“ไทยสมายล์บัส” ชู “ไต้หวันโมเดล” ต่อยอดบัตร HOP Card-ดึง 300 ร้านร่วม

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“ไทยสมายล์บัส” ชู “ไต้หวันโมเดล” ต่อยอดบัตร HOP Card-ดึง 300 ร้านร่วม

Date Time: 6 ก.ค. 2567 06:06 น.

Summary

  • “ไทยสมายล์บัส” ยก “ไต้หวันโมเดล” ต้นแบบบริการรถเมล์แบบแอร์เย็นฉ่ำ สะอาด ปลอดภัย ยกระดับบริการผู้โดยสารในเมือง ต่อยอดบัตรโดยสาร “HOP Card” ใบเดียวชำระค่าสินค้า-บริการ ในร้านสะดวกซื้อ จ่อดึง 300 ร้านค้าเข้าร่วมเพิ่ม ใช้บัตรใบเดียวเดินทางบก-น้ำ ได้แบบครบวงจร

Latest

“หมูเด้ง” ซุปตาร์ฮิปโปแคระ เกิดมา 4 เดือน งานพรีเซนเตอร์เข้าฉ่ำ คาดสร้างรายได้กว่าร้อยล้าน

นายวรวิทย์ ชาญชญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการและกลยุทธ์ บริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด หรือ TSB ผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะพลังงานไฟฟ้า เปิดเผยว่า ไทยสมายล์บัสพร้อมยกระดับระบบขนส่งมวลชนไทยให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ เข้าถึงได้ สะอาด ปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ซึ่งหนึ่งในหลายประเทศมีลักษณะโครงสร้างคมนาคมขนส่งใกล้เคียงกับไทย คือ จีน ไต้หวัน ฮ่องกง ส่งผลให้รูปแบบการขนส่งสาธารณะจากรถสันดาป ปรับเปลี่ยนมาสู่พลังงานสะอาดที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (EV-Bus) เหมือนกับในไทย

“ไต้หวันโมเดล” ต้นแบบรถเมล์สะอาด

โดยไทยสมายล์บัสได้เดินทางไปดูงานที่ไต้หวัน พบว่าประเทศไทยสามารถนำโมเดลระบบขนส่งสาธารณะของไต้หวันมาพัฒนาต่อยอด เช่น เรื่องการเชื่อมต่อโครงข่าย Single Network เหมือนกับระบบบัตรโดยสาร Easy Card, บัตร i-Pass ที่ใช้บริการได้ครบถ้วน รถ-เรือ-ราง ซึ่งไต้หวันมีรถไฟฟ้า Metro Taipei, Kaohsiung Metro & LRT, Metro Taiyuan, Metro Taichung, New Taipei Metro, รถไฟ Taiwan Railway, รถไฟความเร็วสูง, รถเมล์ EV Bus, รถรับส่ง Shuttle Bus, เรือเฟอร์รี่, รถแท็กซี่ ไปจนถึงจักรยานเช่า T-Bike และ You Bike ที่เชื่อมระบบกันได้หมด

ขณะที่ประเทศไทยยังติดปัญหาที่ไม่สามารถเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายได้จริง แม้ปัจจุบันไทยสมายล์บัส มีการนำร่องเชื่อมต่อรถเมล์ไฟฟ้ากับเรือโดยสารไฟฟ้าในเครือเรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีข้อจำกัด ซึ่งต้องอาศัยอำนาจของภาครัฐเข้ามาเป็นคนกลาง เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายกับผู้ใช้บริการ นอกจากนั้นจะมีการต่อยอดบัตรโดยสาร HOP Card ของไทยสมายล์บัส ให้สามารถใช้ชำระค่าสินค้า-บริการ ให้ได้เหมือนกับ Easy Card ของไต้หวัน ที่ใช้ซื้อของในร้านสะดวกซื้อ ใช้จ่ายค่าบริการร้านอาหาร โรงแรม พร้อมทั้งยังมีสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้บริการ

สำหรับสิทธิประโยชน์ในปัจจุบันไทยสมายล์บัส มีสิทธิประโยชน์เดลิ แมกซ์ แฟร์ (Daily Max Fare) แก่ผู้โดยสาร ไทย สมายล์ กรุ๊ป ที่ถือ HOP Card จะจ่ายค่าโดยสารสูงสุด 40 บาทต่อวัน เมื่อโดยสารรถหรือเรือ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหากนั่งรถต่อเรือ เรือต่อรถ ชำระค่าโดยสารสูงสุด 50 บาทต่อวัน นอกจากการศึกษาโมเดลระบบการชำระเงินของไต้หวันแล้ว ล่าสุดยังได้พัฒนาแอปพลิเคชัน TSB Go Plus เพิ่มฟังก์ชันให้หลากหลาย อาทิ ตรวจสอบเวลาเดินรถ เมื่อกำลังเข้าป้าย คำนวณระยะเวลาเดินทาง

ปั้นบัตร “Hop Card” รุกตลาดคนนั่งรถเมล์

โดยภายในสิ้นปี 67 นี้ ตั้งเป้าจะเพิ่มผู้ถือบัตร HOP Card จาก 140,000 ใบ (ลงทะเบียนใช้งาน 50,000 ใบ) เป็น 300,000 - 400,000 ใบ โดยมีแผนเพิ่มสิทธิประโยชน์บัตร HOP Card ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรหลายราย และที่เจรจาแล้วคือกลุ่มไมเนอร์กรุ๊ป ที่ให้ส่วนลดอาหารในกลุ่มและพันธมิตร โดย 1 เส้นทางจะมีพาร์ตเนอร์ 1-2 รายต่อเส้นทาง บริษัทมี 123 เส้นทาง ก็จะดึงพันธมิตรมาร่วมอีกราว 300 ราย นอกจากนี้ ยังขยายพันธมิตรรูปแบบ B2B ในกลุ่มโรงเรียน โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้าด้วย

เบื้องต้นบริษัทจะใช้งบลงทุนประมาณ 150,000-200,000 บาท ในการติดตั้งจุดจำหน่ายเครื่องแตะบัตรโดยสาร HOP Card จำนวน 300 เครื่อง ที่ร้านค้าพาร์ตเนอร์ ซึ่งจะทำให้บัตรโดยสารดังกล่าวใช้ชำระค่าโดยสารรถสาธารณะและชำระสินค้าต่างๆได้มากขึ้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2-3 เดือน และจะออกบัตรโดยสาร HOP Card ลายลิมิเต็ดประมาณ 3-4 ลาย ร่วมกับศิลปินไทยภายในไตรมาส 3 ปี 67 รวมทั้งมีแผนจะร่วมกับซีพี เพิ่มช่องทางจำหน่ายบัตรโดยสารภายในปีนี้เช่นกัน

เพิ่มเส้นทางเดินรถ-ปั้นรายได้

ส่วนผลการดำเนินงานของไทยสมายล์บัสในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 คาดการณ์ว่าจะทำรายได้เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 260 ล้านบาท จากปัจจุบันทำรายได้ 150 ล้านบาท จากเส้นทางเดินรถทั้งหมดที่วิ่งบริการอยู่ 123 เส้นทาง สาเหตุที่คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีแผนเพิ่มจำนวนผู้โดยสารจาก 1.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) จะถอดการเดินรถจำนวน 14 เส้นทางที่วิ่งทับซ้อนกับเส้นทางของไทยสมายล์บัส ในวันที่ 24 ก.ค.2567 ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มรายได้อีก 30 ล้านบาท/เดือน

2. บริษัทได้เสนอกรมการขนส่งทางบก เข้าปรับปรุงเส้นทางเดินรถอีก 116 เส้นทาง เพื่อให้รถของไทยสมายล์บัสวิ่งระยะทางไกลขึ้น รองรับพื้นที่ที่มีชุมชนหนาแน่น หากได้ปรับปรุงเส้นทางแล้วจะเพิ่มรายได้อีก 80 ล้านบาท/เดือน 3.บริษัทมีแผนขยายส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มเป็น 50% ภายในปลายปี 67 จากส่วนแบ่งการตลาดปัจจุบันที่ 30% โดยจะเพิ่มจำนวนรถเป็น 1,900 คันในไตรมาส 4/67 จากที่วิ่งอยู่ 1,500 คัน และเพิ่มจำนวนรถเป็น 2,350 คัน ในไตรมาสแรกปี 68 โดยจะเพิ่มในเส้นทางเดิมที่มีจำนวนผู้โดยสารหนาแน่น ซึ่งจะทำให้มีรายได้มากขึ้น

ปัจจุบัน ไทยสมาย์บัส มีรายได้เฉลี่ย 3,400 บาท/วัน/คัน โดยรายได้ต่ำสุดอยู่ที่ 1,500 บาท/วัน/คัน และสูงสุด 5,000 บาท/วัน/คัน โดยเส้นทางที่ทำรายได้สูงสุด 2 สาย คือสาย 8 และ สาย 140 อย่างไรก็ดี จุดคุ้มทุนที่รวมต้นทุนการเงินอยู่ที่ 7,000 บาท/วัน/คัน.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ