บทสรุป “ดารุมะซูชิ” ปมขายคูปอง-แฟรนไชส์ ศาลยกฟ้อง ชี้แค่บริหารผิดพลาด ไม่เข้าเจตนา “ฉ้อโกง”

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

บทสรุป “ดารุมะซูชิ” ปมขายคูปอง-แฟรนไชส์ ศาลยกฟ้อง ชี้แค่บริหารผิดพลาด ไม่เข้าเจตนา “ฉ้อโกง”

Date Time: 15 ก.พ. 2567 16:09 น.

Video

ลายเส้นสะท้อนตัวตนเบียร์ “The Brewing Project“ | BrandStory Special EP x เมรัยไทยแลนด์

Summary

  • เปิดบทสรุป “ดารุมะซูชิ” หลังศาลพิพากษายกฟ้อง “บอลนี่” เจ้าของร้าน ปมขายคูปอง-แฟรนไชส์ ชี้ไม่ได้มีเจตนาฉ้อโกง แต่เป็นการบริหารที่ผิดพลาดเท่านั้น

Latest


อลม่านทางธุรกิจที่มีข้อครหาเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งนับถือเป็นข่าวใหญ่ในช่วงปีที่ผ่านมา คงไม่พ้นการขายคูปองเจ้าปัญหาของร้านอาหารญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ “ดารุมะซูชิ” ที่ลูกค้าซื้อคูปองจากราคาที่แสนถูกจากปกติ 499 บาท ลงมาเหลือราคา 199 บาท ทั้งซื้อเพื่อไปขายต่อและทานเอง 

แต่ปรากฏว่าในวันที่ 19 มิ.ย. 2565 ร้าน “ดารุมะซูชิ” กลับทิ้งผู้บริโภค และพ่อค้า-แม่ค้าคนกลางที่ซื้อคูปองไปขายต่อไว้ “กลางทาง” ปิดร้านไปแบบไม่บอกไม่กล่าว บินลัดฟ้าทิ้งไว้เพียงแต่ชื่อ จนเกิดความเสียหายมูลค่านับไม่ถ้วน 

ทั้งนี้ ดารุมะซูชิ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2559 ดำเนินธุรกิจการบริการด้านอาหารในภัตตาคาร ร้านอาหาร มี นายเมธา ชลิงสุข เป็นกรรมการบริษัท ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ปี 2564 บริษัทมีรายได้ 45.62 ล้านบาท และมีกำไร 1.26 ล้านบาท

โดย “ดารุมะซูชิ” แม้จะมีถึง 27 สาขา หลายสาขาเป็นการขายแฟรนไชส์ แต่รูปแบบการบริหารที่แท้จริง อยู่ภายใต้การดูแลของ นายเมธา ชลิงสุข หรือ บอลนี่ เจ้าของแต่เพียงผู้เดียว เพราะคนที่เข้ามาซื้อแฟรนไชส์มีหน้าที่แค่ลงเงิน 2-2.5 ล้านบาท และรอปันผลจากยอดขาย

โดยที่ บอลนี่ จะทำการบริหารจัดการทุกอย่าง ทั้งการจัดซื้อ การจ่ายเงินเดือนพนักงาน และการออกโปรโมชัน เมื่อเกิดเรื่องขึ้น เฟซบุ๊กเพจถูกปิด พนักงานของร้านก็ไม่สามารถติดต่อเจ้าของร้านได้ ต่อมาจึงพบว่ามีการติดเงินผู้ส่งวัตถุดิบร่วม 30 ล้านบาท จนยกเลิกการส่งสินค้าให้ เป็นที่มาของการปิดร้านนั่นเอง ทำให้ทั้งผู้ถือคูปอง เจ้าของร้านแฟรนไชส์ที่ลงเงินไป บวกกับเจ้าของร้านวัตถุดิบ ต่างได้รับความเสียหายหลักล้านบาท จึงได้มีการเข้าแจ้งความและร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

ศาลอาญาตัดสินยกฟ้อง "เจ้าของดารุมะ"

กระทั่งล่าสุด ศาลอาญาตัดสินยกฟ้อง “บอลนี่” เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่น “ดารุมะซูชิ” ปมขายคูปอง-แฟรนไชส์ เสียหายหลายร้อยล้าน ชี้เป็นการบริหารที่ผิดพลาด ไม่เข้าเจตนาทุจริตหลอกลวง

โดยอัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 18 พ.ค. 64 - 18 มิ.ย. 65 ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงประกาศขายอาหารบุฟเฟต์ญี่ปุ่น โปรโมชันต่างๆ รวมทั้งจำหน่ายคูปองใบละ 199 บาท, 250 บาท, 299 บาท และ 399 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน Daruma sushi โดยโอนเงินผ่านบัญชีบริษัทจำเลยที่ 1 แต่ความจริงแล้วพวกจำเลยมิได้มีเจตนาตั้งแต่ต้นที่จะประกอบกิจการร้านอาหารญี่ปุ่นดังกล่าว เป็นกลอุบายให้หลอกลวง จนมีผู้เสียหาย 988 ราย หลงเชื่อซื้อคูปอง เป็นความผิด 988 กรรม

นอกจากนี้ จำเลยยังหลอกลวงประกาศขายแฟรนไชส์ให้ผู้สนใจร่วมลงทุนราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาท ถึง 2.5 ล้านบาทต่อสาขา โดยมีผู้เสียหาย 11ราย หลงเชื่อชื้อแฟรนไชส์จากจำเลย เป็นความผิด 11 กรรม

คำฟ้องระบุอีกว่า เมื่อระหว่างวันที่ 18 พ.ค. 64 - 18 มิ.ย. 65 ยังร่วมกันฟอกเงินโดยรับโอนเงินที่ได้จากการกระทำผิดจำนวน 150.7 ล้านบาทเศษ เข้าบัญชีธนาคารตนเองเพื่อปกปิด หรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงซึ่งการได้มาแล้วโอนเข้าบัญชีธนาคารอื่นหลายครั้งหลายหน โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิด และร่วมกันคืนเงิน หรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายแต่ละรายตามความเสียหายรวม 42.3 ล้านบาทเศษด้วย

เป็นการบริหารงานผิดพลาด มิได้มีเจตนาจะทุจริต

วันนี้ทนายจำเลยที่ 1 และเบิกตัวจำเลยที่ 2 จากเรือนจำมาฟังคำพิพากษา ศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์ โจทก์ร่วม จำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 2 ได้ร่วมกันเปิดร้านอาหาร จำหน่ายอาหารญี่ปุ่นแบบบุฟเฟต์ โดยมีการขายคูปองอาหารตามโปรโมชัน ตามเพจเฟซบุ๊ก และแอปฯ ร่วมทั้งเปิดขายแฟรนไชส์ ให้ผู้สนใจร่วมลงทุน โดยที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้บริหาร แล้วจะแบ่งผลกำไรให้ตามที่ตกลงไว้ ขณะเกิดเหตุมีร้านอาหารทั้งหมด 27 สาขา 

ต่อมาวันที่ 16 มิ.ย.65 ทางร้านได้ประกาศปิดปรับปรุงกิจการชั่วคราว เนื่องจากขาดสภาพคล่อง ทำให้ผู้ที่ซื้อคูปองไม่สามารถมาใช้บริการที่ร้านอาหาร ได้รับความเสียหายจำนานมาก
ต้องวินิจฉัยประการแรกว่าจำเลยทั้ง 2 มีเจตนาทุจริตฉ้อโกงผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่าจำเลยทั้ง 2 ได้เปิดร้านอาหารมาตั้งแต่ พ.ศ. 2559 และมีผู้บริโภคสนใจจำนวนมาก ทำให้สามารถขยายกิจการได้อีกหลายสาขา และมีการขายคูปองทำโปรโมชัน ผู้ที่ใช้บริการก็ยังนำคูปองมาใช้บริการได้ตามปกติ

จนกระทั่งเกิดการบริหารงานและการคาดการณ์ที่ผิดพลาดของจำเลยที่ 2 ประกอบกับเกิดเหตุสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาปลาแซลมอนซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก ราคาสูงขึ้น จนทำให้จำเลยที่ 2 ขาดสภาพคล่องไม่สามารถชำระค่าปลาแซลมอน เลยบริหารกิจการต่อไปไม่ได้ แม้การตั้งราคาโปรโมชัน 199 บาท จะต่ำกว่าราคาทุนของราคาปลาแซลมอนที่ขายกิโลกรัมละ 300 บาท แต่เห็นว่าเป็นการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อแข่งขันทางตลาด ดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการจำนวนมาก

อีกทั้งการขายแฟรนไชส์ให้คนที่ร่วมลงทุน เป็นการตกลงทำสัญญาแบ่งผลกำไรให้ตามสัดส่วน แล้วทางจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้บริหารจัดการ ซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่ได้บังคับซื้อขาย เป็นความพอใจระหว่างกัน ทั้งนี้จำเลยที่ 2 ก็มิได้กีดกันหากผู้ซื้อแฟรนไชส์จะเข้ามาร่วมบริหารงาน และในทุกๆวันจะมีระบบส่งอีเมล์แจ้งรายละเอียดเรื่องรายรับรายจ่ายแต่ละวันให้ทราบ

ทุกร้าน ทุกสาขา จะมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดให้สามารถดูออนไลน์ได้ตลอดเวลา ไม่ได้ปิดบังข้อมูล ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยทั้ง 2 เจตนาจะหลอกลวงเป็นการบริหารงานผิดพลาด มิได้มีเจตนาจะทุจริต เหตุที่เกิดจึงเป็นการผิดสัญญาเป็นความผิดทางเเพ่ง

ปัญหาประการต่อมาว่าจำเลยทั้ง 2 ร่วมกันฟอกเงินหรือไม่ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า จำเลยที่ 2 ได้มีการโอนเงินบางส่วนให้กับมารดาบุญธรรมเป็นประจำทุกเดือน รวมทั้งโอนเงินเข้าบัญชีชื่อเพื่อนสนิท แต่เป็นการชำระหนี้ที่กู้ยืมมา

นอกจากนี้มีการโอนเงินไป บริษัทแห่งหนึ่งแลกเปลี่ยนเงินบาทไทยเป็นเงินสกุลดอลลาร์ ก็เพียงเพื่อไว้ใช้ระหว่างอยู่ต่างประเทศเท่านั้น ด้วยเหตุข้างต้นจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 2 มีความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน พยานหลักฐานโจทก์และผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ร่วมนำสืบมานั้น ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยทั้ง 2 กระทำผิดตามฟ้อง

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้

ติดตามข้อมูลหุ้นกู้ และ เงินฝากธนาคาร กับ ThairathMoney ได้ที่ 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ