ย้อนอดีตกว่า 75 ปี 29 มีนาคม "โค้ก" วางขายครั้งแรกใน "ไทย"

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ย้อนอดีตกว่า 75 ปี 29 มีนาคม "โค้ก" วางขายครั้งแรกใน "ไทย"

Date Time: 29 มี.ค. 2567 13:27 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • รู้หรือไม่ว่า? "โคคา-โคล่า" เครื่องดื่มน้ำดำ ที่ทุกคนล้วนรู้จักกันมาอย่างยาวนานในชื่อ "โค้ก" อยู่คู่คนทั่วโลกมากว่า 138 ปี แต่มีใครรู้ไหม? ว่าโค้กเข้ามาในไทยได้อย่างไร และวางจำหน่ายเมื่อไร ผ่านมาแล้วกี่ปี #Thairath Money จะพาไปย้อนอดีตถึงเรื่องราวของ "โค้ก" ในไทยกัน

Latest


หากพูดถึงเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่มอบความสุขสดชื่นในทุกช่วงเวลาให้กับผู้คนทั่วโลก ก็คงหนีไม่พ้น "โคคา-โคล่า" เครื่องดื่มน้ำดำ ที่ทุกคนล้วนรู้จักกันมาอย่างยาวนานในชื่อ "โค้ก" อยู่คู่คนทั่วโลกมากว่า 138 ปี โดยถือกำเนิดขึ้นในปี 2429 ที่ถูกคิดสูตรขึ้นโดยเภสัชกรชื่อ John Pemberton เพื่อเป็นเป็นยารักษาอาการเจ็บปวด จนกระทั่งกลายมาเป็นเครื่องดื่มที่เริ่มจำหน่ายในร้านขายยาท้องถิ่นในเมืองแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา

ถึงกระทั่งวันนี้ "โค้ก" ได้ขึ้นแท่นเครื่องดื่มยอดนิยมอันดับ 1 จากการจำหน่ายเพียงไม่กี่แก้ว โดยที่ส่วนผสมของโค้กถือเป็นความลับของบริษัทมีพนักงานในบริษัทโคคา-โคล่าเพียงไม่กี่คนที่รู้ และได้มีส่วนร่วมในขั้นตอนการผสม โดยทางบริษัทใช้ชื่อส่วนผสมว่า "7X" ที่ไม่ได้มีการกล่าวถึงว่า X หมายถึงอะไร และพนักงานบริษัทจะทำการผสมสูตรต่างๆ ตามหมายเลขของส่วนผสม แทนชื่อของส่วนผสมเพื่อป้องกันสูตรรั่วไหล

จนกระทั่ง "โค้ก" ได้เคลื่อนทัพมายังประเทศไทย ผ่านการวางจำหน่ายครั้งแรก เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2492 ในปริมาณบรรจุขวดละ 6.5 ออนซ์ จำหน่ายราคา 1.50 บาท โดย รักษ์ ปันยารชุน นักธุรกิจชาวไทยที่ร่วมกับหุ้นส่วนชาวต่างชาติ คือ Bill Davis และ Ray Derrick โดยดำเนินการขออนุมัติลิขสิทธิ์ขวด เป็นผู้จัดจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2491 เป็นต้นมา

โดยได้มีการเปิดโรงงานบรรจุขวด "Rak Derrick & Davis Bottling" เพื่อผลิตและจำหน่ายอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 เมษายน 2492 และต่อมาได้ขายลิขสิทธิ์ดังกล่าวให้กับบริษัทผลิตเครื่องดื่ม ไทยเพียว จำกัด 

แต่ต่อมาก็ได้ขายสิทธิ์ดังกล่าวให้แก่ 2 กลุ่มบริษัท ซึ่งเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่าสำหรับประเทศไทย ปัจจุบันผู้ที่ได้รับลิขสิทธิ์การผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในเครือโคคา-โคล่า จากเดอะ โคคา-โคล่า คัมปะนี (ประเทศสหรัฐอเมริกา) มีอยู่ 2 เจ้าใหญ่ คือ "บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด" และ "บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) หรือ HTC" ซึ่งมีการแบ่งพื้นที่ดูแลกันอย่างชัดเจน 

โดย "ไทยน้ำทิพย์" ได้รับสิทธิ์เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์รายแรกของไทย ซึ่งดูแลในพื้นที่ 63 จังหวัด ครอบคลุม กรุงเทพฯ ภาคเหนือ อีสาน ตะวันออก และตะวันตก 

ขณะที่ "หาดทิพย์" เป็นรายที่สอง โดยถือเป็นยักษ์ใหญ่ในโซนภาคใต้ 14 จังหวัดทั้งหมด ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่ม ประเภทน้ำอัดลม (Sparkling Beverages) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ โคคา-โคล่า แฟนต้า สไปรท์ และชเวปส์ และประเภทผลิตภัณฑ์ไม่อัดลม non-carbonated (Still Beverages) โดยที่บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) เจ้าของแบรนด์จะทำหน้าที่รับผิดชอบกิจกรรมการตลาด 

ส่วนสาระสำคัญที่น่าสนใจอื่นๆ คือ โคคา-โคล่า จัดจ้างผลิตภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ในประเทศไทย เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2521 โดยโค้กมีวิวัฒนาการที่หลากหลายของบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นขวดแก้วแบบใส แบบขุ่น พลาสติก อะลูมิเนียม จนกระทั่งเป็น ขวดที่รีไซเคิลได้ 100% 

ขณะที่มูลค่าตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลมกลับมาโตสูงสุดในรอบหลายปี โดยในปี 2566 อยู่ที่ 62,000 ล้านบาท เติบโต 16% จากปี 2565 ที่เติบโตเพียง 1.8% 

และเมื่อกลับมามองผู้เล่นหลักในตลาดน้ำอัดลม โค้กถือเป็นเบอร์ 1 มีสัดส่วนทางการตลาดอยู่ที่ 54% ส่วนเบอร์ 2 คือ เป๊ปซี่ โดยมีสัดส่วนทางการตลาดอยู่ที่ 30% และเอส โคล่า ถือเป็นเบอร์ 3 ขณะที่การบริโภคทั้งหมดต่อปีอยู่ที่ 2.1 พันล้านลิตร เฉลี่ย 37.5 ลิตรต่อคนต่อปี ซึ่งถือได้ว่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย 

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing

 
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์