CIMBT ลุยรุกสินเชื่อรายย่อย ตั้งเป้าสินเชื่อรวมโต 5% เร่งคุมหนี้ NPL

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

CIMBT ลุยรุกสินเชื่อรายย่อย ตั้งเป้าสินเชื่อรวมโต 5% เร่งคุมหนี้ NPL

Date Time: 18 มี.ค. 2567 05:22 น.

Summary

  • CIMBT ตั้งเป้าสินเชื่อปี 67 โต 5% เดินหน้ารุกสินเชื่อรายย่อยผ่านสินเชื่อรถยนต์ เปิดตัว “One Auto Platform” บริการสินเชื่อยานยนต์ ทั้งรถยนตและจักรยานยนต์ ขณะที่ผลักดันสินเชื่อรายใหญ่ผ่านเครือข่ายอาเซียน พร้อมลดสินเชื่อ SME ให้เหลือต่ำกว่า 1% เร่งคุม NPL ให้อยู่ในกรอบ 3.3-3.5%ของสินเชื่อรวม

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย หรือ CIMBT เปิดเผยว่า ปี 67 ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อโต 5% จากปี 66 ที่มียอดสินเชื่อคงค้าง 244,990 ล้านบาท โดยเน้นผลักดันสินเชื่อรายย่อยเติบโต 5-10% มาจากการขยายสินเชื่อรถยนต์ คิดเป็นสัดส่วน 30% ของสินเชื่อรายย่อยรวมอยู่ที่ 165,000 ล้านบาท ล่าสุดได้เปิดตัว “One Auto Platform” บริการสินเชื่อยานยนต์ครอบคลุมทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ ผ่านบริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ จำกัด โดยจะยกระดับความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจผ่านบริการใหม่ ได้แก่ สินเชื่อจำนำทะเบียน ทั้งแบบโอนเล่มและไม่ต้องโอนเล่ม

ส่วนการเติบโตของสินเชื่อรายใหญ่ จะอาศัยเครือข่ายความแข็งแกร่งในฐานะกลุ่มการเงินชั้นนำระดับภูมิภาคของ CIMB Group เข้ามาช่วยเพิ่มความสามารถ โดยโฟกัสตลาดในอาเซียน (ASEAN) เป็นหลัก ซึ่งปี 67 ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อในอาเซียนเติบโต 10% เพื่อให้บริการลูกค้าที่ต้องการให้ธนาคารสนับสนุนการขยายธุรกิจในมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และกัมพูชา ขนานไปกับการดูแลธุรกรรมทางการเงินให้ลูกค้าองค์กรและสถาบันการเงินในประเทศผ่านสินเชื่อบริการธุรกรรมจัดการเงิน บัญชีธุรกิจ และบริการชำระเงิน

ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีจะทยอยลดสัดส่วนลงจากปี 66 อยู่ที่ 2.5% ของพอร์ตสินเชื่อรวม คาดว่าภายใน 3-4 ปี จะลดลงเหลือต่ำกว่า 1% เนื่องจากธนาคารจะเน้นขยายลูกค้าธุรกิจในอาเซียน และลูกค้ารายย่อยผ่านช่องทางดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนและยกระดับการให้บริการในโลกยุคใหม่ ผ่านแอปพลิเคชัน CIMB THAI Digital Banking ที่ส่งผลให้ธุรกรรมเติบโตอย่างรวดเร็ว และสามารถขยายฐานบัญชีดิจิทัลเพิ่มเป็น 400,000 ราย ปริมาณธุรกรรมบนแอปมากถึง 90% และธุรกรรมจองซื้อหุ้นกู้และพันธบัตรทั้งตลาดแรกและตลาดรองเพิ่มขึ้นเกิน 66,000 ล้านบาท ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ตั้งเป้าคุมให้อยู่ในกรอบ 3.3-3.5% จากปี 66 ที่อยู่ 3.3% และไม่มีแผนขาย NPL ออก เนื่องจากยังบริหารจัดการได้เอง ส่วนการตั้งสำรองจะใกล้เคียงปี 66 อยู่ที่ 3,110 ล้านบาท หลังตั้งสำรองในระดับสูงไปแล้ว

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้ารักษาความเป็นผู้นำตลาดและที่หนึ่งในใจลูกค้า Wealth Management หรือการบริหารจัดการความมั่งคั่งให้ลูกค้า ท่ามกลางตลาดที่มีความท้าทาย จึงให้ความสำคัญกับการแนะนำลูกค้าในการเลือกลงทุนให้ถูกจังหวะ ผ่านการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้า ทั้งหุ้นกู้ในตลาดแรก หุ้นกู้ในตลาดรอง หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง เงินฝากดอกเบี้ยสูง เงินฝากสกุลต่างประเทศ (FCD) กองทุนประกัน บริการ Wealth Credit Line (วงเงินพิเศษเพื่อมอบสภาพ คล่องให้ลูกค้าที่มีเงินลงทุนกับธนาคาร) และพร้อมนำลูกค้าออกไปลงทุนต่างประเทศผ่าน Offshore fund โดยเฉพาะ Alternative Investment มีความน่าสนใจที่ไม่อ้างอิงต่อปัจจัยหลักอย่างดอกเบี้ย หรือค่าเงิน แต่อยู่บนสินทรัพย์ที่ไปลงทุน โดยปีนี้ธนาคารตั้งเป้าขยายธุรกิจและฐานสมาชิก CIMB Preferred (ลูกค้าที่มีเงินฝากหรือเงินลงทุน 3 ล้านบาทขึ้นไป) ให้เติบโตอีก 12% จากปัจจุบันมีลูกค้า 100,000 ราย.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ