ปตท.เปิดแผนกลยุทธ์ "ยุคเปลี่ยนผ่าน" เพิ่มสัดส่วน "พลังงานรักษ์โลก"

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ปตท.เปิดแผนกลยุทธ์ "ยุคเปลี่ยนผ่าน" เพิ่มสัดส่วน "พลังงานรักษ์โลก"

Date Time: 1 เม.ย. 2567 06:30 น.

Summary

  • ในทศวรรษที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ “โลก” ได้ตระหนักรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศที่แปรปรวนมากที่สุด ทั้งจากสภาวะเรือนกระจก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างสุดขั้ว

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

ในทศวรรษที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ “โลก” ได้ตระหนักรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศที่แปรปรวนมากที่สุด ทั้งจากสภาวะเรือนกระจก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างสุดขั้ว ประชากรทั่วโลกต่างได้เผชิญหน้ากับความร้อน ความหนาวเย็น และความรุนแรงของภัยธรรมชาติอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้น

ส่งผลให้ประเทศชั้นนำของโลกพากันออกกฎกติกา มาตรการกีดกันทางการค้า เพื่อกดดันให้เกิด “จุดเปลี่ยน” เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดมาทดแทนพลังงานฟอสซิลที่นอกจากสร้างมลพิษ ราคายังแพง และหายากขึ้นเรื่อยๆ

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์

เมื่อโลกต้องการพลังงานสะอาด และกระบวนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเป็น “ต้นน้ำ” ของอุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต่อยอดสินค้าบริการสีเขียวเพื่อส่งออกไปขายต่างประเทศ

ช่วงที่ผ่านมา บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทพลังงานชั้นนำของประเทศ และมีหน้าที่หลักในการดูแล “ความมั่นคงทางพลังงาน” ภายใต้การนำของ “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ จึงได้เตรียมพร้อมองค์กรเพื่อเข้าสู่ “การเปลี่ยนผ่าน” ครั้งยิ่งใหญ่

โดยมุ่งมั่นเดินหน้าตามวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” ที่ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2563 เพื่อไปสู่ “ธุรกิจพลังงานสะอาด หรือธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) ได้แก่ พลังงานหมุนเวียนระบบกักเก็บพลังงาน ห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงไฮโดรเจน และยังแตกไลน์ธุรกิจที่ไปไกลกว่าพลังงาน (Beyond) ได้แก่ ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life science) ยา อาหารเพื่อสุขภาพ อุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์ ธุรกิจสนับสนุนการเคลื่อนที่และวิถีชีวิต (Mobility & Lifestyle) ธุรกิจค้าปลีก Non-oil ธุรกิจ AI หุ่นยนต์ และดิจิทัล ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน และเคมีภัณฑ์มูลค่าสูง

ครบ 3 ปีของวิสัยทัศน์ ปตท.มีความคืบหน้าทั้งการเพิ่มสัดส่วนพลังงานอนาคต และธุรกิจที่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานใหม่ของโลก และได้ใช้โอกาสที่นำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงาน ที่ประเทศเยอรมนี วันที่ 21-27 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อดูความคืบหน้าเทคโนโลยีในหลายๆ ด้าน และการหาพันธมิตรในการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง เล่าถึงความสำเร็จในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งแผนการลงทุนในอนาคตข้างหน้า 5 ปี...ดังนี้

เร่งสปีดพลังงานสะอาด-ธุรกิจอนาคต

เริ่มจากความคืบหน้าของ ปตท.ยุคเปลี่ยนผ่าน ซึ่ง “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวอย่างภูมิใจว่า วิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond “ช่วยทำให้ ปตท.สร้างความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถในการเติบโตของธุรกิจได้ดี ขณะเดียวกัน ผลประกอบการของธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด พลังงานอนาคต และธุรกิจอนาคต ซึ่งอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม New S-curve หรืออุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีขั้นสูง ยังสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว”

นอกจากนั้น หากมองตามพันธกิจที่ต้องดูแลความมั่นคงระบบพลังงานของประเทศไทยแล้ว ถือว่า “เราทำได้ดี” เพราะช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าราคาน้ำมันโลกจะปรับตัวสูงขึ้น แต่เราไม่เคยขาดแคลนพลังงาน ไม่เคยขาดน้ำมัน ไม่เคยขาดก๊าซ ในช่วงที่พลังงานทั่วโลกขาดแคลน หลายประเทศต้องแย่งกันซื้อน้ำมัน แต่ ปตท.สามารถจัดหามาได้ จากความสัมพันธ์ที่ดี และบริหารจัดการในเวลาต่างๆ อย่างเหมาะสม

ขณะที่กลยุทธ์ในระยะต่อไปนั้น ปตท.ยังสานต่อวิสัยทัศน์นี้อย่างต่อเนื่อง โดยจะเป็นการทำควบคู่กันไป ทั้งธุรกิจดั้งเดิม และธุรกิจอนาคต โดยตั้งเป้าหมายใน 3 ด้าน คือ ด้านที่ 1.Business Growth ซึ่งเป็นการปรับพอร์ตการลงทุนธุรกิจพลังงาน โดยมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ โดยในส่วนของโรงกลั่น และธุรกิจเดิม จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น การลดต้นทุนต่อหน่วยลง โดยตั้งเป้าการผลิตให้มีการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 9 ล้านตันต่อปี ธุรกิจไฟฟ้า (Conventional Power) ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้า 5 จิกะวัตต์ และธุรกิจพลังงานหมุนเวียน 15 จิกะวัตต์

“ในอนาคตแม้รู้ว่า การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล จะถึงจุดสูงสุดในปี 2573 และค่อยๆลดลง แต่อยากให้โรงกลั่นน้ำมันของ ปตท.เป็นโรงสุดท้ายที่ต้องปิดตัวลง”

ต่อที่ด้านที่ 2 New Growth การลงทุนและเพิ่มสัดส่วนกำไรธุรกิจพลังงานสะอาด หรือธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) รวมถึงธุรกิจที่สนับสนุนการขับเคลื่อนชีวิตของผู้คนนอกเหนือธุรกิจพลังงาน (Beyond) โดยตั้งเป้าหมายว่า ธุรกิจพลังงานใหม่และธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากพลังงานต้องสร้างกำไรในปี 2573 ในสัดส่วนมากกว่า 30%

“ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เรามีความคืบหน้าของแต่ละบริษัท บางบริษัทก็สามารถทำกำไรได้แล้ว ยกตัวอย่าง ความคืบหน้า ในส่วนของพลังงานทดแทน ปตท.ได้ไปลงทุนและร่วมทุนในไต้หวันและอินเดีย รับสัมปทานการผลิตกรีน ไฮโดรเจนในตะวันออกกลาง พัฒนาสถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเพื่อรองรับรถขนส่งขนาดใหญ่ ในส่วนของ EV เราก็ลงทุนทั้งวงจร ตั้งแต่แบตเตอรี่ รถยนต์ สถานีชาร์จไฟ ขณะที่ธุรกิจยา อาหารเพื่อสุขภาพไปได้ดีมาก รวมทั้ง การตั้งโรงงาน แพลนท์ แอนด์ บีน (ประเทศไทย) ผลิตอาหารแพลนท์เบสในไทย ยังมีการตั้งบริษัท โกลบอล มัลติโมดัล โลจิสติกส์ จำกัด รองรับการขนส่งทางราง และยังมีความคืบหน้าในธุรกิจ AI หุ่นยนต์และดิจิทัล เป็นต้น”

Clean Growth วิสัยทัศน์ ปตท.2030

ต่อมาเป็นอีกด้านที่สำคัญต่อการเติบโตของ ปตท. ด้านที่ 3 “พลังงาน สะอาด มากับการเติบโตที่สะอาด ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม” หรือ Clean Growth โดย ปตท.ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ภายในเวลา 10 ปี หรือภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) ผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ.2040 (พ.ศ.2583) และสุดท้ายไปสู่ Net Zero Emissions ภายในปี ค.ศ.2050 (พ.ศ.2593)

โดยใช้ “แนวทางการดำเนินงาน 3P” คือ 1.เร่งปรับกระบวนการผลิต : Pursuit of Lower Emissions เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด ทั้งการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการนำไปใช้ประโยชน์ต่อเนื่อง การใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานไฮโดรเจนมากขึ้น และการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยคาร์บอนเครดิต โดยคาดว่าวิธีดังกล่าวจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ประมาณ 30%

2.Portfolio Transformation เพิ่มสัดส่วน Green portfolio และบริหารจัดการ Hydrocarbon portfolio โดยคาดว่าวิธีดังกล่าว จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 50% ขณะที่การปรับเปลี่ยนการส่งก๊าซให้ลูกค้าในอนาคตจากก๊าซธรรมชาติเป็น LNG ทำให้โรงแยกก๊าซไม่ต้องดำเนินการแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดของ ปตท. และ 3.Partnership with Nature and Society เพิ่มปริมาณการดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติ โดยคาดว่าวิธีดังกล่าวจะสามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ประมาณ 20% โดยมีเป้าหมายปลูกป่าเพิ่มอีกจำนวน 2 ล้านไร่

พร้อมส่งไม้ต่อ “กลยุทธ์-ลงทุน 5 ปี”

สำหรับผลการดำเนินงานของ ปตท.และบริษัทย่อย ปี 2566 ที่ผ่านมา มีรายได้รวม 3,144,551 ล้านบาท กำไรสุทธิ 112,024 ล้านบาท หรือเพียง 3.6% ของยอดขาย

“แม้ดูว่าตัวเลขกำไรในปี 2566 จะสูง แต่หากเทียบกับรายได้รวมแล้ว ยังต่ำ เมื่อเทียบมาตรฐานตลาดหุ้น ซึ่งค่าเฉลี่ยกำไรต่อรายได้รวมควรจะอยู่ที่ประมาณ 10% นอกจากนั้น ยังพบว่า กลุ่มธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ซึ่งมีสัดส่วน 7% ของเครือ ปตท.มีรายได้ 769,223 ล้านบาท และมีกำไร 11,094 ล้านบาท หรือมีแค่เพียง 1.4% เท่านั้น ซึ่งสัดส่วนกำไรต่อรายได้ที่ต่ำนี้เป็นความมุ่งมั่นของ ปตท.ที่จะดูแลความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ โดยไม่แสวงหากำไรเกินควร”

ขณะที่ก้าวต่อไปในการลงทุน เพื่อรองรับการดำเนินงานตามแผนฯ ประจำปี 2567-2571 ปตท.และบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% เราได้เตรียมเงินลงทุนทั้งสิ้น 89,203 ล้านบาท และมีเงินสำรองสำหรับการลงทุนที่เป็นไปได้ในอนาคตอีก 107,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในปี 2567 จะใช้เงินลงทุน 20,000-30,000 ล้านบาท

ลงทุนในโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 ทดแทนโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 1 ที่ใช้มากว่า 30 ปี โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 8 โครงการท่อส่งก๊าซบางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โครงการท่อส่งก๊าซบนบกเส้นที่ 5 โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โรงงานประกอบแบตเตอรี่ ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3

ท้ายที่สุด เมื่อถึงเวลาที่ต้องส่งไม้ต่อ “พี่โด่ง อรรถพล” ของคน ปตท.ระบุว่า ไม่มีอะไรที่หนักใจ “ปตท.มีการเปลี่ยนผู้นำมาตลอด คนใหม่นี้เป็นคนที่อยู่ในกลุ่มบริษัท ปตท.อยู่แล้ว ถือว่าสบายใจได้ เพราะคนใหม่น่าจะรู้ PTT WAY อยู่แล้ว เชื่อว่าการเดินตาม PTT WAY มันจะประสบความสำเร็จ การรับไม้ต่อจะทำให้มันเจริญก้าวหน้าไปด้วยอยู่แล้ว เหมือนกับที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นมาโดยตลอด”

เดินหน้ารถ EV ดูงานพลังงานไฮโดรเจน

จากภาพรวมกลุ่ม ปตท.มาต่อที่เป้าหมายของการเดินทางไปดูงานที่ประเทศเยอรมนีในครั้งนี้

โดยทางคณะของ ปตท.ได้เดินทางไปดูงานที่ H2 filling station connects Cologne and Aachen สถานีเติมก๊าซไฮโดรเจนในรถยนต์ที่มีการใช้งานจริง เพื่อเป็นแนวทางของสถานีต้นแบบการเติมไฮโดรเจน ซึ่ง ปตท.ผนึกกำลังกับพันธมิตร “OR-BIG-TOYOYA” ณ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยในเยอรมนี รถยนต์ที่เติมไฮโดรเจนจะเป็นรถขนส่งขนาดใหญ่ รถบรรทุก รวมทั้งยังใช้ในรถไฟขนส่งอีกด้วย ซึ่งถือเป็นเป้าหมายเดียวกับรถที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน ซึ่งประเทศไทยศึกษาอยู่เช่นกัน นอกเหนือจากการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ได้ลงทุนเพิ่มเติมไปแล้ว

บุรณิน รัตนสมบัติ
บุรณิน รัตนสมบัติ

บุรณิน รัตนสมบัติ” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เล่าถึงความคืบหน้าว่า ไตรมาสแรกของปีนี้ ปตท.ได้ลงทุนโครงการโรงงานประกอบรถยนต์ EV ของบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด ของ ปตท.กับบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (ฟ็อกซ์คอนน์) โดยได้เริ่มก่อสร้างแล้ว คาดจะเสร็จ ปี 2568 โดยเป็นการลงทุนครบวงจรเพื่อสร้างอุปกรณ์การผลิตรถยนต์ และประกอบรถ EV ที่จะมีกำลังการผลิต 50,000 คันต่อปี และทยอยเพิ่มเป็น 150,000 คันต่อปี

“แม้เราจะมองว่าความต้องการของตลาดรถ EV ในอาเซียนเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่จำเป็นต้องเร่ง ตอนนี้เราจะเห็นว่าค่ายรถจีนเข้ามาในตลาดไทยมาก แข่งขันด้านราคาแบบฝุ่นตลบ มีรุ่นมาให้เลือกมากมาย เป็นช่วง “เรดโอเชียน” เราก็ต้องรอให้มันสงบลงก่อน ซึ่งเชื่อว่าตอนนั้นโรงงานเราก็สร้างเสร็จพอดี ที่ชัดเจนคือ เราคงไม่คิดลงแข่งในสนามราคา แต่ต้องดูคุณภาพ รวมทั้งไปที่ตลาดอุปกรณ์ต่าง เพราะมีการลงทุนที่ครบวงจร ตั้งแต่แบตเตอรี่ ไปจนถึงสถานีชาร์จไฟ”

ขณะที่ในส่วนของอินโนบิก “เราเดินหน้าจากทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาทสู่ 13,500 ล้านบาท และเริ่มทำกำไรได้แล้วในปีที่ผ่านมา โดยแบ่งการทำธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ธุรกิจยา (Pharmaceutical) โดยเน้นการผลิตยา “ชีววัตถุ” ที่มีนวัตกรรม ซึ่งการมาเยอรมนีในครั้งนี้ เราให้ความสนใจกับการศึกษาดูงานเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการวิจัย และผลิตยาจากชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilars) ซึ่งมีลักษณะเป็น “ยามุ่งเป้า” ที่ส่งผลโดยตรงต่อเซลล์ที่เป็นโรคร้ายแรง”

ส่วนยาสามัญ จะเน้นในยาที่เพิ่งหมดสิทธิบัตร หรือมีการปรับเปลี่ยนวิธีบริโภคให้มีความสะดวกขึ้น โดยบริษัทจะเน้นรักษาโรคที่ไม่ติดต่อ ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร การผิดปกติของระบบประสาท เป็นต้น ขณะที่กลุ่มที่ 2 เป็นธุรกิจเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Medical Technology) และกลุ่มที่ 3 ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ (Nutrition) ผลิตอาหารที่มีคุณสมบัติเป็นยา (Food for future) อาหารสำหรับคนไทยบริโภคเพื่อสุขภาพ

แปลงคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ประโยชน์

ขณะที่อีกโครงการสำคัญที่ ปตท.สนใจศึกษาดูงาน คือ เทคโนโลยีการดึงคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาใช้ใหม่ ผ่านกระบวนการผสมกับไฮโดรเจนที่ได้จากการแยกโมเลกุลของน้ำสังเคราะห์เป็น Methanol (เมทานอล) ซึ่งเป็นสารละลายที่สามารถนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมเคมี ก่อสร้าง การผลิตพลาสติก เฟอร์นิเจอร์ และน้ำมันไบโอดีเซล

โดยขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการหน่วยผลิตเมทานอลจากการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ (CO2-based Methanol) กับ บริษัท Thyssenkrupp (ธิสเซ่นครุปป์) ประเทศเยอรมนี โดยมองกำลังการผลิตไว้ที่ 100,000 ตันต่อปี ในระยะแรก แต่สามารถเพิ่มสูงเป็น 2 ล้านตันต่อปีในระยะต่อไป แต่ทั้งนี้ หากต้องลงทุนโรงงานแบบครบวงจร ทั้งตัวอิเล็กโทรไลเซอร์ เพื่อผลิตกรีนไฮโดรเจน และผลิตต่อเป็นกรีนเมทานอล เพื่อต่อยอดเป็นสารตั้งต้นอื่นๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปตท.อาจต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 80 ล้านยูโร

“ทาง ปตท.มองว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีโครงการเหล่านี้ เพราะจะช่วยลดคาร์บอนในอากาศได้ดี ขณะที่ในปัจจุบันยังไม่มีการลงทุนเมทานอล ยังต้องนำเข้าจากตะวันออกกลางเป็นส่วนใหญ่ประมาณ 700,000 ตันต่อปี มูลค่า 10,000 ล้านบาท แต่จะเป็นการลงทุนขนาดทดลองก่อน หรือลงทุนมากน้อยแค่ไหน ตอนนี้เราศึกษาความเป็นไปได้อยู่ โดยคาดว่าจะจบได้ในปีนี้ ซึ่งจะต้องดูความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจด้วย แต่ข้อดีคือ สามารถนำคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาใช้ไม่ต่ำกว่า 98% และสามารถตั้งโรงงานใกล้โรงแยกก๊าซของเราในภาคตะวันออกเพื่อรับคาร์บอนไดออกไซด์” บุรนินกล่าว

@@@@@@@

ทั้งหมดนี้ หาก ปตท.สามารถสานต่อจาก “วิสัยทัศน์” สู่กลยุทธ์การลงทุนการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย ประเทศไทยน่าจะได้เห็นการพัฒนา “พลังงานสีเขียว” เพื่อความยั่งยืน เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านสุขภาพ และการใช้ชีวิต ช่วยดูแลคุณภาพชีวิตคนไทยในอนาคต.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ