อยู่สองคนสบายกว่า! รู้จักผู้บริโภคกลุ่ม DINK คู่รักยุคใหม่ เก็บเงินเก่ง ไม่สนมีลูก ลงทุนจนรวย

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

อยู่สองคนสบายกว่า! รู้จักผู้บริโภคกลุ่ม DINK คู่รักยุคใหม่ เก็บเงินเก่ง ไม่สนมีลูก ลงทุนจนรวย

Date Time: 11 มี.ค. 2567 15:24 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • ช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาจำนวนเด็กเกิดใหม่ในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่มีลูก บ้างก็รอให้มีความพร้อมทางการเงินก่อน บ้างก็เป็นการตกลงกันแต่แรกที่จะไม่มีลูก มุ่งหน้าทำแต่งาน ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีโอกาสที่จะมีเงินออมหรือเงินเก็บมากกว่า จากรายรับที่มี 2 ทาง ใช้เงินซื้อความสุข ลงทุนจนรวย!

Latest


คิดอีกที คิดอีกที คิดอีกที๊! ประโยคจากบรรดาพ่อ แม่ที่มีลูกน้อย ที่ต้องการจะบอกอะไรกับคนที่ยังไม่มีลูก หรือวางแผนจะมี นั่นก็เพราะว่า การมีลูก 1 คนนำมาซึ่งความรับผิดชอบหลายประการ ตั้งแต่ ค่าใช้จ่ายช่วงตั้งครรภ์-คลอด ค่าใช้จ่ายช่วงแรกเกิด ค่านม แพมเพิร์ส พอโตขึ้นมาหน่อยก็จะมีค่าเทอม ค่าเรียนพิเศษ ค่ากิจกรรมโน่นนั่นนี่ และค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้การมี “ลูก” กลายเป็นหัวข้อที่คนรุ่นใหม่มองว่า “มีก็ดี ไม่มีก็ได้” 

เด็กเกิดใหม่น้อยลง เพราะ 'คน' ไม่อยากมีลูก

ทั้งนี้จากผลสำรวจนิด้าโพลที่ผ่านมาของกลุ่มตัวอย่าง 759 คน ในเรื่อง “มีลูกกันเถอะน่า” พบว่า มีสัดส่วนมากถึง 44% ที่ระบุไม่อยากมีลูก โดยเหตุผลอันดับ 1 (38.32%) บอกเพราะไม่อยากมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกเพิ่มเข้ามา

และด้วยเหตุนี้การลดลงของเด็กเกิดใหม่ในไทยจึงเข้าข่ายอยู่ในขั้นวิกฤติ ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า จากเดิมมีเด็กเกิดใหม่ไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน แต่ในช่วงปี 2506 - 2526 ลดลงเหลือ 485,085 คน และนับตั้งแต่ ปี 2564-2566 อัตราการเกิดของเด็กไทยลดลงเกินครึ่ง เหลือเฉลี่ยแค่ปีละ 500,000 คน

รวมทั้งใน 60 ปีข้างหน้าจำนวนประชากรไทยจะลดลงจาก 66 ล้านคน เหลือเพียง 33 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่าการที่ “คู่รัก” จะมีลูกน้อยสักคนอาจเป็นเรื่องใหญ่ ก็ทำให้เราต้องใช้เงินเป็นจำนวนที่มากอาจจะอยู่ที่หลักล้านบาทต่อคนเลยทีเดียว

รู้จักเทรนด์ DINK ทำงานเก่ง ชอบเปย์คู่รัก ไม่สนใจมีทายาท 

จึงสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่เรียกว่า DINK มาจากคำว่า Double Income No Kid คู่รักที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันโดยไม่มีลูก ซึ่งเป็นค่านิยมของสามี-ภรรยารุ่นใหม่ที่ยังไม่อยากมีลูก บ้างก็รอให้มีความพร้อมทางการเงินก่อน บ้างก็เป็นการตกลงกันแต่แรกที่จะไม่มีลูก มุ่งหน้าทำแต่งาน ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีโอกาสที่จะมีเงินออมหรือเงินเก็บมากกว่า จากรายรับที่มี 2 ทาง ค่าใช้จ่ายที่ถูกหารครึ่ง พวกเขาจึงมีโอกาสออมเงินได้มากกว่ากลุ่มคนที่มีลูกหรือครอบครัวที่ทำงานเพียงคนเดียว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้จ่ายของคู่รักแต่ละคู่ด้วยนะ

ทั้งนี้กลุ่ม DINK ยังรวมถึงคู่รักเพศทางเลือกที่ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเปิดเผยมากขึ้น และมีแนวโน้มที่ดีในด้านกฎหมายซึ่งจะผูกพันกันในมิติเศรษฐศาสตร์อย่างแยกจากกันไม่ได้ เมื่อพวกเขามีรายได้คูณสองและไม่ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลบุตรหลาน คนกลุ่มนี้มักสร้างประสบการณ์ชีวิตให้ตัวเอง เช่น การท่องเที่ยว การซื้ออสังหาริมทรัพย์ราคาสูง ลงทุนในหุ้น พันธบัตร หุ้นกู้ ฯลฯ เพื่อเสริมความมั่นคง และให้ใช้ชีวิตได้อย่างสบายในยามเกษียณ

ขณะที่จุดสังเกตง่ายๆ โดยส่วนใหญ่ทุกคู่ที่เป็น DINK “จะมุ่งมั่นไปที่เรื่องการทำงาน ขยันทำแบบสุดตัว” ดังนั้นสำหรับมุมมองนายจ้างแล้วก็มีโอกาสที่จะจ้างกลุ่มเทรนด์นี้มากขึ้นเช่นกัน เพราะพวกเขาไม่จำเป็นที่จะต้องให้เวลากับลูก นำเวลาส่วนนั้นมาทุ่มเทกับงานได้อย่างเต็มที่ จึงอาจเป็นส่วนหนึ่งที่คู่ของเราสามารถสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น

อีกทั้งกลุ่มคู่รักเหล่านี้เน้นไปทางความสุขของชีวิตคู่มากขึ้น เช่น ท่องเที่ยวต่างประเทศบ่อยๆ ซื้อสินค้าตามใจชอบ หรืออื่นๆ เรียกได้ว่าเปย์เพื่อความสุขของตัวเองและคนรักเป็นส่วนใหญ่

หาเงินเหนื่อย ขอใช้ซื้อความสุขให้ตัวเอง และคนรัก

ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า “รีบมีลูกให้ทันใช้” “ยามแก่เฒ่าจะได้มีลูกหลานไว้คอยเลี้ยงดู” “ลูกเป็นเสมือนโซ่ทองคล้องใจ” “รีบแต่งงานแล้วมีหลานให้อุ้ม” เห็นจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะผู้บริโภคกลุ่ม DINK หลายคนมักมองว่า เก็บเงินได้เยอะมาก เกษียณแล้ว ใช้เงินจากดอกเบี้ย กับงานเสริม อยากเที่ยวต่างประเทศ หรือที่ไหน ไปได้เลย ไม่มีห่วง พอแก่ตัวไปก็เตรียมไปอยู่บ้านพักคนชรา เพื่อนเยอะน่าสนุก และ

หากมีเพื่อแนวคิดที่ว่าจะได้มีคนเลี้ยงตอนแก่ หลายคนมองว่า สิ่งนั้นคือความเห็นแก่ตัว ที่เราจะโยนภาระไปให้ใครคนนึง จึงไม่แปลกที่กลุ่มนี้จะเลือกที่จะคู่ครองอยู่กันสองคน ไม่สนมีลูก ใช้เงินเปย์กันและกันขอแค่มีความมั่นคงทางการเงินที่ดี และรู้จักเก็บ รู้จักออม เพื่อไว้ใช้ในยามที่เกษียณและอยู่กันสองคน “ตายาย” ดังนั้นหากแบรนด์จับจุดถูก เสนอโปรดักต์ที่ตอบโจทย์คนไม่มีลูก แต่ชอบซัพพอร์ตคนรัก ก็จะทำให้คว้าใจ และดึงกำลังซื้อของคนกลุ่มนี้มาอยู่ที่แบรนด์ได้นั่นเอง

อ้างอิง GRID by PEAKrungsri

ติดตามข้อมูลข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์