ธุรกิจ “ธนาคารไทย” เปรียบเหมือนเส้นเลือดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ ที่ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงการเติบโต และการหมุนเวียนของภาคธุรกิจและเอกชนไทย ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าระบบผ่านการให้สินเชื่อ เพื่อสร้างโอกาสแห่งการเติบโต เนื่องจากความท้าทายของเศรษฐกิจไทยที่ยังขยายต่ำ โดยปี 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า GDP จะเติบโต 3.4% เท่านั้น (คิดรวมมาตรการเงินดิจิทัลวอลเล็ต) ซึ่งหากว่ากันตามตรงก็คือ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต
ทำให้ธนาคารผู้ที่เป็นเสาหลักของตลาดการเงินไทยต้องเสริมความแข็งแกร่ง โดยในปี 2567 นี้ ธนาคารกสิกรไทย ผู้นำด้านธนาคารและการเงินของไทย ได้มีการประกาศยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ถูกเรียกว่า “ยุทธศาสตร์ 3+1” ซึ่งจะเป็นการช่วยสร้างการเติบโตและความยั่งยืนให้กับธนาคาร และผู้ถือหุ้น พร้อมกับสามารถยกระดับการดูแลลูกค้า รวมถึงช่วยการขับเคลื่อนประเทศ ผ่านการเสริมสภาพคล่องในรูปแบบต่างๆ ได้อีกนัยหนึ่ง ซึ่งยุทธศาสตร์นี้จะไม่ใช่เพื่อการเติบโตและความยั่งยืนของธนาคารเพียงเท่านั้น แต่เป็นการสร้างความแข็งแรงให้กับ พันธมิตร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธนาคาร เพื่อนำไปสู่การเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกันนั่นเอง
กระนั้นยุทธศาตร์ 3+1 ถือเป็นการประกาศแผนการเติบโตที่มุ่งเน้นการสร้างความแข็งแกร่ง ในธุรกิจการบริการภาคธนาคารหลัก 3 ด้าน ควบคู่กับการสร้างการเติบโตผ่านธุรกิจใหม่ แบ่งเป็น
1.ยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการให้สินเชื่อ
เนื่องจากหนึ่งในธุรกิจหลักของธนาคาร คือ การให้สินเชื่อ เพื่อสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้หมุนเวียน โดยกลยุทธ์ที่สำคัญของกสิกรไทย จะเป็นการขยายพอร์ตสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ โดยเน้นไปยังกลุ่มลูกค้า 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
● การนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อไปยังกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการอื่นของธนาคารอยู่แล้วแต่ยังไม่เคยใช้บริการสินเชื่อมาก่อน เพื่อขยายพอร์ตสินเชื่อผ่านกลุ่มนี้
● ธนาคารจะมีการยกระดับการทำ CRM เพื่อการรักษากลุ่มลูกค้าที่มีสินเชื่อกับธนาคารในปัจจุบัน นำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่ไม่ใช่แค่เพียงการให้สินเชื่อ แต่ต้องทำงานคู่กับลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ลูกค้าของธนาคารเติบโตไปพร้อมกัน ลดปัญหา หนี้เสีย หรือ NPL ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
2.เพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม
นอกจากรายได้ด้านการปล่อยสินเชื่อ ธนาคารจะต้องเพิ่มโอกาส ไปยังแหล่งรายได้อื่นๆ ด้วย โดย กสิกรไทย จะเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนเป็นแบรนด์บริการด้านเวลธ์ที่ตอบโจทย์การลงทุนที่ครบวงจร ทั้งของธนาคาร บลจ.กสิกรไทย (KAsset) และพันธมิตร อาทิ การเสนอขายกองทุนรวม ประกัน และผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ เพื่อมุ่งสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนในระยะยาวและเหมาะสมกับความต้องการตลอดช่วงชีวิตของลูกค้า ผ่านช่องทางการนำเสนอและให้บริการอย่างครอบคลุม
นอกจากนี้ ธนาคารจะตอกย้ำความเป็นผู้นำในการให้บริการชำระเงินทางดิจิทัล ด้วยการยกระดับและเพิ่มนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะส่งมอบความปลอดภัย สะดวก และง่ายในทุกฟังก์ชันการใช้งานทั้งการชำระเงินในประเทศ ระหว่างประเทศ และในภูมิภาค รองรับทุกประเภทของการชำระเงินใน Ecosystem ของลูกค้า ทั้งการทำธุรกรรมผ่าน K PLUS ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด และการชำระเงินบนแพลต์ฟอร์มดิจิทัลชั้นนำที่ลูกค้าใช้ชีวิตและทำธุรกิจ
3.เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับช่องทางต่างๆ
เนื่องจากความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้นบทบาทของ “ธนาคาร” ที่ดีจะต้องตอบสนองตรงจุดนี้ให้ได้ โดยเฉพาะการเข้าถึงด้วยนโยบาย Digital First ของกสิกรไทย ที่จะช่วยให้การดูแลลูกค้าดียิ่งขึ้น ทำให้ K PLUS เป็น แอปพลิเคชันด้านการเงินที่ฮอตสุดที่มีฐานลูกค้าที่ในปี 2566 ใช้บริการกว่า 21.7 ล้านราย
ด้วยความนิยมดังกล่าวจึงทำให้ กสิกรไทย ประกาศเดินหน้าขยายการให้บริการของ K PLUS ร่วมกับแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันอื่นๆ ที่หลากหลาย ให้ครอบคลุมกับความต้องการของกลุ่มลูกค้า ผสมผสานกับการส่งมอบบริการผ่านบุคลากรของธนาคารที่จะเน้นในด้านการให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่เน้นการใช้บริการผ่านออนไลน์มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเข้มงวดเรื่อง “ความปลอดภัย” เป็นหัวใจสำคัญ โดย กสิกรไทย ต้องการที่จะเพิ่มผู้ใช้บริการ ผ่าน K PLUS ให้เติบโต 20-30% ภายในปี 2569
นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทย มี ยุทธศาสตร์ ‘+1’ เพื่อหาโอกาสสร้างรายได้ใหม่ในระยะกลางถึงระยะยาว ทั้งการหารายได้จากธุรกิจในต่างประเทศใน จีน อินโดนีเซีย และ เวียดนาม รวมถึงการลงทุนผ่านบริษัทลูก ทั้ง กสิกร อินเวสเจอร์ (KIV) และ KASIKORN X (KX) บริษัทเทคโนโลยีที่มีการลงทุนธุรกิจเงินร่วมลงทุน รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่เป็นมากกว่าบริการทางการเงินเพื่อตอบรับทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้า โดยคาดว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า จะมีสัดส่วนกำไรของธนาคารที่มาจากธุรกิจใหม่ประมาณ 5% ซึ่งตรงจุดนี้เองจะสามารถ ลดความผันผวนและสร้างโอกาสในการเติบโตให้กับธนาคาร “กสิกรไทย” เพิ่มขึ้น
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์ 3+1 ของกสิกรไทยถือเป็นเส้นทางหลักของธนาคารในการเดินหน้าสู่เป้าหมายการเติบโตในระยะต่อจากนี้ และจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะช่วยเติมเต็มภาพยุทธศาสตร์ให้ดียิ่งขึ้น คือ ตัวช่วยขับเคลื่อน (Enablers of K-Strategy) ที่จะทำให้ธนาคารสามารถเดินหน้าธุรกิจได้ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ซึ่งจะมี 3 ส่วนหลัก ได้แก่
1. เทคโนโลยีที่ทันสมัย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และเป็นเครื่องมือในการสร้างนวัตกรรมที่ยกระดับให้ธนาคารเป็นผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำในระดับภูมิภาค
2. ความสามารถในการวิเคราะห์และการใช้ข้อมูล เป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของธนาคาร
3. ทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพ ด้วยรูปแบบการทำงานที่เห็นผลลัพธ์ เป็นหัวใจสำคัญในการทำแผนงานทั้งหลายให้เกิดขึ้นจริงและวัดผลได้
โดยมีการวางเป้าหมายทางการเงินปี 2567 ได้แก่
● การเติบโตของเงินให้สินเชื่อ (Loan Growth) ที่จะทำให้พอร์ตขยาย 3-5% ตามสภาพเศรษฐกิจฟื้นตัว เสริมศักยภาพด้านเครดิตแบบ end-to-end ตั้งเป้าสินเชื่อบรรษัทธุรกิจเติบโต 2-4% สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีเติบโต 1-2% และสินเชื่อลูกค้าบุคคลเติบโต 1-2%
● เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (NPL Ratio-Gross) น้อยกว่า 3.25%
● Credit Cost คาดว่าจะอยู่ในช่วง 175-195 bps
● ผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net Interest Margin: NIM) อยู่ในระดับทรงตัวจากปีก่อน
● รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ (Net Fee Income Growth) เติบโตที่ Mid to high-single Digit
● ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to Income Ratio) คาดว่าจะอยู่ในระดับ Low to Mid-40s
นอกจากนี้ “ธนาคารกสิกรไทย” ยังมุ่งมั่นที่จะสร้างความยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ที่จะได้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้ง ลูกค้า ที่จะได้รับประโยชน์จากผลิตภัณฑ์และบริการทุกกลุ่มลูกค้าและธุรกิจ ผู้ถือหุ้น ก็จะได้รับผลตอบแทนอย่างเหมาะสมและยั่งยืนจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง
ขณะที่ พนักงานธนาคาร นับเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของธุรกิจ ที่จะมีการช่วยสนับสนุนการเรียนรู้และสร้างโอกาสแห่งการเติบโต รวมถึง หน่วยงานกำกับดูแล ที่ กสิกรไทย แน่วแน่ ในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ เพื่อพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบ “อนาคตทางการเงิน” ของประเทศไทย ที่จะทำให้ระบบการเงินมีเสถียรภาพ
และสำคัญที่สุด สังคม ที่จะมุ่งมั่งพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างการเติบโตของธนาคารควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศ
เพราะท้ายที่สุดแล้ว “ความสำเร็จ” ไม่อาจเกิดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียวได้ แต่ต้องเกิดจากการร่วมมือจากทุกภาคส่วน นั่นจึงทำให้การดำเนินการที่วางไว้บรรลุเป้าหมาย และนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนในที่สุด