แม้ว่าเศรษฐกิจจะเปราะบาง ความไม่แน่นอนสูง กำลังซื้อซบเซา แต่คนไทยไม่หยุดสวย สะท้อนจากภาพรวมตลาดสินค้าความงาม และ Personal Care ในประเทศไทยที่มีมูลค่าสูงถึง 2.85 แสนล้านบาท มีการเติบโตอยู่ที่ 12% แต่หากเป็นสินค้าความงามเพียงอย่างเดียว มูลค่าจะอยู่ที่ 1.85 แสนล้านบาท
และเมื่อดูเฉพาะส่วนความงาม กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวเป็นตลาดใหญ่ที่สุด มีมูลค่า 1.13 แสนล้านบาท เติบโต 13% ตามมาด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมที่มูลค่า 3.9 หมื่นล้านบาท เติบโต 9% ขณะที่ผลิตภัณฑ์เมกอัพยังได้รับความนิยมต่อเนื่อง ด้วยมูลค่าตลาดที่ 2.27 หมื่นล้านบาท เติบโต 13% และกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำหอมมีมูลค่าสูงถึง 1.02 หมื่นล้านบาท เติบโต 10%
ส่วนปัจจัยหนุนมาจาก “คนไทย” อัดอั้นจากช่วงโควิด แต่ยังคงรักสวยรักงาม และเมื่อสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ ผู้คนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ชนชั้นกลางก็ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่าจะแตะประมาณ 50 ล้านคนในปี 2030 และคาดว่าสัดส่วนคนที่มีรายได้ปานกลางจะเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10 ล้านคน นั่นหมายความว่ากำลังซื้อจะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน บวกกับช่องทางจำหน่ายออนไลน์ที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น ผู้บริโภคมีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น ทำให้ตลาดความงามเติบโตอย่างที่เห็นนั่นเอง
สำหรับตลาดส่งออกสินค้าความงามไทยปี 2567 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ยังเคยได้มีการคาดการณ์ว่า จะมีมูลค่า 5,051 ล้านบาท โดยประเทศที่ส่งออกสินค้าความงามไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย
ดังนั้น “ลอรีอัล” ในฐานะผู้นำผลิตภัณฑ์ความงามอันดับ 1 ของโลก ต่างได้รับอานิสงส์จากเทรนด์ความงามที่พุ่งสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยผลประกอบการทั่วโลกในปี 2566 มีอัตราเติบโตสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 20 ปี อยู่ที่ 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยยอดขายมูลค่า 4.118 หมื่นล้านยูโร คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.61 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566) อีกทั้งยังเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักมากว่า 3 ปี นับตั้งแต่ช่วงโควิด ถือได้ว่ายังคงครองตำแหน่งบริษัทความงามอันดับ 1 ของโลกเสมอมา
ซึ่งลอรีอัล ประเทศไทย นับเป็นหนึ่งในตลาดหลักของภูมิภาค SAPMENA (เอเชียแปซิฟิกใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ) ที่ยังสามารถคงอัตราการเติบโตสองหลักเหนือตลาดได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ภูมิภาคบริษัทฯ เติบโตที่ 23.2% โดยสิ่งสำคัญคือ “นวัตกรรม” ที่ลอรีอัลถือเป็นอันดับ 1 ในตลาดอุตสาหกรรมความงามระดับโลก
แพทริค จีโร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย เมียนมา ลาว และกัมพูชา กล่าวว่า ปี 2566 เป็นอีกหนึ่งปีทองของตลาดความงามที่คึกคักและเต็มไปด้วยการแข่งขันสูง ซึ่งลอรีอัล กรุ๊ป ในประเทศไทยยังคงขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นผู้นำในตลาดความงามในหลากหลายเซกเมนต์ โดยสิ่งที่พยายามทำ สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทฯ มีอัตราการเติบโตทั่วโลก 4-5% ทุกปี
โดยบริษัทฯ มีแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอ 15 แบรนด์ ครอบคลุม เมียนมา ลาว และกัมพูชา บริษัทฯ จึงได้นำกลยุทธ์ One L'Oréal ที่มุ่งเน้นการพัฒนาองค์กรทั้งด้านบุคลากร ธุรกิจ และความยั่งยืน ให้ทุกกลุ่มธุรกิจทั้ง 4 โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ผลิตภัณฑ์เมกอัพ ให้ผ่านกระแสนิยมอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์
“แบรนด์ที่มียอดขายอันดับหนึ่งของลอรีอัล ประเทศไทย ได้แก่ การ์นิเย่, เมย์เบลลีน และลอรีอัล ปารีส ขณะที่เซกเมนต์ที่ผลักดันการเติบโตสูงสุดคือ ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ของโลกที่ผู้บริโภคใส่ใจและเลือกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งผลิตภัณฑ์ที่เติบโตสูงสุด คือกลุ่ม Make Up เนื่องจากคนเก็บกดจากช่วงโควิดมา ส่วนช่องทางการขายที่เติบโตสูงสุดจะเป็นหน้าร้าน รองลงมาคือ อีคอมเมิร์ซ ทั้งนี้ ภายใน 1.5 ปี จะเห็นแบรนด์ใหม่ๆ ในพอร์ตประเทศไทยเพิ่มขึ้น ส่วนในปี 2567 คาดว่าจะเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักเช่นกัน” แพทริค กล่าว
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney