“ประกิต ประสิทธิ์ศุภผล” เล่าถึงเริ่มต้นที่มาของ บมจ.เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ ว่าจากที่ตนเอง ต้องทำหน้าที่ขับรถขนน้ำมันมะพร้าวไปส่งที่ กทม.และขากลับต้องตีรถเปล่า จึงคิดหารายได้เพิ่ม โดยขนสินค้ากลับไปขายที่สุราษฎร์ฯ และด้วยธุรกิจเดิมของครอบครัวที่มีปั๊มน้ำมันลอยน้ำ ขายน้ำมันดีเซลให้เรือประมงขนาดเล็ก ที่ปากแม่น้ำตาปี ทำให้มีโอกาสเข้าถึง น้ำมันดีเซลในกรุงเทพฯที่มีราคาถูกกว่าที่สุราษฎร์ฯถึง 40 สตางค์ต่อลิตร จึงซื้อน้ำมันดีเซลขนใส่รถบรรทุกจากกรุงเทพฯ ตีกลับมาขายที่สุราษฎร์ธานี ทำให้ขายน้ำมันให้เรือประมงได้ในราคาถูกกว่าคู่แข่ง และสุดท้ายคู่แข่งก็ได้กลายมาเป็นลูกค้า ในราคาที่ Win-Win เพราะไม่เอากำไรเยอะ ทำให้ธุรกิจไปได้ดี ทำให้ขยายกิจการมีรถบรรทุกขนน้ำมันมะพร้าวเพิ่มเป็น 6 คัน!!
เมื่อธุรกิจขนส่งน้ำมันมะพร้าวเริ่มมีข้อจำกัด และปัญหาเรื่องฤดูกาลที่มีผลผลิตไม่ตลอดทั้งปี ขณะที่ธุรกิจน้ำมันปาล์มเริ่มเติบโต โดยปี 2526 มีโรงงานทักษิณปาล์ม มาเปิดที่สุราษฎร์ธานี จึงเข้าไปรับขนส่งน้ำมันปาล์มอีกขาหนึ่งด้วยและด้วยโรงงานทักษิณปาล์มรับซื้อน้ำมันปาล์มจากหลายที่ ทำให้เวลารถไปรับน้ำมันปาล์มต้องไปจอดรถต่อคิวนานหลายวัน เสียเวลา เสียรายได้ จึงคิดเรื่องการขนส่งทางน้ำ ที่น่าจะขนได้ในปริมาณที่เยอะกว่า ต้นทุนถูกกว่า จึงซื้อที่ดินสร้างท่าเรือขึ้นมา เพื่อให้บริการเป็นคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ ทำให้ต้องมีการขนน้ำมัน มารวมกันไว้ที่คลังน้ำมันและท่าเทียบเรือของเรา หลังจากนั้นจึงต่อยอดโดยซื้อเรือบรรทุกน้ำมัน เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือด้วย โดยเน้นขนส่งสินค้าเหลว น้ำมันปาล์มดิบ จากท่าเรือสุราษฎร์ธานี ไปท่าเรือบางปะกง ฉะเชิงเทรา
ก่อนที่จะเห็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจจนนำไปสู่การทำธุรกิจเทรดดิ้งหรือเป็นตัวกลางซื้อ–ขายน้ำมันปาล์มดิบในที่สุด โดยตั้งบริษัทปาโก้เทรดดิ้ง จำกัด ในปี 2538 ท่ามกลางการอุปโภคบริโภคน้ำมันปาล์มเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรมีพื้นที่เพาะปลูกปาล์มมากขึ้นเรื่อยๆ จนนำมาสู่การใช้น้ำมันปาล์มเป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซล หรือ “ไบโอดีเซล” เป็นพลังงานทดแทน และรัฐบาลได้เริ่มสนับสนุนผลักดัน
หลังจากรัฐบาลมีนโยบายเรื่องพลังงานทดแทนออกมา ทำให้การปลูกปาล์มเริ่มขยายตัว จากในอดีตมีพื้นที่ปลูกปาล์มเพียง 6-7 แสนไร่ มีผลผลิตน้ำมันปาล์ม 3 แสนตัน/ปี ปัจจุบันมีพื้นที่เพราะปลูกร่วม 10 ล้านไร่ ผลผลิตมากกว่า 3 ล้านตัน มีสัดส่วนการใช้น้ำมันปาล์มผสมในดีเซล 9 แสนตัน ถึง 1.5 ล้านตัน/ปี
หลังจากนั้นจึงรุกขยายกิจการตั้งโรงงานผลิตและแปรรูปน้ำมันปาล์มดิบในปี 2549 ตั้งบริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจ ผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล น้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันพืชสำหรับการบริโภค โดยลงทุนสร้างโรงงานผลิตและแปรรูปน้ำมันปาล์ม ด้วยเงินลงทุน 360 ล้านบาท เริ่มต้นด้วยขนาดกำลังผลิต 400 ตัน แบ่งเป็นผลิตน้ำมันไบโอดีเซล 200 ตัน และผลิตน้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันพืชสำหรับการบริโภคอีก 200 ตัน
“ผมไม่เคยหยุดคิดและหยุดทำ เมื่อเห็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจก็จะโดดคว้าโอกาสนั้นทันที จนนำมาสู่การทำธุรกิจปาล์มน้ำมันที่ครบวงจร ต้นปาล์มถือเป็นพื้นที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน แม้กระทั่งต้นปาล์มและกะลาที่ห่อหุ้มผลปาล์มยังสามารถส่งออกไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงฟ้าที่ญี่ปุ่น อยู่ในทุกขั้นตอนของพลังงานสะอาด และต่อไปเราจะใช้นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำมันปาล์มได้มากขึ้น”
“ประกิต” อัปเดตสถานะล่าสุดของ บมจ. เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ (PCE) ว่า ขณะนี้บริษัทได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนเรียบร้อยแล้ว เพื่อยกระดับองค์กรสู่มาตรฐานสากลและการเติบโตอย่างยั่งยืน ให้สอดคล้องกับแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความพร้อมและศักยภาพของ PCE ในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปาล์มครบวงจรในอนาคต
โดย PCE จะเป็นโฮลดิ้ง คัมปานี้ ที่มีบริษัทที่ทำธุรกิจใน 5 กลุ่มธุรกิจ คือ 1.บริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล น้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันพืชสำหรับการบริโภค ภายใต้ตราสินค้า “รินทิพย์” โดยโรงงานรีไฟน์น้ำมันปาล์ม ผลิตได้ 1,800 ตัน/วัน
แบ่งเป็นน้ำมันปาล์มสำหรับบริโภคกึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูปได้วันละ 1,000 ตัน และสำหรับผลิตเป็น B100 เพื่อเป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซลได้อีก 1.2 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนโรงงานสกัดผลปาล์มที่รับซื้อจากเกษตรกรสามารถผลิตได้อีก 1,800 ตันต่อวัน/หรือปีละไม่ต่ำกว่า 500,000 ตัน
2.บริษัท ปาโก้เทรดดิ้ง จำกัด ประกอบธุรกิจซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันเมล็ดในปาล์ม เมล็ดในปาล์ม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากปาล์ม โดยจัดจำหน่ายให้ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีปริมาณและมูลค่าการซื้อขายและส่งออกเป็นอันดับต้นๆของประเทศ 3.บริษัท เพชรศรีวิชัย จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางบกภายในประเทศซึ่งมีรถให้บริการมากกว่า 150 คัน และขนส่งน้ำมันปาล์มได้ปีละไม่ต่ำกว่า 800,000 ตัน นอกจากนี้ยังมีการขนส่งสินค้าแห้งและอื่นๆตลอดทั้งปี
4.บริษัท พี.ซี.มารีน (1992) จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีขนาดเรือ 2,000–2,500 ตัน ขนส่งได้ทั้งของแห้งและของเหลว รวม 15 ลำ โดยขนส่งสินค้าได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน 5. บริษัท พี.เค. มารีน เทรดดิ้ง จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ มีพื้นให้บริการกว่า 100,000 ตร.ม. และมีคลังน้ำมันที่สามารถรองรับปริมาณได้ถึง 240,000 ตัน โดยมีท่าเทียบเรือทั้งในสุราษฎร์ธานี และฉะเชิงเทรา (อ.บางปะกง) สำหรับรายได้ของ PCE ในช่วง 3 ปีย้อนหลัง (ปี 63-65) พบว่าปี 63 มีรายได้ 20,100 ล้านบาท, ปี 64 มีรายได้ 28,178 ล้านบาท และปี 65 มีรายได้ 32,677 ล้านบาท
“ตั้งเป้าปี 67 ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น 5-10% รับความต้องการใช้น้ำมันปาล์มพุ่ง จากปี 66 ที่มีปริมาณการผลิตกว่า 700,000 ตัน เนื่องจากอุปสงค์ของในการใช้น้ำมันปาล์มทั้งในและต่างประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผลผลิตปาล์มยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการของความต้องการใช้ของทั่วโลก จึงมั่นใจว่า อุตสาหกรรมปาล์มยังมีแนวโน้มสดใส และเรามีความพร้อมทุกด้านในฐานะผู้นำในธุรกิจน้ำมันปาล์มอย่างครบวงจร เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต” ประกิตทิ้งท้าย.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่