เจาะเทรนด์ผู้บริโภค 2024 แบ่งคนรวย-จน ไม่ซื้อแบรนด์พรีเมียม ก็ช็อปของถูกไปเลย

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เจาะเทรนด์ผู้บริโภค 2024 แบ่งคนรวย-จน ไม่ซื้อแบรนด์พรีเมียม ก็ช็อปของถูกไปเลย

Date Time: 13 ก.พ. 2567 14:37 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • ไม่ใช่แค่การเมือง! การใช้จ่ายก็ไม่มี “ตรงกลาง” เทรนด์ผู้บริโภค 2024 แบ่งคนรวย-จน ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แนวโน้มเลือกสินค้า ไม่ซื้อแบรนด์พรีเมียม ก็ช็อปของถูกไปเลย ขณะ TikTok มาแรง คอมมูนิตี้ใหญ่ที่ทรงพลังของผู้ซื้อ และผู้ขาย

Latest


ดูเหมือนวงการค้าปลีกไทยปีนี้ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะนอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่แนวโน้มหดตัว ส่งผลต่อ “กำลังซื้อแล้ว” อินไซต์ผู้บริโภคปี 2567 ก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงด้วย โดยภาพใหญ่คาดกันว่า กลุ่มสินค้ารักษ์โลก หรือแบรนด์ที่แสดงตัวตนว่า แคร์โลก-แคร์สังคม จะได้รับความนิยมเข้มข้นขึ้น จากการที่คนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพราะกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

อีกทั้งพบผู้บริโภคยังแสวงหาแบรนด์ที่ไม่เพียงแต่มีความหลากหลายในผลิตภัณฑ์ ข้อเสนอ และการโฆษณา แต่ยังต้องส่งเสริมค่านิยมที่ไม่แบ่งแยกผู้คนอย่างแท้จริงด้วย 

เจาะอีกความเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามองเกี่ยวกับเทรนด์ผู้บริโภคปีนี้ ยังพบว่า มุมมอง ความรู้สึกนึกคิดของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก และยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องด้วย 

ข้อมูลจาก BCG (เบญจจินดา) บริษัทด้านโทรคมนาคม และดิจิทัลเทคโนโลยี ระบุว่า ปีนี้เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนขึ้นในตลาดค้าปลีกจากตัวเร่งปฏิกิริยาของวิกฤตการณ์โควิด และดิจิทัลเทคโนโลยี ที่ทำให้พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าเปลี่ยนรูปแบบไปตลอดกาล

เนื่องจากผู้บริโภคมีทั้งความลังเล, หวาดกลัว และแวดล้อมไปด้วยข้อมูลมหาศาล นอกจากนี้ยังถูกบีบด้วยโครงสร้างความเหลื่อมล้ำของ “คนรวย-คนจน” ที่การเลือกจับจ่ายใช้สอยต้องเลือกขั้วใดขั้วหนึ่งแบบสุดขั้ว ไม่มีตรงกลาง ทั้งการเมือง และการจับจ่าย 

กล่าวคือ จะมีแต่แบรนด์พรีเมียม (High Perceived Value) และแบรนด์ที่เน้นราคาถูก (Value For Money) คุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับแบรนด์คู่แข่งในท้องตลาด ขณะที่ตลาด Segment กลางจะไม่ค่อยมีแล้ว 

“พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค ไม่ซื้อแบรนด์พรีเมียมไปเลย ก็ซื้อสินค้าราคาถูก” 

ทั้งยังซ้ำเติมด้วยความกังวลว่าควรเชื่อข้อมูลอะไร ไม่เชื่ออะไร (Fake News) จนบางครั้งเกิดอาการเหนื่อยล้าจากการใช้งานโซเชียลมีเดีย และอยากถอนตัวออกมา หรือเรียกว่า “Zero Online Presence” จึงต้องหา safe zone โดยหันไปแทรกตัวตนใน “COMMUNITY” หรือ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่ง COMMUNITY ดังกล่าวได้กลายเป็นส่วนสำคัญ และมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการใช้ชีวิต การจับจ่ายใช้สอยของคนยุคนี้ 

นอกจากนี้ยังพบว่า TikTok ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่สมบูรณ์ และทรงพลัง เนื่องจากปัจจุบัน TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่มีความครบวงจรทั้ง 3 ด้าน คือ Social, Content Discovery, E-commerce ซึ่งยอดผู้ใช้งาน TikTok ในไทยอยู่ที่กว่า 40 ล้านคน 

ใกล้เคียงกับ Facebook สิ่งที่ทำให้คนไทย แบรนด์ และผู้ประกอบการ SME นิยมใช้ TikTok มากขึ้น เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์ม Content Discovery ได้พบเจอคอนเทนต์ใหม่ๆ และโดดเด่นด้าน Live Commerce สามารถปิดการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นด้วยความที่เป็นแพลตฟอร์มที่ครบวงจรทั้ง Content และ Commerce ทำให้คู่แข่งของ TikTok มีทั้ง Social Platform อย่าง Meta และ E-Marketplace อย่าง Shopee และ LAZADA

ขณะข้อมูลจาก สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ชี้ว่า เทคโนโลยี Big Data และขั้นตอนการเรียนรู้ของ Machine Learning ที่ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ การทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคลจะยังคงมีบทบาทสำคัญกับบริษัททั้งขนาดใหญ่ และเล็ก สำหรับการทำการตลาดในปี 2567 ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างผลกำไร 

เพราะลูกค้าในยุคปัจจุบันคาดหวังประสบการณ์ที่ปรับให้เหมาะกับตนเอง ด้วยปริมาณข้อมูลที่มากมายจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ หรือแม้กระทั่งร้านค้าปลีก แบรนด์สามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้โดยใช้การวิเคราะห์ที่ซับซ้อน ทำให้เกิดกลยุทธ์การตลาดแบบเฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น โดยที่คอนเทนต์ ผลิตภัณฑ์ ข้อเสนอ และการสื่อสาร จะถูกปรับให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละรายมากยิ่งขึ้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์