“ผู้ชายที่แต่งหน้า เพราะ อยากดูดี และถ้าให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่อยากใช้ ผู้ชายประมาณ 90% บอกว่าอยากได้ดินสอเขียนคิ้ว"
เครื่องสำอาง ที่ไม่ได้ใช้เพื่อเสริมความสวยให้กับผู้หญิง เพียงเพศเดียวอีกต่อไป กลายเป็นก้าวเล็กๆ ของกระแส ทอล์กออฟเดอะทาวน์ ที่ มิสทีน (Mistine) เคยสร้างไว้ เมื่อหลายปีก่อน หลัง ดึง “อ๊อฟ-ปองศักดิ์” เป็นพรีเซนเตอร์ขายสินค้า นำมา ซึ่งยอดขาย ดินสอเขียนคิ้ว ถล่มทลาย
เรื่อยมาจนถึง ยืดเปล่า (YUEDPAO) แบรนด์เสื้อยืด ขวัญใจมหาชน ประกาศอยู่ข้างเคียง กลุ่มคน ทุกเพศ ทุกวัย ในทุกวัน ไม่ใช่แค่ Pride Month เดือนเดียวเท่านั้น แต่ อยากให้ทุกวันเป็น Pride Day พร้อมให้สวัสดิการพนักงาน จัดเต็ม ตั้งแต่ เปิดวัน ให้ลาแปลงเพศ, พนักงานสามารถลาแต่งงานได้ทุกเพศ หรือ จะลาพักใจ เพราะอกหัก ก็ได้
นี่เป็นทั้งกลยุทธ์ และ การสื่อสารแบรนด์ ที่ไม่อาจต้านกระแสความแรง ของกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ อย่าง กลุ่ม LGBTQ+ ที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย และ โลกธุรกิจ ยุคปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ค่านิยมแห่งยุค เมื่อแบรนด์แสดงจุดยืน เพื่อความน่าอยู่ของสังคมในแง่ต่างๆ อย่างจริงใจ ก็เป็นประตูปลดล็อก ความนิยมในตัวแบรนด์ได้
ล่าสุด ในรายงาน Ipsos LGBTQ+ Pride Report 2024 ของ อิปซอสส์ บริษัทวิจัยตลาดระดับโลก เผยให้เห็น ความสำคัญ และ บทบาทของแบรนด์ และ ธุรกิจ ที่คงต้องฟังเสียงผู้บริโภคมากขึ้น เมื่อประเทศไทย กลายเป็นประเทศที่เปิดกว้าง สำหรับกลุ่ม LGBTQ+ มากที่สุดในโลก
โดย อิปซอสส์ เผยว่า ประเทศไทยมี ชุมชน LGBTQ+ ขนาดใหญ่และเป็นที่ยอมรับ โดยกลุ่มผู้บริโภคที่สำคัญนี่เอง เป็นสาเหตุที่ ผลิตภัณฑ์และบริการ ต้องให้ความสำคัญกับดีมานด์สูงขึ้นภายใต้ ผู้บริโภคชาวไทยให้การสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมกันของ LGBTQ+ เป็นอย่างมาก สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกอย่างมีนัยสำคัญ เช่น
ขณะ 71% สนับสนุนบริษัทและแบรนด์ที่แสดงจุดยืนสนับสนุนความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก ที่อยู่ที่ 44% และสูงที่สุดในบรรดาประเทศที่ทำการสำรวจ
ฉะนั้น อาจกล่าวได้ว่า แบรนด์และธุรกิจที่ส่งเสริมความเท่าเทียมและการไม่แบ่งแยก (Equality and Inclusion) ของชาว LGBTQ+ อย่างจริงจัง มีแนวโน้มที่จะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคชาวไทย
ทั้งนี้ แบรนด์ สามารถพัฒนากลยุทธ์การตลาดและผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการ และเพิ่มการมีส่วนร่วมกับแบรนด์ (Brand Engagement) ที่มีความหมายให้กับคนทุกกลุ่มได้ ด้วยการสร้างความหลากหลายทางการตลาด ใช้ภาษาที่เป็นกลาง และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เปิดกว้างต่อนิยามของเพศสภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ ผลสำรวจ ยังพบว่า คนไทยส่วนใหญ่ (73%) ยังสนับสนุนกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่ามี Strong Market สำหรับแคมเปญการตลาดที่ครอบคลุมกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
คนไทย 60% อยากเห็นตัวละคร LGBTQ+ มากขึ้นในสื่อ เสนอให้แบรนด์ เปิดโอกาสให้ Character ใหม่ๆ ที่ไม่จำกัดแต่เพียงชายหญิง ได้มีบทบาทบนสื่อและโฆษณามากขึ้น
ขณะเดียวกัน ในประเด็น สมรสเท่าเทียมนั้น พบ คนไทย 58% สนับสนุน same-sex marriage (การสมรสเพศเดียวกัน) และ 36% กล่าวว่าเคยเข้าร่วมงานแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งในอนาคตคาดว่าน่าจะเพิ่มขึ้นหลังการปลดล็อกให้ประชาชนทุกกลุ่มได้สิทธิสมรสอย่างเท่าเทียม เปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจในอุตสาหกรรมงานแต่งงาน ด้วย
เห็นอำนาจซื้อ และ บทบาท ของชาว LGBTQ+ แบบนี้แล้ว ต้องเรียกว่า ตลาดสีรุ้งมากสีสัน คือ โอกาสที่ผู้ประกอบการไทยต้องเกาะให้แน่น และ แสดงออกอย่างจริงใจ เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสทอง
ที่มา : Ipsos
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney