจึงทำให้ผู้ค้าปลีกที่ในอดีตอาจไม่ให้ความสำคัญกับโปรแกรมสะสมคะแนนเพื่อเก็บข้อมูล แต่ปัจจุบันเริ่มตระหนักถึงมูลค่าของโปรแกรมสะสมคะแนนสำหรับการรวบรวมข้อมูลมากยิ่งขึ้น ซึ่ง Thairath Money ขอยกตัวอย่างในกรณีของ The 1 หรือแม้กระทั่ง MCard เป็นต้น

  6. ความยั่งยืนไม่ใช่เพียงเครื่องมือเสริมในการทำการตลาด แต่เป็นปัจจัยขั้นพื้นฐาน จะเห็นได้ว่าแบรนด์ต่างๆ นำเสนอประสบการณ์ที่ยั่งยืนโดยไม่เก็บค่าบริการระดับพรีเมียมเพิ่ม ซึ่ง Thairath Money ขอยกตัวอย่างในกรณี เป๊ปซี่ เปิดตัวเครื่องดื่มใหม่ ขนาด 1.45 ลิตร ในขวดจากพลาสติกรีไซเคิล 100% หรือแม้กระทั่ง MUJI ที่เดินหน้าผลิตจากวัสดุธรรมชาติ หรือออร์แกนิก 100% เป็นต้น

ทั้งหมดนี้คืออนาคตของ “ธุรกิจการค้า” ที่ขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจและพร้อมจ่ายเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลและนักลงทุนก็ขานรับเทรนด์รักษ์โลก และกลายมาเป็นแรงกดดันถึงผู้ผลิตและธุรกิจค้าปลีกในที่สุด 

“ต้นทุนสูง” โจทย์ท้าทายหลักของธุรกิจค้าปลีก

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้การเติบโตโดยทั่วไปของเศรษฐกิจการค้าปลีกในเอเชียแปซิฟิกจะอยู่ในระดับที่ค่อยๆ เข้าใกล้ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การใช้จ่ายของผู้บริโภคในปี 2567 ยังมีแนวโน้มที่จะเริ่มชะลอตัวลง อันเนื่องมาจากผู้บริโภครู้สึกถึงผลกระทบของ “ต้นทุน” ที่สูงขึ้น ตลาดบางแห่งจึงเห็นการเติบโตที่ไม่ชัดเจน ในขณะที่ตลาดอื่นๆ กำลังเผชิญกับแนวโน้มขาลง 

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นยิ่งที่ “ผู้ค้าปลีก” จะต้องเรียนรู้วิธีดึงดูด “ผู้บริโภค” ให้ได้มากขึ้นในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและในอนาคตที่มีความไม่แน่นอนสูง เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ผู้บริโภคมีการปรับการใช้จ่ายของตน การเปลียนแปลงของธุรกิจให้เหมาะสมกับตลาด และพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดนั่นเอง.

อ้างอิง KPMG

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ