สหวิริยาสตีล รุกเต็มสูบ

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สหวิริยาสตีล รุกเต็มสูบ

Date Time: 26 ธ.ค. 2566 05:36 น.

Summary

  • ยืนหยัดในอุตสาหกรรมเหล็กประเทศไทยมา 33 ปีแล้วสำหรับบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ “เอสเอสไอ” (SSI) อันเป็นบริษัทในเครือสหวิริยา มีโรงงานตั้งอยู่ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์

Latest

เปิดอินไซต์ คนไทย #ติดแกลม เมื่อคนต่างเจน มองคำว่า "หรูหรา" ไม่เหมือนกัน ?

ยืนหยัดในอุตสาหกรรมเหล็กประเทศไทยมา 33 ปีแล้วสำหรับบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ “เอสเอสไอ” (SSI) อันเป็นบริษัทในเครือสหวิริยา มีโรงงานตั้งอยู่ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ก่อตั้งโดยสองพี่น้อง คือ คุณหญิงประภา วิริยประไพกิจ–นายวิทย์ วิริยประไพกิจ ตำนานบุคคลวงการเหล็กของไทย

นับเป็นบริษัทเหล็กไทยที่สร้างความภาคภูมิใจหลายประการ โดยได้รับรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม (The Prime Minister Best Industry Award) ตั้งแต่ปี 2546 และรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น (The Prime Minister’s Industry Award) อีกมากมาย

ปัจจุบัน เอสเอสไอ มีนายวิน วิริยประไพกิจ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม (Group CEO)

เมื่อปี 2554 เอสเอสไอได้เป็นข่าวใหญ่ในวงการเหล็กโลก โดยลงทุนซื้อโรงถลุงเหล็กและผลิตเหล็กกล้าครบวงจรที่อังกฤษ แล้วจัดตั้งเป็น บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี ยูเค หรือ “เอสเอสไอ ยูเค” (SSI UK) และได้ดำเนินธุรกิจผลิตเหล็กแท่งแบน (Slab) ที่อังกฤษ เป็นปริมาณกว่า 5 ล้านตัน

แต่กลับต้องปิดดำเนินการเมื่อปลายปี 2558 เนื่องจากตลาดเหล็กโลกปั่นป่วนและราคาเหล็กตกต่ำรุนแรงจากการส่งออกสินค้าเหล็กจากจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 110 ล้านตัน ในปี 2558

เอสเอสไอ ซึ่งรับภาระหนี้ต่างๆ จากกรณี เอสเอสไอ ยูเค จึงต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยศาลได้มีคำสั่งเมื่อปี 2559 ให้ฟื้นฟูกิจการและแต่งตั้งเอสเอสไอเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการและเป็นผู้บริหารแผน ซึ่งเนื่องมาจากการสนับสนุนและความเชื่อมั่นของเจ้าหนี้ ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียส่วนใหญ่ ต่อนายวิน วิริยประไพกิจ และคณะกรรมการบริษัทของ เอสเอสไอ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภายใต้ช่วงฟื้นฟูกิจการ แม้ต้องเจอภาวะการณ์ยากลำบากต่างๆสำหรับอุตสาหกรรมเหล็ก ได้แก่ การชะงักงันทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ปัญหาการขนส่งสินค้าทางเรือ ผลกระทบด้านวัตถุดิบจากสงครามยูเครน–รัสเซีย

แต่เอสเอสไอยังดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างต่อเนื่องบรรลุผลสำเร็จตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการได้ครบทุกข้อนั่นคือ

1.ชำระหนี้เงินต้นคงค้างให้แก่เจ้าหนี้ทุกรายตามแผนฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งสิ้นจำนวน 11,269 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.16 ของภาระหนี้เงินต้นรวมที่ต้องชำระ

2.ชำระหนี้เงินต้นคงค้างจากกระแสเงินสดส่วนเกิน รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,563 ล้านบาท

3.ชำระหนี้ตามแผนของแผนฟื้นฟูกิจการโดยไม่ผิดนัดชำระหนี้ติดต่อกันไม่น้อยกว่าระยะเวลา 34 เดือน นับจากวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ

และ 4.ผู้บริหารแผนและบรรดาเจ้าหนี้ที่มีจำนวนหนี้รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนหนี้คงค้างของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการมีความเห็นร่วมกันว่า เอสเอสไอมีศักยภาพและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้หลังจากออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการ

เอสเอสไอได้ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ และศาลได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2566 ให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการจากการบริหารสำเร็จตามแผน ทั้งนี้ เอสเอสไอยังมีหนี้คงเหลือที่ต้องดำเนินการชำระต่อไปตามข้อตกลงกับเจ้าหนี้

ท่ามกลางกระแสการแข่งขันที่รุนแรงจนเป็นวิกฤติอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทย หลายบริษัทเหล็กของคนไทยถูกซื้อกิจการกลายเป็นบริษัทเหล็กของต่างชาติไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และมีบางบริษัทที่ต้องปิดกิจการลง แต่เอสเอสไอ ภายใต้การนำของนายวิน วิริยประไพกิจ ยังเป็นหนึ่งบริษัทเหล็กของคนไทยที่ยืนหยัดมาได้ แม้ต้องเผชิญความท้าทายมากเพียงใดก็ตาม โดยสามารถผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนคุณภาพสูงป้อนอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล ก่อสร้าง ตลอดจนส่งออกจนมีผลผลิตสะสมมากเกินกว่า 40 ล้านตันแล้ว อีกทั้งยังมีการพัฒนาด้านต่างๆอย่างต่อเนื่อง

จนเป็นบริษัทเหล็กแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรอง ได้แก่ มาตรฐานระบบการจัดการนวัตกรรม ISO 56002, มาตรฐานระบบบริหารการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Research, Technology Development management System : RDIMS) จาก สวทช., องค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก (Climate Action Leading Organization : CALO) ระดับ Bronze

และล่าสุดได้รับรางวัลรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น (The Prime Minister’s Industry Award) ปี 2566 ประเภทการเพิ่มผลผลิต (Productivity) และประเภทการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน

อย่างไรก็ตาม เอสเอสไอและนายวิน วิริยประไพกิจ ยังเดินหน้าสู้ต่อกับโจทย์ความท้าทายใหม่ ทั้ง 1.การพัฒนากระบวนการผลิต และผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามทิศทางโลกคาร์บอนต่ำ

และ 2. การแข่งขันกับเหล็กจากจีนที่กำลังหลบเลี่ยงอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) อัตรา 30.91% โดยเจือสารอัลลอยในเหล็กแผ่นรีดร้อนเพื่อเปลี่ยนพิกัดศุลกากรเข้ามาทุ่มตลาดประเทศไทย ปริมาณมากเกือบ 5 แสนตัน ในปี 2566 นี้ และอากร AD

ที่ประเทศไทยสูญเสียจากการหลบเลี่ยงนี้มีมูลค่าราว 3,500 ล้านบาทต่อปี!!!

เจริญสุข ลิมป์บรรจงกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ "THE ISSUES" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ