“ซีรีส์ต้องแปลกใหม่” คุยกับ “สถาพร” แม่ทัพ GMMTV ในวันที่คอนเทนต์ต้องไม่เหมือนเดิม จึงจะอยู่รอด

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

“ซีรีส์ต้องแปลกใหม่” คุยกับ “สถาพร” แม่ทัพ GMMTV ในวันที่คอนเทนต์ต้องไม่เหมือนเดิม จึงจะอยู่รอด

Date Time: 10 ก.พ. 2567 09:25 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • คอนเทนต์จะทำแบบเดิมๆ คงจะไม่ได้อีกต่อไป ในวันที่ผู้ชม มีความชอบเปลี่ยนไปจากเดิม "ผู้ผลิต" จึงต้องแสวงหาคอนเทนต์ใหม่ๆ มานำเสนอ ชวนคุยกับ "สถาพร พานิชรักษาพงศ์" แม่ทัพ GMMTV ที่เสิร์ฟซีรีส์น้ำดี จนสามารถครองใจได้ทั้งชาวไทย และต่างชาติ

Latest


การก้าวผ่านจากยุคแอนาล็อกสู่ยุคดิจิทัล ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเชื่อมต่อถึงกันได้ผ่านอินเทอร์เน็ต และนั่นเองก็ทำให้ระบบการแพร่ภาพกระจายเสียง มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนที่ระบบสัญญาณทีวีไทยจะดูได้เพียงแค่ 3, 5, 7, 9 และ 11 เท่านั้น แต่ในยุคนี้โลกของโซเชียลมาแรง ทำให้ช่องทางออนไลน์กลายเป็นที่นิยม และคอนเทนต์ก็ไม่ได้จำกัดเหมือนก่อน แต่เสิร์ฟความเหนือชั้น เริ่มมีความเฉพาะกลุ่มมากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการเปิดกว้างทางความคิด 

ไมว่าจะเป็นกระแสนิยมซีรีส์วาย (Series Y) ที่โด่งดังแบบสุดๆ อย่าง SOTUS The Series, Theory of Love ทฤษฎีจีบเธอ, และแฟนผมเป็นประธานนักเรียน ฯลฯ  ที่ถือเป็นเวทีแจ้งเกิดของเหล่าศิลปินวัยรุ่น ทำให้มีแฟนคลับมากมายทั้งมัมหมีชาวไทย และต่างชาติ จนเกิดกระแส “ซีรีส์วายไทย” ไปโด่งดังและสร้างชื่อเสียงไกลถึงต่างประเทศ

หนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้คงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกซะจาก “สถาพร พานิชรักษาพงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม ทีวี จำกัด โดย สถาพร เปิดเผยกับ #Thairath money ว่า กลุ่มเป้าหมายของ GMMTV เป็นคนรุ่นใหม่ที่ดูคอนเทนต์ผ่านสื่อที่ไม่ใช่ TV แบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเลต ฉะนั้นการสร้างคอนเทนต์ อีเวนต์ แฟนมีต ในสไตล์ของ “GMMTV” จึงจะเป็นในลักษณะ “ฟีลกู๊ด” ความรู้สึกที่ดูแล้วมีความสุข เพราะฉะนั้นหากซีรีส์ดังก็จะมีงานต่างๆ ตามมา ซึ่งจะทำให้นักแสดงดังตามไปด้วย 

“เรามีฐานแฟนคลับทั้งไทยและต่างชาติจำนวนมาก โดย Inter fans ส่วนใหญ่จะมาจากประเทศจีน อินโดนีเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และอินเดีย ส่วนตลาดใหม่ก็จะมียุโรป และละตินอเมริกา แล้วแต่คู่ แล้วแต่งาน อย่างเช่น ออฟ-กัน หรือ คริส-สิงโต ซึ่งส่วนใหญ่จะติดตามจาก youtube, X, IG เป็นหลัก แต่ก็จะมี Facebook บ้าง ทำให้เรารู้ฟีดแบ็กจากเดิมต้องรอเรตติ้ง” 

ทั้งนี้ กลุ่มแฟนคลับส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นที่อายุระหว่าง 18-24 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก แต่ปัจจุบัน GMMTV ได้มีการขยายฐานคนดูเป็นช่วงอายุ 24-35 ขึ้นไปจนถึง 60 ปีด้วยเช่นกัน

อีเวนต์-คอนเสิร์ต ล้นโลก

ขณะเดียวกัน หากดูจากตัวเลขของการเติบโตของงานที่เป็นการต่อยอดจากคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นแฟนมีต คอนเสิร์ตของ GMMTV พบว่าเติบโตขึ้น 100% จากปี 2565 อานิสงส์หลักๆ มาจากการเปิดประเทศ รวมทั้งสถานการณ์โควิดดีขึ้น คอนเทนต์ออกอากาศได้ 100% ทำให้การถ่ายทำเป็นไปได้อย่างราบรื่น จึงกลายเป็นว่าตอนนี้ อีเวนต์-คนเสิร์ตล้นโลก ซึ่งในปี 66 ที่ผ่านมา GMMTV มีคอนเสิร์ตในประเทศเกือบทุกเดือน ส่วนในต่างประเทศ GMMTV มีคอนเสิร์ตทุกสัปดาห์ 

ตลาดซีรีส์วายไทย สมรภูมิน่านน้ำสีเลือด “เริ่มก่อน-ทำหลากหลายกว่าได้เปรียบ” 

ทั้งนี้สิ่งที่ทำให้ GMMTV กลายเป็นที่รู้จักของบรรดาแฟนคลับทั่วโลกเห็นจะเป็น “ซีรีส์วาย” ที่นำเสนอเป็นเรื่องราวของชายชาย ทั้งในเรื่องของความรักและความสัมพันธ์ หรือที่ใครหลายคนเรียกกันว่าแนว Boys'love นั่นเอง ส่วนเสน่ห์ที่ทำให้ GMMTV มัดใจฐานแฟนคลับมาได้จนถึงทุกวันนี้ นั่นก็เพราะว่า GMMTV เข้าไปทำตลาดก่อน และใช้เวลาไม่น่าจะต่ำกว่า 7-8 ปี กับการเป็นผู้บุกเบิกเรื่องซีรีส์วายอย่างจริงจัง ทำให้ปัจจุบันมีคู่จิ้นไม่ต่ำกว่า 10 คู่ สามารถสร้างฐานแฟนคลับได้จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ตลาดซีรีส์วายของไทย ถือเป็น น่านน้ำสีเลือด เพราะแต่ละช่องมีการแข่งขันสูงมาก รวมทั้งหลายชาติก็มีการทำซีรีส์แนวนี้ ดังนั้น ซีรีส์วายที่ GMMTV เลือกทำ สถาพร จึงเน้นเรื่องคุณภาพ พยายามมีซีรีส์ที่ดีที่สุด ให้คนชอบที่สุด ให้ความสำคัญกับคุณภาพทั้งเรื่องราว การผลิต ซึ่งจะเป็นสิ่งที่วัดกันในระยะยาว โดยซีรีส์วายในไทยมีปริมาณเยอะที่สุดและถือว่าเป็นอันดับ 1 ของโลก ส่วนต่างประเทศก็จะมีญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม ไต้หวัน 

ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ชื่นชอบซีรีส์วาย มักจะมีกำลังซื้อสูง เพราะคนดูเป็นกลุ่มเป้าหมายคือ วัยรุ่น คนทำงานที่มีกำลังซื้อ นั่นจึงทำให้จากเดิมที่ “ลูกค้า” ไม่กล้าที่จะเข้ามาลงโฆษณา กลับกลายเป็นว่าต่างโหมเม็ดเงินโฆษณาเข้ามาในตลาดนี้จำนวนมาก

“เราทำซีรีส์วัยรุ่น เพราะเรารู้ว่าเราไปทำละครแข่งกับ 3, 5, 7, 9 ไม่ได้ เราจึงต้องวางตัวเองให้เป็นซีรีส์ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น ที่หลากหลายแปลกใหม่ เพราะวัยรุ่นเปลี่ยนเทรนด์เร็วมาก จึงไม่เหมือนชายหญิงเรื่องอื่นๆ เราจึงอยากจะทำให้พอร์ตมีความแปลกใหม่ ทั้งนำมาจากนิยาย ซื้อซีรีส์มารีเมก ออริจินัล รวมทั้งมังงะ และการร่วมทุน” 

เพราะด้วยสมัยก่อนมีซีรีส์เพียง 5-6 เรื่องต่อปี แต่ปัจจุบันมีถึง 20 เรื่องต่อปี ซีรีส์วายจึงถือเป็นหนึ่งในความแปลกใหม่ของ GMMTV นั่นเอง ดังนั้นเมื่อทำแล้วมันคลิก ซีรีส์วายจึงกลายเป็นที่พูดถึงกันอย่างหนาหู ทั้งในแง่ของเทรนด์ และโซเชียลปัจจุบันแบรนด์ต่างๆ จึงหันมาเล่นกับเรื่องนี้มากขึ้น

“เวลาสร้างซีรีส์วายเรื่องนึงมีเรตติ้งยากมาก มีเม็ดเงินโฆษณามาจากสินค้าเป็นหลัก ส่วนใหญ่ไม่ได้กำไร อย่างเก่งก็พอเลี้ยงตัวได้ แต่สิ่งที่มาหลังจากนั้นคือ เสน่ห์และวัฒนธรรมคือ อีเวนต์ในประเทศ ต่างประเทศ และเมอร์ชันไดส์ เพราะคนกลุ่มนี้มีเอนเกจเมนต์ ดังนั้นหากจะเอ่ยว่าซีรีส์วายเป็น ซอฟต์พาวเวอร์ ที่นำเงินเข้าประเทศไทย ก็คงจะไม่ผิดเพี้ยนเลยทีเดียว” 

ด้วยเหตุนี้เอง GMMTV จึงมีรายได้หลักๆ มาจาก ลิขสิทธิ์คอนเทนต์, โฆษณาโดยรวมทั้งหมด เมอร์ชันไดส์ และการเป็น Artist management ให้กับศิลปิน และคอนเสิร์ตแฟนมีต โดยทั้งหมดมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน ดังนั้นในปี 67 GMMTV จึงวางเป้าหมายหลักๆ คือ ส่งซีรีส์ลงจอกว่า 20 เรื่อง, ผลิตเพลง, ภาพยนตร์ และอีเวนต์คอนเสิร์ต เพิ่มมากขึ้น” สถาพร กล่าวทิ้งท้าย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ